นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐานฮาลาล ว่า ที่ประชุมมีมติให้จัดตั้งคณะทำงานฮาลาลไทยแลนด์ (Thailand Halal Taskforce) เพื่อเร่งรัดการขยายความร่วมมือด้านการลงทุนและการค้าสินค้าเกษตร และอาหารมาตรฐานฮาลาลที่มีมูลค่าตลาดกว่า 30 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนขยายผลตามข้อสั่งการของ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ที่ประสบความสำเร็จในการเจรจาขยายความร่วมมือกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และดูไบ ทั้งภาครัฐและเอกชนในการเปิดศักราชหน้าใหม่ของความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าการลงทุนระหว่างกัน
“เป็นโอกาสที่ดีสำหรับประเทศไทย ซึ่งมีศักยภาพการผลิตและส่งออกอาหารอันดับ 13 ของโลก จะต้องเร่งเจาะตลาดประชากรมุสลิม 2 พันล้านคน รวมทั้งการร่วมลงทุนด้านอุตสาหกรรมกษตร และอาหารฮาลาล ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ”
นายอลงกรณ์ กล่าว
คณะทำงานชุดนี้จะเดินหน้าขยายความร่วมมือในทุกมิติทางเศรษฐกิจ รวมทั้งเร่งดำเนินการโครงการการลงทุนเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรฮาลาลใน 5 จังหวัดภาคใต้ คือ ยะลา นราธิวาส ปัตตานี สตูล และสงขลา ที่ได้วางงานไว้ก่อนหน้านี้ภายใต้กรอบระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลภาคใต้ โดยจะเริ่มจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์ และเกษตรพลังงาน โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินการจนซาอุดิอาระเบียยกเลิกการห้ามนำเข้าไก่แปรรูปจากไทย และรัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีสามารถฟื้นฟูความสัมพันธ์กับซาอุดิอาระเบียกลับสู่ภาวะปกติได้สำเร็จ
วันนี้ประเทศไทยมีความร่วมมืออย่างดียิ่งเรื่องมาตรฐานฮาลาลกับกลุ่มประเทศอาหรับ (OAC) กลุ่มประเทศรอบอ่าวเปอร์เซีย(GCC) กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง กลุ่มประเทศอาเซียน กลุ่มประเทศเอเชียกลาง และกลุ่มประเทศแอฟริกา โดยคณะทำงานชุดนี้ประกอบไปด้วย ภาคเอกชน คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย สถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย ศูนย์ AIC สถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันอาหาร สมาคมการค้านักธุรกิจไทยมุสลิม สมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สสปน. โดยภาครัฐมีกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์เป็นแกนนำ ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงอุตสาหกรรม โดยทำงานภายใต้ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต ทำได้ไวทำได้จริงของ รมว.เกษตรฯ และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ และแผนปฏิบัติการฮาลาล (Thailand Halal Blueprint) ซึ่งได้วางโครงการแผนงานและคำของบประมาณสนับสนุนไปก่อนหน้านี้แล้ว และเนื่องจากเป็นวาระเร่งด่วนจึงจำเป็นที่จะต้องขอการสนับสนุนจากงบกลางหรืองบเหลือจ่ายของงบประมาณ ประจำปี 2565 เพื่อขับเคลื่อนงานได้รวดเร็วขึ้น
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า จากการวิจัยตลาดฮาลาลมีรายงานว่าในปี 2563 ตลาดอาหารและเครื่องดื่มฮาลาลทั่วโลก มีมูลค่า 1,533,280 ล้านดอลลาร์ (48 ล้านล้านบาท) และประเมินว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2,285,190 ล้านดอลลาร์ (ราว 71 ล้านล้านบาท) ในปี 2569 มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 20% คิดเป็นมูลค่าเพิ่มปีละ 560 พันล้านดอลลาร์ (16.8 ล้านล้านบาท) ซึ่งเป็นตลาดใหม่ที่จะสามารถเพิ่มการส่งออกสร้างงานสร้างอาชีพใหม่ๆ สำหรับเกษตรกรและผู้ประกอบการของไทยในยุคโควิด-19
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบภารกิจในการเดินทางไปเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ของ รมว.เกษตรฯ ใน 5 ประเด็นสำคัญ คือ 1) AIPH คัดเลือกประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก ปี พ.ศ.2569 2) การเจรจาขยายความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนสินค้าเกษตรและอาหาร และระบบรับรองมาตรฐานฮาลาล ทั้งนี้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ผลิตอาหารได้เพียง 20% ต้องนำเข้า 80% และสนใจที่จะร่วมลงทุนกับประเทศไทยในด้านการเกษตร 3) การตรวจเยี่ยมงานแสดงนิทรรศการระดับโลกของประเทศไทยแสดงศักยภาพด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลในมิติต่างๆ รวมถึงสินค้าเกษตรและอาหารของไทยในงาน World Expo 2020 Dubai 4) เยี่ยมชม Museum of the Future พิพิธภัณฑ์แห่งอนาคต ที่สื่อให้ประชาชนทั่วโลกได้ทราบถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอีก 50 ปีข้างหน้า และ 5) ความร่วมมือด้านโลจิสติกส์กับบริษัท DP World ของรัฐดูไบ และการส่งเสริมการค้ามาตรฐานฮาลาลกับศูนย์ส่งเสริมการค้าและการตลาดฮาลาลของ UAE และดูไบ
พร้อมทั้งรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินการล่าสุดของคณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 4 คณะ คือ
1) คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์และนโยบายการส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐานฮาลาล ประเด็นความคืบหน้าของแผนปฏิบัติการฮาลาล (Thailand Halal Blueprint)
2) คณะอนุกรรมการส่งเสริมการค้าสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐานฮาลาล ได้กำหนดแผนการดำเนินงานในปี 2565 มุ่งเน้นส่งเสริมสินค้าจากประเทศไทยสู่ตลาดจีน และประเทศในแถบเอเชียกลาง ในงาน China International Import Expo (CIIE) และ งาน SIAL China
3) คณะอนุกรรมการส่งเสริมการผลิตและการลงทุนเกี่ยวกับสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐานฮาลาล รายงานความก้าวหน้าของการขับเคลื่อนโครงการต้นน้ำ และปลายน้ำ ของโครงการต้นแบบเกษตรฯ อุตสาหกรรมฮาลาลในจังหวัดชายแดนภาคใต้ Halal Sustainable Economy และ โครงการพัฒนาอาหารปลอดภัย KU Safe Market
4) คณะอนุกรรมการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมการค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐานฮาลาลในพื้นที่ชายแดนใต้ เตรียมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยแนวทางการส่งเสริมเกษตรฐานรากเชื่อมโยงอุตสาหกรรมไก่แบบครบวงจรกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเดือน มี.ค.นี้
ที่ประชุมยังรับทราบรายงานสถานการณ์แก้ไขปัญหาเนื้อวัวปลอมปนเนื้อสุกร ซึ่งได้กำหนด 5 มาตรการเร่งด่วน ได้แก่ มาตรการสื่อสารเตือนภัยผู้บริโภค มาตรการป้องปรามผู้ค้า มาตรการปราบปรามผู้กระทำผิด มาตรการส่งเสริมมาตรฐานฮาลาล และมาตรการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) จากโรงฆ่าสัตว์ถึงผู้บริโภค นอกจากนี้ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะให้บริการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างฟรีโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งจากการตรวจสอบในปีงบประมาณครั้งล่าสุด มีการเก็บตัวอย่างไปแล้ว 70 ตัวอย่าง ซึ่งยังไม่พบเนื้อสุกรปลอมปนเนื้อวัว อย่างไรก็ตาม กรมปศุสัตว์ยังคงเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ได้มอบหมายให้สำนักการเกษตรต่างประเทศ สรุปผลการเจรจาหารือขยายความร่วมมือด้านการส่งเสริมการค้าและการลงทุนสินค้าเกษตรและอาหารในคราวเดินทางไปเยือน UAE และดูไบ พร้อมทั้งมอบฝ่ายเลขานุการฯ ให้รวบรวมสรุปข้อมูลระบบรับรองมาตรฐานฮาลาลที่มีในแต่ละประเทศ รวมถึงประเทศไทยได้รับการรับรองมาตรฐานฮาลาลจากประเทศใดบ้าง และนำเสนอต่อที่ประชุมในครั้งต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 มี.ค. 65)
Tags: กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, สินค้าเกษตร, อลงกรณ์ พลบุตร, ฮาลาล