นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน พร้อมด้วยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน พร้อมด้วยนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สำนักงานเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์
ทั้งนี้ หากสถานการณ์ยังยืดเยื้อจะทำให้การค้าขายเกิดความไม่สมดุล มีการปรับราคาสูงขึ้น เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นได้ จะกลายเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต แต่วันนี้รัฐบาลคาดคะเนต้องรอดูอีก 3 เดือน (พ.ค.-ก.ค.) รัฐบาลจึงออกมาตรการระยะสั้น เพื่อประคับประคองประชาชนแต่ละกลุ่ม โดยยังรักษาเสถียรภาพทางการเงินไว้ ซึ่งเสถียรภาพเรายังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี
นายกุลิศ กล่าวว่า มาตรการเพื่อช่วยเหลือและลดผลกระทบต่อประชาชนในช่วงสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนในด้านพลังงาน จะใช้งบประมาณรวม 43,602-45,102 ล้านบาท ซึ่งหากรวมงบประมาณที่ภาครัฐช่วยเหลือด้านพลังงานตั้งแต่เหตุการณ์โควิดปี 63-ปัจจุบันรวมกว่า 2-2.1 แสนล้านบาท แบ่งเป็น
1.การตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร ในเดือนเม.ย. จากนั้นในเดือนพ.ค.และมิ.ย. รัฐจะช่วยส่วนที่ราคาเพิ่มขึ้นครึ่งหนึ่ง โดยวงเงินที่คาดว่าต้องใช้ เม.ย. 1,800 ล้านบาท พ.ค. 8,340 ล้านบาท มิ.ย. 8,000 ล้านบาท
2.ช่วยผู้ใช้ก๊าซหุงต้ม เป็นเวลา 3 เดือน โดยกำหนดราคาในเดือนเม.ย. 333 บาท/ 15 กก. พ.ค. 348 บาท และ มิ.ย. 363 บาท โดยวงเงินที่คาดว่าต้องใช้ เม.ย. 2,400 ล้านบาท พ.ค. 2,130 ล้านบาท มิ.ย. 1,850 ล้านบาท
3.ช่วยเหลือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ประมาณ 3.6 ล้านคน ในการเพิ่มส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้มอีก 55 บาท/ 3 เดือน รวมเป็น 100 บาท/ 3 เดือน วงเงินที่คาดว่าต้องใช้ 200 ล้านบาท
4.ช่วยผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ประมาณการผู้ใช้ 5,500 คนต่อเดือน โดยช่วยส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้ม เดือนละ 100 บาท เป็นเวลา 3 เดือน วงเงินที่คาดว่าต้องใช้ 1.65 ล้านบาท
5.ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง 1.57 แสนคน ได้รับส่วนลดค่าน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 5 บาท/ลิตร จำนวน 50 ลิตร เป็นเวลา 3 เดือน วงเงินที่คาดว่าต้องใช้ 120 ล้านบาท
6.คงราคาขายปลีก NGV ที่ 15.59 บาท/กก. เป็นเวลา 3 เดือน และมาตรการช่วยเหลือผู้ขับรถแท็กซี่ที่อยู่ในโครงการลมหายใจเดียวกัน ได้ซื้อก๊าซในราคา 13.62 บาท/กก.ในวงเงิน 10,000 บาท/เดือน เป็นเวลา 3 เดือน วงเงินที่คาดว่าต้องใช้รวม 1,761 ล้านบาท
7.ครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 300 หน่วย จำนวน 20 ล้านหลังคาเรือน ได้รับส่วนลดค่า ft เป็นเวลา 4 เดือน วงเงินที่คาดว่าต้องใช้ 2,000-3,500 ล้านบาท
นายพรชัย กล่าวว่า สำหรับวงเงินและแหล่งเงินจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เป็นองค์กรของรัฐ ที่ใช้ในการดำเนินมาตรการประมาณ 8 หมื่นล้านบาท มีดังนี้
1) กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (เงินกู้) ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ 30 บาท/ ลิตร ทยอยขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม วงเงิน 39,520 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 50%
2) กองทุนประกันสังคม (เงินสมทบ) นายจ้างและผู้ประกันตนในมาตรา 33 และผู้ประกันตนในมาตรา 39 และ 40 วงเงิน 35,224 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 43%
3) สำนักงบประมาณ (งบกลาง) ครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้ากว่า 300 หน่วย ผู้ใช้ก๊าซหุงต้มที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง วงเงิน 3,740 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 5%
4) บมจ. ปตท. (PTT) ผู้ขับรถแท็กซี่ที่อยู่ในโครงการลมหายใจเดียวกัน คงราคาขายปลีก NGV ที่ 15.59 บาท/กก. ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ วงเงิน 1,763 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2%
ด้านนายอาคม ยืนยันว่า ฐานะการคลังของรัฐบาลในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 65 (ต.ค.64-ก.พ.65) รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 901,414 ล้านบาท ในขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณทั้งสิ้น 1,429,194 ล้านบาท โดยรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 394,465 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง สิ้นเดือนก.พ.65 มีจำนวน 418,588 ล้านบาท ซึ่งแม้เงินคงคลังจะลดไปบ้าง แต่อยู่ในระดับที่มีความมั่นคงและเสถียรภาพเพียงพอ
สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนม.ค.อยู่ที่ 3.23% และก.พ.อยู่ที่ 5.28% ในช่วง 2 เดือนแรกปี 65 ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาพลังงาน แต่ยังมีมาตรการช่วยเหลือของรัฐทำให้อัตราเงินเฟ้อไม่ปรับตัวสูงขึ้นรวดเร็วมากนัก
ทุนสำรองระหว่างประเทศช่วง 2 เดือนแรกปี 65 ยังอยู่ในระดับสูง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนทางเศรษฐกิจโลกได้
ด้านเสถียรภาพทางการคลัง สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี เดือนม.ค. 65 อยู่ที่ 59.9% ซึ่งยังคงอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ และต่ำกว่ากรอบวินัยการเงินการคลังที่กำหนดไว้ 70%
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 มี.ค. 65)
Tags: กระทรวงพลังงาน, ค่าครองชีพ, สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์, เงินเฟ้อ, เศรษฐกิจไทย