เที่ยวบินกรุงเทพ-เบตงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะร่วมเดินทางไปเปิดปฐมฤกษ์กันอย่างชื่นมื่นไปเมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา พลิกกลับมาเป็นปัญหาหนักอกรัฐบาล หลังจากทางสายการบินนกแอร์ต้องระงับแผนเปิดบิน เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารน้อยจนไม่สามารถให้บริการได้ และยื่นข้อเสนอให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในท้องถิ่นเข้ามาช่วยสนับสนุนเงินเพื่อแลกกับการกลับมาเปิดบิน
แหล่งข่าวในวงการธุรกิจการบิน เชื่อว่า สายการบินนกแอร์(NOK) จะไม่สามารถทำการบินในเส้นทางกรุงเทพ-เบตงหากไม่มีเงินเข้ามาช่วย Subsidise ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางสายการบินเองน่าจะคาดหมายอยู่แล้วว่าปริมาณผู้โดยสารไม่ได้มีมากเพียงพอที่จะเปิดให้บริการได้ในลักษณะเส้นทางประจำอย่างที่กระทรวงคมนาคมพยายามผลักดันในช่วง 2-3 ปีนี้ โดยในวงการรู้กันดีกว่าไม่มีสายการบินใด แสดงตัวว่าต้องการบินในเส้นทางนี้ และในแง่การตลาดไม่น่าจะเพียงพอต่อการเปิดเส้นทางบินใหม่
ข้อมูลปี 63-64 สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จังหวัดนราธิวาส ระบุว่า จำนวนผู้เดินทางไปยะลาในปี 63 อยู่ที่ 98,035 คน และลดลง 51% ในปี 64 เหลือ 48,470 คน ขณะที่ในปี 64 ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเลย ซึ่งหลังจากสายการบินนกแอร์เปิดขายตั๋วโดยสารไปเบตง ก็มีผู้เข้ามาจองที่นั่งเพียง 4 คน จากจำนวนที่นั่งทั้งหมด 86 คนด้วยเครื่องบินใบพัด Q400
ขณะที่ความช่วยเหลือของหน่วยงานรัฐในช่วงที่ผ่านมา มีเพียงกรมท่าอากาศยาน ซึ่งเป็นผู้บริหารสนามบินเบตง ลดค่า Landing Fee และ Parking Fee ราว 2,000 บาท/เที่ยวเท่านั้น แทบไม่ได้มีผลต่อการลดค่าใช้จ่ายของสายการบินได้ เนื่องจากการบินไปเบตงคาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายเที่ยวละกว่า 500,000 บาท ไป-กลับ ก็จะเสียค่าใช้จ่ายกว่า 1 ล้านบาท
นอกเหนือจากนี้สนามบินเบตงก็ไม่มีสถานที่เติมน้ำมัน ทำให้ทางสายการบินที่จะบินไปต้องขนน้ำมันไปเติมเองด้วย ก็ยิ่งทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน สายการบินก็ยังต้องลดจำนวนผู้โดยสารเพื่อให้น้ำหนักบรรทุกไม่มากเกินไป อีกทั้งสนามบินเบตงมีรันเวย์ค่อนข้างสั้นและที่ตั้งมีภูเขาล้อมรอบ ทำให้ต้องบินอ้อมภูเขาก่อนนำเครื่องลง ส่งผลให้การบินจากกรุงเทพไปเบตงต้องใช้เวลาถึง 2 ชั่วโมง ไป-กลับ 4 ชั่วโมง ฉะนั้น ค่าตั๋วโดยสารไปเบตงหากจะไม่ให้ขาดทุนก็ต้องเก็บอย่างน้อยที่นั่งละ 3,700 บาทกรณีที่ผู้โดยสารเต็มเครื่อง ซึ่งราคานี้ก็ยังไม่มีกำไร
ที่ผ่านมา สายการบินนกแอร์พยายามขอให้ภาครัฐสนับสนุนเส้นทางกรุงเทพ-เบตง ได้แก่ การขอยกเว้นค่าภาษีสนามบิน ค่าบริการควบคุมจราจรทางอากาศ ค่าเช่าสำนักงาน ค่าเช่าเคาน์เตอร์จำหน่ายบัตรโดยสาร ค่าเช่าและผลตอบแทนพื้นที่เชิงพาณิชย์ รวมถึงยกเว้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบิน และการการันตีอัตราบรรทุกผู้โดยสาร (Load Factor) 75% นอกจากนี้อยากให้เอเย่นต์ขายตั๋วในพื้นที่ช่วยด้านการตลาดด้วย แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปในเรื่องนี้ ดังนั้น เชื่อว่าจากนี้คงยังไม่มีสายการบินใดสามารถทำการบินไปเบตงได้อีก เพราะบินไปก็ขาดทุน
ส่วนในการประชุมหารือระหว่างสายการบินนกแอร์กับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ในวันที่ 21 มี.ค.นี้ ก็ยังต้องติดตามต่อไปว่าจะมีมาตรการช่วยเหลือที่จะสนับสนุนให้มีเที่ยวบินไปยังดินแดนที่รัฐบาลพยายามโปรโมทให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่มีศักยภาพการพัฒนาทั้งด้านเศรฐกิจ สังคม เป็นเมืองชายแดนที่มีการเคลื่อนไหวทางด้านธุรกิจการค้า ประกอบกับประชาชนอยู่ร่วมกันเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ตลอดจนเป็นเมืองที่มีธรรมชาติสวยงามได้หรือไม่?
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 มี.ค. 65)
Tags: สนามบินเบตง, สายการบิน, เบตง