นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในการประชุมสามัญประจำปีของภาคีสมาชิกองค์การบริหารจัดการประมงในมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ (SIOFA) ครั้งที่ 8 เมื่อเดือนก.ค.64 ที่ผ่านมา ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมประชุมในฐานะรัฐภาคี โดยในการประชุมดังกล่าวได้มีองค์กร The Deep Sea Conservation Coalition (DSCC) ซึ่งเป็นองค์การนอกภาครัฐ (NGO) เข้าร่วมประชุมในสถานะผู้สังเกตการณ์การประชุม (observer) ได้นำเสนอเอกสารที่มีสถานะเป็น information paper ต่อที่ประชุม เรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้นกับความหลากหลายทางระบบนิเวศ จากการทำประมงอวนลากในพื้นที่ Saya de Malha Bank
ทั้งนี้ ได้มีการเรียกร้องให้ประเทศไทย หยุดทำการประมงในบริเวณพื้นที่ Saya de Malha Bank จนกว่าจะมีการประเมินสภาวะทรัพยากรและพัฒนามาตรการที่ปกป้องความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตและชนิดสัตว์น้ำ ตลอดจนหญ้าทะเลในบริเวณดังกล่าว ซึ่งในการประชุมครั้งนั้น ประเทศไทยและภาคีสมาชิก SIOFA พิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นข้อเสนอที่มิได้มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือรองรับ จึงไม่ได้รับมติเห็นชอบจากภาคีสมาชิก SIOFA
อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า จากข้อเรียกร้องของ DSCC ดังกล่าว SIOFA เห็นว่าการศึกษาผลกระทบการประมงต่อพื้นท้องทะเลเป็นเรื่องสำคัญ และต้องใช้อ้างอิงในการบริหารจัดการประมงเชิงพื้นที่ จึงมีมติให้คณะกรรมการวิทยาศาสตร์ (SIOFA Scientific Committee: SC) ทำการศึกษาระบบนิเวศและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำประมงอวนลากในพื้นที่ Saya de Malha Bank ตามแผนงานที่วางไว้ โดยให้ใช้ระยะเวลาการศึกษา 2 ปี และให้นำมาพิจารณาในการประชุมประจำปี SC ในเดือนมี.ค. 65
อย่างไรก็ดี ในห้วงระยะเวลาที่ผ่านมา ภายหลังการประชุมสามัญประจำปีเมื่อเดือนก.ค. 64 ดังกล่าว SC ได้ทำการศึกษาในเรื่องนี้ โดยได้ประสานงานกับกรมประมงมาเป็นระยะ เพื่อขอรับข้อมูลการทำประมงของกองเรือประมงไทย เพื่อประกอบการศึกษาวิเคราะห์ตามกระบวนงานและขั้นตอนของ SIOFA ที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ กรมประมงยังได้ประสานแจ้งและร่วมดำเนินการกับผู้ประกอบการประมงนอกน่านน้ำไทย และสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทยมาโดยตลอด
ล่าสุด กรมประมงได้รับร่างรายงานผลกระทบ Impact Assessments of Bottom Trawl Fisheries on VME Indicator Species จาก SIOFA ซึ่งจากการประเมินความเสี่ยงของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศที่เปราะบาง (VME) จำนวน 14 ชนิด ในพื้นที่ทำประมงอวนลากบริเวณ Saya de Malha Bank พบว่า มีความเสี่ยงในระดับต่ำ 3 ชนิด และมีความเสี่ยงในระดับปานกลาง 11 ชนิด
ทั้งนี้ ในรายงานระบุชัดเจนว่า การทำประมงอวนลากไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่หญ้าทะเลแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังคงให้ความร่วมมือกับ SC เพื่อศึกษาผลกระทบตามแผนงานที่วางไว้ต่อไป เพื่อให้เกิดความชัดเจนของข้อมูล และเป็นการแสดงให้ภาคีสมาชิก SIOFA เห็นถึงความมุ่งมั่นและจุดยืนของประเทศไทย ในการบริหารจัดการประมงนอกน่านน้ำไทยอย่างยั่งยืน และปราศจากการทำประมงผิดกฎหมาย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 มี.ค. 65)
Tags: กรมประมง, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, เฉลิมชัย สุวรรณรักษ์