บลจ.วรรณ แนะทยอยสะสมหุ้นเติบโตสูงช่วงผันผวน-กลุ่ม New Economyเสริมพอร์ต

นายพจน์ หะริณสุต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ เปิดเผยว่า ภาพรวมของตลาดหุ้นโลกเริ่มฟื้นตัวขึ้นในระยะสั้น นำโดยหุ้นเติบโตและกลุ่มเทคโนโลยี หลังจากที่ถูกเทขายอย่างต่อเนื่องในช่วงก่อนหน้าที่ผ่านมาเนื่องจากมองว่า ปัจจัยเรื่องทิศทางอัตราดอกเบี้ยหลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีการประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ตามที่ตลาดคาดการณ์ สู่ระดับ 0.25%-0.50% โดยแนวโน้มของดอกเบี้ย (Dot plot) ชี้ว่า Fed จะปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องอีก 6 ครั้งในปีนี้เพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง

ประกอบกับความกังวลระหว่างรัสเซียและยูเครนที่เริ่มผ่อนคลาย หลังประเทศยูเครนประกาศจะไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิก NATO ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องจากทางประเทศรัสเซีย และทั้งสองฝ่ายต่างเดินหน้าเจรจากันอย่างต่อเนื่อง แม้โดยรวมความขัดแย้งของทั้งสองชาติจะยังมีความไม่แน่นอนสูง แต่บลจ.วรรณคาดว่า ตลาดรับรู้ข่าวร้ายจากความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์มาแล้วบางส่วน แต่หากมองในเชิงของปัจจัยพื้นฐานหุ้นในกลุ่มเติบโตและเทคโนโลยียังมีศักยภาพในการเติบโต และยังได้รับการสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐ

“ที่ผ่านมา หุ้นเติบโตและกลุ่มเทคโนโลยี ได้รับแรงกดดันจากการติดตามทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกอบกับบรรยากาศการลงทุนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซีย อย่างไรก็ดี หุ้นเติบโตสูง ยังมีความน่าสนใจ โดยมองว่าหุ้นในกลุ่มนี้ยังได้รับปัจจัยบวกจากการที่รัฐบาลจีนมีแผนที่จะใช้มาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้บรรลุเป้าหมายการเติบโตปีนี้ที่กำหนดไว้ราว 5.5% และจะมีมาตรการที่หนุนตลาดทุนในหลากหลายมิติ อาทิ สนับสนุนหากบริษัทจีนต้องการจดทะเบียนในสหรัฐฯ มาตรการด้านกฎระเบียบที่เข้มงวดของกลุ่มเทคโนโลยีควรจะจบสิ้นเร็วๆนี้ สนับสนุนให้กองทุนในจีนถือหุ้นจีนเพิ่มในระยะยาว และ เสริมมาตรการพยุงและรักษาเสถียรภาพตลาดอสังหาริมทรัพย์”

นายพจน์กล่าว

อย่างไรก็ดี หากมองไปในระยะข้างหน้า บลจ.วรรณคาดว่า ตลาดหุ้นโลกมีแนวโน้มที่จะปรับตัวผันผวนในปีนี้ ดังนั้น การกระจายการลงทุนและใช้โอกาสจากความผันผวนเป็นจังหวะเพื่อทยอยเข้าลงทุนในระยะยาว โดยเน้นการลงทุนแบบ Selective มากขึ้น ซึ่งเป็นกลยุทธ์หลักในการลงทุนของปีนี้ บริษัทมองว่านักลงทุนมีแนวโน้มที่จะกลับมาให้น้ำหนักต่อผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งสะท้อนพื้นฐานการเติบโตของบริษัทที่มีความสามารถในการแข่งขันและมีความสามารถในการกำหนดราคาสินค้าและบริการจากผู้บริโภค

สำหรับนักลงทุน “ระยะสั้นที่รับความเสี่ยงได้สูงมาก” ยังคงมองเป็นจังหวะที่จะกลับเข้าลงทุนบางส่วนเพื่อปิดความเสี่ยงหากตลาดกลับมาเป็นขาขึ้น (Upside risk) ในระยะสั้น ในกองทุนเปิดวรรณ อัลติเมท โกลบอล โกรว์ธ หน่วยลงทุนชนิดไม่จ่ายเงินปันผล สำหรับผู้ลงทุนทั่วไป (ONE-UGG-RA) หรือ กองทุนเปิด วรรณ ดิสคัฟเวอรี่ หน่วยลงทุนชนิดไม่จ่ายเงินปันผล สำหรับผู้ลงทุนทั่วไป (ONE-DISC-RA)

ส่วนนักลงทุนระยะยาว มองเป็นโอกาสในการเริ่มทยอยสะสมกองทุนเพิ่มเติม จากมูลค่าหุ้นในปัจจุบัน “มีความสมเหตุสมผล” สำหรับโอกาสการเติบโตในระยะยาว ขณะที่นักลงทุนที่มีการลงทุนแบบ DCA อยู่แล้วยังคงแนะนำให้ทำตามวินัยการลงทุนเดิม โดยเฉพาะที่เพิ่งเริ่มลงทุนในปี 2021 ซึ่งเป็นช่วงที่ต้นทุนราคาของกองทุนสูงกว่าปัจจุบันค่อนข้างมาก เป็นโอกาสสำหรับการถัวเฉลี่ยต้นทุนให้ต่ำลง แต่หากต้องการจับจังหวะการลงทุนเพิ่มเติม แนะนำแบ่งซื้อสะสมหลายๆไม้ ในต้นทุนที่แตกต่างกัน

นอกจากหุ้นในกลุ่มเติบโตและกลุ่มเทคโนโลยีที่สามารถกลับเข้าทยอยลงทุนบางส่วนได้แล้วนั้น ภาพระยะยาว หุ้นกลุ่ม New Economy ยังคงมีแนวโน้มการเติบโตของกำไรได้อย่างต่อเนื่องและโดดเด่นจากศักยภาพในการแข่งขันและธุรกิจที่ตอบโจทย์กับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ อาทิ Robots, Artificial Intelligence, Drones, Blockchain, Virtual reality, 3D Printing รวมถึง Biotech และ Health-tech เป็นต้น ได้เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวก เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการต่างๆ และลดต้นทุนในการทำธุรกิจในภาพรวม ซึ่งมีการเติบโตอย่างโดดเด่นและมีการระบาดของ Covid-19 เป็นตัวเร่งการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้

“บริษัทมองว่าหุ้นในกลุ่มเหล่านี้มีความสามารถในการสร้างรายได้ (Organic growth) และมีศักยภาพในการแข่งขันทางธุรกิจสูง แตกต่างจากภาพเศรษฐกิจที่กลับสู่ภาวะปกติในระยะข้างหน้า ดังนั้น หุ้นกลุ่ม New Economy จะเป็นหุ้นที่ควรจัดสรรในพอร์ตการลงทุนของท่าน ซึ่งบลจ.วรรณ แนะนำจัดสรรบางส่วนเพื่อเพิ่มผลตอบแทนโดยรวมของพอร์ตการลงทุนระยะยาวในกองทุนเปิด วรรณ เมตาเวิร์ส อิควิตี้ ONE-METAVERSE”

นายพจน์กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 มี.ค. 65)

Tags: , ,
Back to Top