นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SME Sentiment Index: SMESI) ประจำเดือนก.พ. 65 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่น SMESI อยู่เหนือระดับ 50 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ทั้งในส่วนค่าดัชนีปัจจุบัน และคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ซึ่งอยู่ที่ระดับ 50.6 และ 52.7 ตามลำดับ สะท้อนได้ว่า ผู้ประกอบการยังมีความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจ แม้จะทรงตัวจากช่วงก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 50.4 และ 52.4 ตามลำดับ
สำหรับองค์ประกอบของธุรกิจที่ส่งผลมากที่สุด คือ ต้นทุน รองลงมาคือ การจ้างงาน กำไร การลงทุน ปริมาณการผลิต/การค้า/การบริการ และคำสั่งซื้อ ตามลำดับ
เมื่อพิจารณาเป็นภาคธุรกิจ พบว่า ธุรกิจที่มีระดับความเชื่อมั่นเกินกว่าค่าฐานที่ 50 และมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ภาคการค้า และภาคการเกษตร ซึ่งปรับตัวอยู่ที่ 51.4 และ 51.5 จากระดับ 50.9 และ 51.1 ตามลำดับ ภาคบริการปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่ไม่ถึงค่าฐานที่ 50 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 49.7 ส่วนภาคธุรกิจที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ภาคการผลิต อยู่ที่ระดับ 51.2 จากระดับ 52.7
อย่างไรก็ดี แม้ว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ ยังคงเป็นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่เพิ่มสูงที่สุดเท่าที่เกิดวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ความรุนแรงของโรคไม่มาก เมื่อเทียบกับระลอกก่อนหน้า โดยมีปัจจัยบวกด้านผู้บริโภคและกำลังซื้อจากโครงการคนละครึ่ง เฟส 4 ที่เข้ามาช่วยพยุงกำลังซื้อของผู้บริโภค และผู้ประกอบการมีการพัฒนาศักยภาพ โดยนำเทคโนโลยี/ดิจิทัล/นวัตกรรมมาใช้ในดำเนินกิจการมากขึ้น ปรับรูปแบบของการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ในเรื่องมาตรฐานการผลิต/ความปลอดภัย/สุขอนามัย และความสะอาดของสถานประกอบการมากขึ้น ทั้งนี้ สิ่งที่ยังคงต้องเฝ้าระวังต่อไป คือ ต้นทุนราคาสินค้า และราคาวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อภาพรวมของธุรกิจเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาถึงดัชนี SMESI ของผู้ประกอบการรายภูมิภาค เดือนก.พ. 65 พบว่า เกือบทุกภูมิภาคมีระดับความเชื่อมั่นเกินกว่าค่าฐานที่ 50 โดยภูมิภาคที่ระดับความเชื่อมั่นปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ที่ระดับ 54.1 จากระดับ 53.2 รองลงมา คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 52.0 จากระดับ 51.1 ส่วนภูมิภาคที่ระดับความเชื่อมั่นลดลง ได้แก่ ภาคใต้ ภาคตะวันออก ภาคเหนือและภาคกลาง ซึ่งอยู่ที่ระดับ 42.1 49.5 51.1 และ 50.7 ตามลำดับ
สำหรับปัจจัยบวกที่ส่งผลให้ดัชนี SMESI ในส่วนภูมิภาคโดยรวมมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น พบว่า มาจากกำลังซื้อและ การจับจ่ายใช้สอยสินค้าในกลุ่มอุปโภคบริโภค และภาคบริการในส่วนของร้านอาหาร โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วนภาคการผลิตในภูมิภาคยังคงขยายตัว โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ ที่สามารถเปิดดำเนินการได้ตามปกติ อีกทั้งมีแรงสนับสนุนจากกำลังซื้อของโครงการคนละครึ่ง เฟส 4 รวมถึงการขยายตัวของกลุ่มผลิตยารักษาโรคและสมุนไพร จากแนวโน้มความใส่ใจในสุขภาพ
ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาวะธุรกิจภูมิภาคปรับตัวดีขึ้นจากการค้าปลีกและค้าส่ง ในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค รวมไปถึงกลุ่มก่อสร้างขนาดเล็กและธุรกิจการซ่อมบำรุง ส่วนภาคใต้ ซึ่งมีค่าดัชนีปัจจุบันอยู่ต่ำกว่าค่าฐาน และมีค่าดัชนีลดลงมากที่สุด แม้ว่าธุรกิจการท่องเที่ยวจะได้รับผลดีจากโครงการ Test&Go จากกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและแต่เป็นการกระจุกในบางจังหวัด ที่สำคัญผู้ได้รับประโยชน์ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มโรงแรมขนาดใหญ่ ขณะที่กลุ่มโรงแรมขนาดเล็กยังไม่ได้รับผลดีเท่าที่ควร ประกอบกับยังขาดกำลังซื้อจากผู้บริโภคต่างประเทศเนื่องจากมีการปิดด่านชายแดน ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจยังคงปรับตัวลดลง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 มี.ค. 65)
Tags: SME, กำลังซื้อ, ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ, ธุรกิจ, ผู้ประกอบการ, วีระพงศ์ มาลัย, สสว.