ก.ล.ต.กล่าวโทษ “มด คันหุ้น-คันหุ้น-เทรดหุ้นโชว์” ปล่อยข่าวเท็จปั่นราคาหุ้น

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต. กล่าวโทษบุคคลผู้ใช้นามแฝงชื่อ “มด คันหุ้น” รวมถึงบุคคลที่เผยแพร่ข้อความผ่านแอปพลิเคชัน LINE OpenChat ได้แก่ กลุ่ม “คันหุ้น” และกลุ่ม “เทรดหุ้นโชว์” กรณีเผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับบริษัทจดทะเบียน โดยอาจทำให้มีผลกระทบต่อราคาหลักทรัพย์หรือต่อการตัดสินใจลงทุนในหลักทรัพย์

ทั้งนี้ พบการเผยแพร่ข้อความในช่วงปี 62 และปี 64 ของบุคคลผู้ใช้นามแฝงข้างต้นที่เกี่ยวกับบริษัทจดทะเบียน เช่น การผิดนัดชำระหนี้จำนวนหลายหมื่นล้านบาท การคำเสนอซื้อกิจการ การร่วมทุน การจดทะเบียนโดยอ้อม (Backdoor listing) และ การขายหุ้นของกิจการทั้งหมด โดยเกี่ยวข้องกับบริษัทจดทะเบียน รวม 12 แห่ง ได้แก่

บล.เออีซี (ACE) ปัจจุบันชื่อ บล.บียอนด์ (BYD), บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM), บมจ.ซีเอ็มโอ (CMO), บมจ.ฟลอยด์ (FLOYD), บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF), บล.เกียรตินาคินภัทร (KKP) ปัจจุบันไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ, บมจ.คัมเวล คอร์ปอเรชั่น (KUMWEL), บมจ.แพนเอเซียฟุตแวร์ (PAF), บมจ.ภัทรลิสซิ่ง (PL), บมจ.สยามอีสต์ โซลูชั่น (SE), บมจ.ไทยอุตสาหกรรมพลาสติก (1994) (TPLAS), บมจ.อิ๊กดราซิล กรุ๊ป (YGG) ซึ่งเป็นข้อความเท็จและบริษัทจดทะเบียนหลายแห่งได้ออกมาปฏิเสธข้อความดังกล่าวอย่างชัดแจ้ง

การกระทำของบุคคลที่ใช้นามแฝง “มด คันหุ้น” รวมถึงกลุ่ม “คันหุ้น” และกลุ่ม “เทรดหุ้นโชว์” เข้าข่ายเป็นการบอกกล่าว หรือเผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จหรือข้อความอันอาจก่อให้เกิดความสำคัญผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับฐานะทางการเงิน ผลการดำเนินงาน ราคาซื้อขายหลักทรัพย์ หรือข้อมูลอื่นใดที่เกี่ยวกับบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ ในลักษณะที่น่าจะทำให้มีผลกระทบต่อราคาหลักทรัพย์หรือต่อการตัดสินใจลงทุนในหลักทรัพย์ ซึ่งเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 240 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535

ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษบุคคลที่ใช้นามแฝง “มด คันหุ้น” รวมถึงบุคคลที่น่าเชื่อว่าเป็นบุคคลเดียวกันหรือเกี่ยวข้องกันตามที่กล่าวข้างต้น ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวน การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลพินิจของศาลยุติธรรม ตามลำดับ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 มี.ค. 65)

Tags: ,
Back to Top