นายสุวพงศ์ กิติภัทย์พิบูลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า จ.สุรินทร์ มีฐานความพร้อมในการเป็นจังหวัดนำร่องที่จะก้าวเข้าสู่การให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น เพราะประชาชนในจังหวัดมีความร่วมมือในการป้องกันตนเอง ครอบครัว และสังคมไม่ให้เชื้อโควิดแพร่ออกไป
ทั้งนี้ การที่ จ.สุรินทร์ พร้อมที่จะเป็นจังหวัดนำร่องให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น จะต้องมีการดำเนินการใน 3 เรื่องที่เป็นหลักเกณฑ์ด้านสาธารณสุข คือ
1. ปัจจัยเรื่องเชื้อโรค
– อัตราครองเตียงของผู้ป่วยหนัก จะต้องไม่เกิน 3% ของผู้ป่วยติดเชื้อทั้งหมด
– อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยติดเชื้อ จะต้องไม่เกิน 0.5%
ซึ่งข้อมูลผู้ป่วยหนัก ใน จ.สุรินทร์ ในปัจจุบันแทบจะไม่มีเลย
2. ปัจจัยเรื่องของคน
– ประชาชนทั่วไป ต้องฉีดวัคซีนเข้าที่ 1 และเข็มที่ 2 ไม่น้อยกว่า 70% ของจำนวนประชาชน ซึ่ง จ.สุรินทร์ มีการฉีดวัคซีนไปแล้ว ในเข็มแรก 67.35% ส่วนเข็มสอง 61.11% ซึ่งเพิ่มขึ้นพอสมควรในแต่ละสัปดาห์
โดย จ.สุรินทร์ ได้ประสานไปยังสาธารณสุข และทุกอำเภอ เพื่อให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ รพ.สต. ทุกแห่งช่วยกันรณรงค์ให้ประชาชนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 สามารถ walk in ไปฉีดวัคซีนได้เลย รวมทั้งให้ รพ.สต. และหน่วยงานสาธารณสุข จัดบุคลากรเข้าไปให้บริการฉีดวัคซีนในพื้นที่ได้
3. ปัจจัยเรื่องสิ่งแวดล้อม
– ทุกหมู่บ้านต้องมีชุดตรวจ ATK ไม่น้อยกว่า 10% ของประชากรในหมู่บ้าน เพื่อคัดกรองผู้ที่สงสัยว่าจะติดเชื้อ รวมทั้งจัดสถานที่พักพิง
– จำนวนอุปกรณ์ เครื่องมือทางการแพทย์ และเตียงสำหรับผู้ป่วยยังมีเพียงพอ
– รักษามาตรฐาน “หมู่บ้านสีฟ้า” ไว้ได้ 100% ซึ่งทุกหมู่บ้านมีการปลูกพืชสมุนไพรเพื่อดูแลสุขภาพ ประชาชนสวมหน้ากากอนามัย 100% และดำเนินการตามมาตรการ D-M-H-T-T กัน 100% นอกจากนี้ สถานบริการ ส่วนราชการ ร้านค้าและทุกภาคส่วนจะต้องมีมาตรการ และปฏิบัติตามมาตรการ Covid Free Setting อย่างเคร่งครัด
“ต้องพยายามสร้างการรับรู้ และทุกหน่วยงานต้องสร้างการรับรู้ให้บุคลากร และให้ประชาชนเข้ามาร่วมมือกันเพื่อปฏิบัติตัวตามมาตรการต่างๆ ซึ่งจะทำให้เราก้าวไปสู่การเป็นจังหวัดนำร่อง ที่จะประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ขอให้ประชาชนร่วมมือกัน เพื่อทำให้ จ.สุรินทร์ เป็นจังหวัดแรกในประเทศไทย” ผู้ว่าฯ จ.สุรินทร์ ระบุ
เมื่อถามว่าให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นแล้ว จะได้อะไรนั้น นายสุวพงศ์ กล่าวว่า 1.จะได้ใช้ชีวิตความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายขึ้น หลักเกณฑ์กติกาต่างๆ ทางด้านสาธารณสุขจะลดลง 2.สามารถเปิดด่านชายแดน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาคของระหว่างประเทศไทย 3.การหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ เมื่อเราเริ่มต้นก่อน การท่องเที่ยวต่างๆ และการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจจะก้าวเข้ามาที่สุรินทร์เป็นจังหวัดแรก ช่วยทำให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ดีขึ้น ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่สะดวกสบายขึ้น นำมาซึ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 มี.ค. 65)
Tags: COVID-19, สุรินทร์, สุวพงศ์ กิติภัทย์พิบูลย์, โควิด-19