ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือนม.ค.ในวันนี้ระบุว่า กรรมการ BOJ มีความเห็นตรงกันว่า อัตราเงินเฟ้อที่เกิดจากราคาผู้บริโภคนั้น อาจจะพุ่งขึ้นแตะระดับสูงกว่าที่ BOJ คาดการณ์ไว้ หากบริษัทเอกชนผลักภาระต้นทุนที่สูงขึ้นไปให้กับผู้บริโภค
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า รายงานการประชุมระบุว่า กรรมการหลายคนของ BOJ ให้คำมั่นว่าจะจับตาความเคลื่อนไหวของค่าจ้างอย่างใกล้ชิด เนื่องจากตัวเลขค่าจ้างถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของต้นทุนด้านการบริการ และเป็นตัวกำหนดว่าภาคครัวเรือนจะได้รับผลกระทบจากราคาที่เพิ่มขึ้นมากเพียงใด
ในการประชุมเมื่อวันที่ 17-18 ม.ค.ที่ผ่านมานั้น คณะกรรมการ BOJ มีมติคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ (Ultraloose Monetary Policy) ซึ่งรวมถึงการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% และคงเป้าหมายอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีไว้ที่ประมาณ 0% โดยมีวัตถุประสงค์ในการทำให้ต้นทุนการกู้ยืมอยู่ในระดับต่ำ เพื่อช่วยเหลือบริษัทเอกชนและภาคครัวเรือน
ในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจซึ่งเปิดเผยหลังเสร็จสิ้นการประชุมในวันดังกล่าว BOJ ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อประจำปีงบประมาณ 2565 ขึ้นสู่ระดับ 1.1% จากเดิมที่ระดับ 0.9% เนื่องจากราคาพลังงานและวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่เงินเยนอ่อนค่าลง
ด้านนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการ BOJ ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมว่า เขาไม่คิดว่า BOJ มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินในปัจจุบันหรือหารือเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากเชื่อว่า การพุ่งขึ้นของอัตราเงินเฟ้อเป็นเพียงสถานการณ์ชั่วคราวเท่านั้น
“เป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พื้นฐานซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เกิดจากการใช้จ่ายผู้บริโภค จะพุ่งขึ้นใกล้แตะเป้าหมายของ BOJ ที่ระดับ 2% ขณะนี้เรายังไม่คิดถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายซึ่งเราใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยเราไม่มีการอภิปรายกันในเรื่องเหล่านี้”
“อัตราเงินเฟ้อที่เกิดจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคจะยังคงอยู่ที่ราว 1% ดังนั้น BOJ จึงไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินในขณะนี้ ส่วนในช่วงที่ผ่านมานั้น ญี่ปุ่นเผชิญแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ”
นายคุโรดะกล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 มี.ค. 65)
Tags: BOJ, CPI, ญี่ปุ่น, ธนาคารกลางญี่ปุ่น, เงินเฟ้อ, เศรษฐกิจญี่ปุ่น