SCBEIC คาดส่งออก-นำเข้าไทยปี 65 โตกว่าคาด จากปัจจัยด้านราคาเป็นหลัก

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า การส่งออกของไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 65 ยังไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซียและยูเครน โดยการส่งออกยังขยายตัวได้ 16.2% เป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 และเร่งตัวขึ้น 8% จากเดือนมกราคม 65 สอดคล้องกับมูลค่าการส่งออกของประเทศสำคัญหลายประเทศทั่วโลก และดัชนีชี้นำกิจกรรมการผลิตทั่วโลกที่กลับมาเร่งตัวได้อีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ หลังชะลอตัวลงจากผลกระทบของโอมิครอนในเดือนมกราคม

ในขณะที่การนำเข้าสินค้าขยายตัว 16.8% ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว 20.5% โดยถึงแม้ว่าดุลการค้าในเดือนนี้จะเกินดุล 123.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เมื่อรวมกับข้อมูลในเดือนมกราคมจะยังคงขาดดุลที่ -2,403.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลาดส่งออกที่มีการขยายตัวมากที่สุดเป็น 5 ลำดับแรก ได้แก่ รัสเซีย (33.4%), อาเซียน 5 (31.5%), ฮ่องกง (29.8%), เกาหลีใต้ (28.9%) และสหรัฐฯ (27.2%)

EIC คาดว่าการส่งออกและนำเข้าของไทยในปี 65 จะขยายตัวได้มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ในช่วงก่อนหน้า แต่จะเป็นผลจากปัจจัยทางด้านราคามากกว่าปริมาณ ซึ่งจะแตกต่างจากสถานการณ์ในช่วงปี 64 ที่เป็นผลจากการขยายตัวด้านปริมาณเป็นหลักตามการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

“ในปีนี้ ปริมาณการส่งออกไทย มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง จากผลของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่อาจทำให้อุปสงค์โลกชะลอตัว โดยเฉพาะในตลาดยุโรป อีกทั้งยังได้รับผลกระทบผ่านระดับราคาโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะสินค้าพลังงานและวัตถุดิบการผลิตที่สำคัญหลายชนิด ตามมาตรการคว่ำบาตรต่าง ๆ ต่อรัสเซีย และความเสี่ยงต่อการชะงักงันด้านอุปทานที่เพิ่มขึ้น”

บทวิเคราะห์ระบุ

ขณะที่การขยายตัวด้านราคาสินค้าส่งออกในปีนี้ จะเป็นผลจากระดับราคาสินค้าและโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะสินค้าพลังงาน จากผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน เนื่องจากรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกโภคภัณฑ์ที่สำคัญหลายชนิด เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ โลหะอุตสาหกรรม และวัตถุดิบทางการเกษตร ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าและราคาส่งออกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากในปีนี้ โดยถึงแม้เศรษฐกิจโลกในปี 2565 มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งจะส่งผลต่อการชะลอตัวของอุปสงค์โลก รวมถึงการชะงักงันด้านอุปทานและมาตรการคว่ำบาตรต่าง ๆ ต่อรัสเซียที่อาจเริ่มเห็นถึงผลกระทบในช่วงเดือนมีนาคมหรือเมษายน แต่ปัจจัยด้านราคาที่สูงขึ้น ยังเป็นปัจจัยหนุนที่สำคัญของการขยายตัวของการส่งออกไทยในระยะข้างหน้า

นอกจากนี้ ปีนี้มีปัจจัยบวกที่หนุนการส่งออกของไทยเพิ่มเติม คือความคืบหน้าในด้านการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบีย โดยล่าสุดคณะกรรมการอาหารและยาของซาอุดีอาระเบียได้อนุญาตให้นำเข้าไก่จาก 11 โรงงานของไทยได้ โดยไทยจะเริ่มต้นส่งออกไก่ให้กับซาอุดีอาระเบียในต้นเดือนเมษายน 2565 นอกจากนี้ ไทยยังมีโอกาสในการเจาะตลาดสินค้ากลุ่มอาหาร ยานยนต์และชิ้นส่วน และสินค้าอุปโภคและบริโภคต่าง ๆ ในซาอุดีอาระเบียในระยะต่อไป

รวมทั้งการทำสนธิสัญญาการค้าระหว่างไทย และรัฐ หรือเมืองต่าง ๆ ในอินเดีย จีน เกาหลี และญี่ปุ่น รวมถึงการทยอยเปิดการค้าชายแดนกับเพื่อนบ้านในอาเซียน ก็จะเป็นปัจจัยหนุนการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปีเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ EIC จะปรับประมาณการการส่งออกของไทย และตัวเลขประมาณการทางเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ และเผยแพร่ใน EIC Outlook ในปลายเดือนมีนาคมนี้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 มี.ค. 65)

Tags: , , ,
Back to Top