นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนา “สินทรัพย์ดิจิทัล Game Changer เดิมพันเปลี่ยนอนาคต” ว่า ปัจจุบัน Cryptocurrency มีอยู่มากกว่า 1,500 เหรียญ และเหรียญส่วนใหญ่ยังมีอายุไม่ถึง 10 ปี ทำให้ไม่สามารถพิสูจน์ความมั่นคงของเหรียญได้ อีกทั้งยังมีความผันผวนของราคาสูง ทำให้การทำธุรกรรมด้วย Cryptocurrency นั้นผู้ประกอบการหรือลูกค้าจะต้องมีการบริหารความเสี่ยงค่อนข้างมาก และยังมีความเสี่ยงสูงเรื่องของการแลกเปลี่ยนด้วย แม้ว่าผู้ใช้และรับ Cryptocurrency จะยอมรับและเข้าใจความเสี่ยงได้ก็ตาม
อีกทั้ง Cryptocurrency ยังไม่ทีหน่วยงานที่กำกับดูแลที่ชัดเจน ทำให้มีโอกาสถูกหลอกลวงได้สูง โดยเฉพาะการถูก Rug Pull และการโดน Hack ระบบ อย่างที่เคยเกิดขึ้นมากับเหรียญ Squid ที่ผู้พัฒนาเหรียญมีการโปรโมทเหรียญอย่างมาก แต่ได้ปิดระบบนำเงินหนีไป สร้างความเสียหายราว 70 ล้านบาท หรือการที่ Polygon Network ถูก Hack ระบบ สร้างความเสียหายกว่า 2.4 หมื่นล้านบาท
ประเด็นดังกล่าวทำให้ ธปท.มองว่า Cryptocurrency ยังมีความเสี่ยงในการกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้กับผู้ลงทุน และตามมาถึงเสถียรภาพทางการเงินและเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้ธปท.จำเป็นต้องเข้ามาควบคุม เพื่อป้องการการกระทำที่ผิดกฎหมาย เช่น อาชญากรรม การฟอกเงิน การค้าขายในตลาดมืด เป็นต้น
“ต้องยอมรับว่าสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสิ่งที่อยู่ในความสนใจของทุกคน ทั้งภาคประชาชน ภาคธุรกิจ ภาครัฐ และกลุ่มธุรกิจทางการเงินที่มีธนาคารพาณิชย์รวมอยู่ด้วย ซึ่งสินทรัพย์ดิจิทัลถือเป็นพลวัตหนึ่งที่นำมาทั้งโอกาสและความเสี่ยง ดังนั้นต้องมาดูว่าเราจะเก็บเกี่ยวโอกาสจากพลวัตนี้ได้อย่างไร โดยไม่ตกขบวน และใช้โอกาสนี้อย่างเหมาะสม ถูกที่ ถูกเวลา ภายใต้แนวคิดรับผิดชอบอย่างยั่งยืน”
นางรุ่ง กล่าว
นางรุ่ง กล่าวว่า จากกระแสในปัจจุบันที่สินทรัพย์ดิจิทัลได้รับความนิยมมาก มีผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มขึ้น และมีจำนวนผู้เปิดปัญชีในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลจาก 700,000 บัญชี ในปี 63 เพิ่มเป็น 2.2 ล้านบัญชี ในปี 64 และธนาคารพาณิชย์และกลุ่มการเงินต่างๆได้เข้ามาลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น
ธปท.ยังคงเปิดกว้างในการลงทุนด้านสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะการลงทุนด้านเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) ภายใต้กฎเกณฑ์ที่ธปท.กำหนด เพื่อทำให้ธนาคารพาณิชย์และกลุ่มการเงินสามารถนำเทคโนโลยีและสินทรัพย์ดิจิทัลมาทดลองในการช่วยยกระดับในการพัฒนาสินค้าและบริการทางการเงินให้ดียิ่งขึ้น และเกิดประโยชน์ต่อภาพรวมอย่างชัดเจน สามารถสร้างความยั่งยืน มีความปลอดภัย มีการดำเนินการอย่างมีธรรมภิบาล ไม่เกิดการกระทำที่ผิดฎหมาย และไม่ส่งผลกระทบต่อลูกค้าที่นำเงินมาฝากกับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ธนาคารแห่งประเทศให้ความสำคัญ
ธปท.ยืนยันในการเปิดกว้างด้านเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยในการพัฒนายกระดับสินค้าและบริการทางการเงิน แต่สิ่งที่สำคัญที่ทำให้การเปิดกว้างเทคโนโลยีที่เข้ามานั้นจะต้องเดินไปอย่างระมัดระวัง เพื่อเป็นการป้องกันในเรื่องของความเสี่ยงที่เกิดขึ้น ซึ่ง ธปท.จำเป็นต้องมีการบริหารความสมดุลในเรื่องของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการสร้างนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ และการดูแลความเสี่ยง ให้เกิดความสมดุลกัน เพื่อทำให้ระบบการเงินของประเทศไทยมีเสถียรภาพ
สำหรับภูมิทัศน์ทางการเงินของ ธปท.นั้นในส่วนของสินทรัพย์ดิจิทัลได้มีการเปิดกว้างด้านการแข่งขัน การให้ผู้ประกอบการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานได้ในต้นทุนที่ถูก และสามารถใช้ทรัพยากรต่างๆ ในตลาดเพื่อนำไปประกอบการให้บริการได้ ซึ่งธปท.พร้อมจะสนับสนุนในส่วนของสินทรัพย์ดิจิทัลและเทคโนโลยีทางการเงินใหม่ๆ ที่เข้ามาเสริมสร้างและยกระดับบริการทางการเงินและการลงทุน และสร้างการเติบโตให้กับภาพรวมของเศรษฐกิจไทยอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นปัจจัยที่ธปท.ให้ความสำคัญในการสนับสนุน
“ธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงเปิดกว้างเทคโนโลยีและสินทรัพย์ดิจิทัลใหม่ๆ แต่เราต้องมีการบริหารความสมดุลในการด้านพัฒนานวัตกรรมและความเสี่ยงให้เหมาะสมควบคู่กัน ทำให้ในช่วงแรกเราอาจจะมีรั้วแคบๆที่กั้นไว้บ้าง แต่เราก็มีประตูเว้นไว้ให้เพื่อเป็นทางออกให้ผู้ประกอบการค่อยๆ มีการทดลองพัฒนาและมีผลออกมาชัดเจนที่เป็นประโยชน์ต่อภาพรวมก็ค่อยๆ ขยับออกไป”
นางรุ่ง กล่าว
สินทรัพย์ดิจิทัลและเทคโนโลยีที่ ธปท.ให้การสนับสนุนนั้นเป็นจะเป็นในเรื่องของการที่เข้ามาช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการทางการเงินให้ดียิ่งขึ้น เช่น Distributed Ledger Technology (DLT) ที่เข้ามาเสริมประสิทธิภาพในการสร้าง Smart Contract ที่มีความซับซ้อนภายในเวลาไม่กี่วินาที และมีค่าธรรมเนียมที่ถูกลง หรือเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยในการยืนยันตัวตน ที่ทำให้การทำธุรกรรมทางการเงินมีความปลอดภัยและรวดเร็วมากขึ้น
ขณะเดียวกันสินทรัพย์ดิจิทัลที่เข้ามาเป็นส่วนเสริมด้านแหล่งเงินทุนให้กับภาคธุรกิจในการนำไปต่อยอดการลงทุน ซึ่งสามารถสร้างประโยชน์ให้กับภาคเศรษฐกิจไทยได้ ธปท.ให้การสนับสนุนเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการเติบโตให้กับภาคธุรกิจในที่มีแหล่งเงินทุนไปรองรับการลงทุน อย่างเช่น Investment Token ที่มีออกมา คือ SIRI Hub Token ที่ผู้ประกอบการสามารถนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปต่อยอดในการพัฒนาโครงการใหม่ๆ และผู้ถือ Token ยังมีสิทธิในการได้รับผลตอบแทนควบคู่ไปด้วย หรืออย่าง Destiny Token ที่นำจะนำเงินระดมทุนไปสร้างภาพยนตร์ และให้ผลตอบแทนกับผู้ถือโทเคน เป็นต้น
นอกจากนี้ยังให้ความสนับสนุนในการนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาการให้บริการกับนักลงทุนรายย่อย ให้สามารถเข้าถึงการลงทุนได้มากขึ้น โดยการที่สามารถลงทุนได้ในจำนวนเงินที่ไม่มาก และได้สิทธิความเป็นเจ้าของตามสัดส่วนการลงทุน รวมถึงการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในการสร้างครามผูกพันกับกลุ่มลูกค้า เช่น การให้รางวัลเป็นเหรียญแก่ลูกค้าที่ซื้อสินค้าและบริการของผู้ประกอบการ เป็นต้น โดยสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นถึงประโยชน์ในการที่สินทรัพย์สแดิจิทัลและเทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับภาคการเงินของไทย และสร้างประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน
ส่วนการนำ Cryptocurrency มาใช้บริการชำระค่าสินค้าและบริการนั้น ธปท.ยังต้องมองถึงด้านเสถียรภาพการเงินของประเทศ และการดูแลด้านความเสี่ยงในเรื่องของความปลอดภัยและความผันผวนของราคา Cryptocurrency โดยมองว่าการนำ Cryptocurrency มาใช้ในการรับชำระสินค้าและบริการ อาจจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศได้จริง ทำให้ต้องออกกฎควบคุมออกมาเพื่อเป็นการป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในเบื้องต้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 มี.ค. 65)
Tags: Cryptocurrency, คริปโทเคอร์เรนซี, ธนาคารแห่งประเทศไทย, รุ่ง มัลลิกะมาส, สินทรัพย์ดิจิทัล