นายสมชาย เลิศขจรกิตติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เพรสซิเด้นท์ ออโตโมบิล อินดัสทรีส์ (PACO) เปิดเผยว่า ในปี 65 นี้ PACO คาดว่ารายได้รวมจะเติบโตต่อเนื่องประมาณ 20-25% โดยมาจากการเติบโตของธุรกิจหลัก REM ที่ขยายทั้งตลาดต่างประเทศที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องเนื่องจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว และจากตลาดในประเทศที่ จำนวนสาขา PACO Auto Hub เพิ่มขึ้นเป็น 300 สาขา และ มีกลุ่มสินค้าใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ หม้อน้ำรถยนต์ คอมเพรสเซอร์แอร์รถยนต์ อะไหล่ช่วงล่างรถยนต์ ออยล์คูลเลอร์ ไดชาร์จ และไดสตาร์ท เป็นต้น รวมไปถึงขยายไลน์แอร์รถยนต์ในกลุ่มรถหรู (Luxury Cars)
ขณะเดียวกัน รายได้จากธุรกิจใหม่ OEM จะเริ่มเข้ามาเป็นปีแรก หลังจากเพิ่งได้รับงานเมื่อปลายปีที่ผ่านมา และจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยในปีหน้า กอรปกับตลาดรถยนต์ไทยและตลาดส่งออกหลักของบริษัท คือประเทศในกลุ่มตะวันออกกลางมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจากราคาน้ำมันในตลาดโลก ที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง จึงมั่นใจว่าปีนี้ผลการดำเนินงานของบริษัทจะเติบโตได้ตามเป้าหมาย
ทั้งนี้ บริษัทเชื่อมั่นว่าจะได้รับประโยชน์จากนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของรัฐบาลที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็น 1 ในศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV Hub) ของเอเชีย เนื่องจาก PACO เป็นผู้รับจ้างผลิตชิ้นส่วนแอร์รถยนต์ (OEM Manufacturer) ที่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยี และมีประสบการณ์ในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า คือ Battery cooler และ ชิ้นส่วนแอร์รถยนต์สำหรับรถไฟฟ้า (EV) แบบ BEV (Battery EV) และ PHEV (Plug-in Hybrid) ในรูปแบบอะไหล่ทดแทน (REM) เพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ
PACO ประสบความสำเร็จในการเข้าสู่ธุรกิจ OEM หรือ รับจ้างผลิตชิ้นส่วนแอร์รถยนต์ให้ผู้ผลิตรถยนต์ โดยได้เซ็นสัญญากับลูกค้าใหญ่รายแรกคือ ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่มุ่งเน้นรถยนต์ไฟฟ้า EV และ Plug-in Hybrid (PHEV) ซึ่งเป็นเทรนด์ใหม่ของโลกที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นๆอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง PACO ได้รับออเดอร์มูลค่าถึง 1,200 ล้านบาท ทำให้มีรายได้ที่มั่นคงรองรับกว่า 5 ปีสำหรับธุรกิจ OEM และ รองรับรายได้ 10 ปีสำหรับธุรกิจรับจ้างผลิตอะไหล่ (OES)
ยิ่งกว่านั้น บริษัทได้รับการติดต่อจากผู้ผลิตหลายแห่งเพื่อนำเสนองานรับจ้างผลิตชิ้นส่วนแอร์รถยนต์และชิ้นส่วนอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้บริษัทมองเห็นศักยภาพการเติบโตของธุรกิจ OEM ที่ชัดเจน มีโอกาสเติบโตสูง เนื่องจากอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวอีกครั้งจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงนโยบายรัฐบาลสนับสนุนให้ค่ายรถยนต์ประกอบรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจำนวนมาก อีกทั้งการทยอยเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ จำนวนมากของค่ายรถยนต์เข้าสู่ตลาด และ PACO มีไลน์การผลิต อุปกรณ์เครื่องจักรมาตรฐานสากล พร้อมผลิตสินค้าให้ลูกค้าได้ทันทีโดยไม่ต้องลงทุนเพิ่ม อีกทั้งมีคู่แข่งน้อยรายในธุรกิจ จึงเชื่อมั่นว่า PACO มีโอกาสรับงานรับจ้างผลิต OEM ได้อีกจำนวนมาก
PACO เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ทดแทนของไทยรายแรกที่ ได้ผลิต แบตเตอรี่คูลเลอร์ สำหรับ Tesla ซึ่งเป็น แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าอันดับ 1 ของโลก สำหรับรุ่น Tesla Model X และ Tesla 3 ตลอดจน รถยนต์ Plug-in Hybrid แบรนด์ BMW Series 3 และ Series 5 รุ่นปัจจุบัน (G20 และ G30) ซึ่งได้รับความนิยมสูงทั่วโลก
โดย PACO เริ่มเปิดตลาดแบตเตอรี่คูลเลอร์ ทั้งตลาดส่งออกและตลาดในประเทศ จากการที่ภาครัฐได้เตรียมออกมาตรการกระตุ้นตลาดรถยนต์ไฟฟ้า เชื่อว่าจะเข้ามาช่วยหนุนให้อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยกลับมาดีขึ้น รวมถึงหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คลี่คลายลง จะช่วยส่งผลให้อุตสาหกรรมยานยนต์กลับมาฟื้นตัวทั่วโลก บริษัทยังคงที่จะมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับความต้องการของตลาดรถยนต์ของไทยและต่างประเทศ
สำหรับผลประกอบการประจำปี 64 เติบโตขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งบริษัทมีรายได้รวม 696.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น จากรายได้รวม 667 ล้านบาทในปีก่อน และมีกำไรสุทธิ เพิ่มขึ้นถึง 40 % เป็น 108 ล้านบาท โดยรายได้และกำไรสุทธิเติบโตดีขึ้นตามอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยที่กลับมาขยายตัวอีกครั้ง และการฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวเร็ว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 มี.ค. 65)
Tags: PACO, สมชาย เลิศขจรกิตติ, หุ้นไทย, เพรสซิเด้นท์ ออโตโมบิล อินดัสทรีส์