พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รองผบ.ตร.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานจราจร (ผอ.ศจร.ตร.) แถลงเตรียมความพร้อมสำหรับการอำนวยความสะดวกประชาชนในการเดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 65 โดยจะใช้กำลังเจ้าหน้าที่กว่า 80,000 นาย พร้อมกำหนดนโยบายด้านการจราจร โดยมีจุดเน้น ดังนี้
1. การอำนวยความสะดวกและจัดการจราจร ซึ่งคาดการณ์ว่าปีนี้จะมีปริมาณรถเข้า-ออก กทม. ในช่วงวันที่ 11-17 เม.ย.65 เป็นจำนวนมากกว่า 6.7 ล้านคัน (ซึ่งมากกว่าสงกรานต์ 2564 ที่มีจำนวนประมาณ 6.4 ล้าน) โดยคาดว่าประชาชนจะเริ่มเดินทางตั้งแต่ 8 เม.ย.65 และปริมาณรถที่จะออกมากที่สุด ในวันที่ 12 และ 13 เม.ย.65 ปริมาณรถที่จะกลับเข้า กทม. มากที่สุดในวันที่ 16 และ 17 เม.ย.65
พร้อมทั้งให้ทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อม ตั้งแต่การจัดทำแผนที่แสดงเส้นทางสำรอง เส้นทางเลี่ยง และเส้นทางลัด ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้คืนพื้นผิวจราจรให้เสร็จสิ้นภายใน 8 เม.ย.65 จัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจอำนวยการจราจรในแต่ละเส้นทาง บริเวณทางร่วมทางแยก และหน้าสถานีบริการน้ำมันหรือจุดแวะพักรถ โดยมีศูนย์ควบคุมสั่งการที่กองบังคับการตำรวจทางหลวง มีสายด่วน 1193 หรือเพจเฟซบุ๊กตำรวจทางหลวง และศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร (บก.02) สายด่วนหมายเลข 1197 (พื้นที่ กทม.) เพื่อให้บริการประชาชนในการสอบถามเส้นทาง รับแจ้งอุบัติเหตุ
2. ออกข้อบังคับหัวหน้าเจ้าพนักงานจราจรทั่วราชอาณาจักร เพื่ออำนวยความสะดวกการจราจร 2 ฉบับ
2.1 ข้อบังคับฯ ว่าด้วยการกำหนดช่องทางพิเศษ (Reversible Lane) ขาออก กทม. 9 เส้นทาง 10 จังหวัด ระยะ 217 กม. ระหว่าง 8–14 เม.ย.65 และขาเข้า กทม. 9 เส้นทาง 13 จังหวัด ระยะทาง 228 กม. ระหว่าง 14–19 เม.ย.65 เพื่อใช้เป็นช่องทางพิเศษ เพื่อระบายรถช่วงที่หนาแน่นให้คล่องตัว
2.2 ข้อบังคับฯ ว่าด้วยการกำหนดห้ามรถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไป เดินรถในถนนบางสาย ตั้งแต่ 12–13 เม.ย.65 และตั้งแต่ 16-18 เม.ย.65 เส้นทางห้ามวิ่ง 7 เส้นทาง ระยะทางรวม 194 กม. ทั้งนี้สำหรับรถบรรทุกที่มีความจำเป็นต้องเดินรถในช่วงเวลาดังกล่าว สามารถยื่นคำขอขออนุญาตผ่านระบบออนไลน์ของ บก.ทล. ได้ที่ www.hwpdth.com โดยเริ่มเปิดระบบขออนุญาตทางออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.65 เป็นต้นไป
3. การบังคับใช้กฎหมายเพื่อลดอุบัติเหตุทางถนน บังคับใช้กฎหมายจราจร 10 ข้อหาหลัก ดำเนินคดีอย่างจริงจังกับผู้ที่ขับรถในขณะเมาสุรา ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด รวมทั้งกำหนดมาตรการบังคับใช้กฎหมายกับการขับขี่รถจักรยานยนต์ที่มีลักษณะก่อให้เกิดอันตรายกับผู้ใช้รถใช้ถนน ได้แก่ 1.ขับรถย้อนศร 2.ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร 3.ขับรถจักรยานยนต์บนทางเท้า 4.ขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว 5.ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น และการกระทำผิดเกี่ยวกับเครื่องหมายทางม้าลาย โดยในการตรวจจับการกระทำผิด จะใช้วิธีการตั้งจุดตรวจกวดขันวินัยจราจร จุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ตามมาตรฐาน (Standard Operation Procedure) รวมถึงการใช้ชุดสายตรวจจราจรออกตรวจในพื้นที่เสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุหรือมีสถิติการกระทำผิดบ่อยครั้ง ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย.65 เป็นต้นไป
กรณีเกิดอุบัติเหตุ ตำรวจจะตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่ทุกราย กรณีเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงการสอบสวนขยายผล ในกรณี ที่เด็กหรือเยาวชนดื่มสุราแล้วมาขับรถ เพื่อดำเนินคดีกับผู้ขายสุรา ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ และดำเนินคดีกับบุคคลที่ชักจูง ส่งเสริม หรือยินยอม ให้เด็กประพฤติตนไม่สมควรฯ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ และบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 อย่างเข้มงวด (การห้ามจำหน่ายสุราในเวลาห้าม และห้ามดื่ม-ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ ในสถานที่กฎหมายกำหนด และห้ามขายให้บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี)
4. เพิ่มมาตรการเพื่อป้องกันก่อนเกิดเหตุ ทุกสถานีตำรวจ จัดทำฐานข้อมูลบัญชีกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ ได้แก่ บัญชีบุคคลเสี่ยง บัญชีร้านค้าเสี่ยง บัญชีกิจกรรมเสี่ยง เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการเข้าไปประชาสัมพันธ์ ป้องปรามหรือตักเตือนก่อนทำผิด
5. มาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุในทางม้าลาย ตร. ได้สำรวจข้อมูลเส้นทางข้าม ทั่วประเทศ ร่วมกับหน่วยงานเจ้าของถนนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อกำหนดแผนการปรับปรุงซ่อมแซม โดยผลการสำรวจ มีเส้นทางข้ามภาพรวมทั้งประเทศ มีจำนวน 10,254 จุด (มีสัญญาณไฟจราจร 1,262 จุด มีกล้อง CCTV 1,881 จุด) จะจัดทำเส้นทางข้ามเพิ่มเติม 328 จุด ยกเลิก/ปรับย้าย 25 จุด กำหนดแผนการปรับปรุงซ่อมแซมเส้นทางข้าม จำนวนทั้งสิ้น 2,853 จุด (จัดทำแล้วเสร็จ 1,048 จุด คงเหลือ 1,805 จุด) บังคับใช้กฎหมาย ข้อหาที่เกี่ยวกับทางข้าม การฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจร “เส้นทางข้าม”, ไม่ข้ามถนนตรงทางข้าม, จอดรถในทางข้าม และขับรถโดยใช้ความเร็วบริเวณเส้นทางข้ามเกินกฎหมายกำหนด ตั้งแต่เดือน ก.พ.65 จนถึงปัจจุบัน มีผลการจับกุมทั้ง 4 ข้อหา รวมจำนวน 3,739 ราย
6.ห้องพักฟรีทั่วไทย จากใจตำรวจทางหลวง มีหน่วยบริการ 201 หน่วยทั่วประเทศโดยให้บริการจองห้องพักของหน่วยบริการตำรวจทางหลวง ผ่านระบบออนไลน์ที่ www.booking.hwpdth.com มีห้องพักผ่อนฟรี สำหรับให้ประชาชนแวะพักเหนื่อย พร้อมบริการเครื่องดื่มและขนมทานเล่น ห้องน้ำสะอาดซึ่งทุกหน่วยบริการมีมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ที่ได้มาตรฐาน
7.โครงการอาสาตาจราจรในช่วงสงกรานต์ ตร. มูลนิธิเมาไม่ขับ และบริษัทวิริยะประกันภัย ได้จัดทำแคมเปญ “7 วัน 7 คลิป 7 หมื่น” ซึ่งเป็นกิจกรรมในโครงการ “อาสาตาจราจร” โดยการรณรงค์ให้ประชาชนส่งคลิปกล้องหน้ารถ หรือคลิปจากกล้องโทรศัพท์มือถือในช่วง 7 วันควบคุมเข้มข้นของเทศกาลสงกรานต์ 65 (ตั้งแต่ 11–17 เม.ย.65) ที่บันทึกเหตุการณ์การกระทำผิดกฎจราจรสำคัญที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อบุคคลอื่น หรือบันทึกอุบัติเหตุสำคัญและสามารถใช้เป็นพยานหลักฐานในทางคดีของตำรวจได้ ซึ่งจะคัดเลือกจากคลิปที่ประชาชนส่งมาจำนวน 7 คลิป และมอบรางวัลให้คลิปละ 10,000 บาท รวมเป็นเงิน 70,000 บาท ซึ่ง ตร.จะจัดงานมอบรางวัลพร้อมเกียรติบัตรให้เจ้าของคลิปที่ได้รับคัดเลือกต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 มี.ค. 65)
Tags: จราจร, ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ