นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในช่วงระหว่างนี้จนถึงประมาณเดือนก.ย. เป็นช่วงที่ผลไม้ภาคตะวันออกให้ผลผลิต ผลไม้สำคัญหลายชนิดโดยเฉพาะทุเรียน มังคุด และเงาะ ปีนี้ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าผลผลิตทุเรียนปีนี้อยู่ที่ประมาณ 744,549 ตัน มังคุด 210,864 ตัน และเงาะ 210,646 ตัน
สาเหตุเนื่องมาจากหลากหลายปัจจัย ทั้งสภาพอากาศที่เหมาะสม จำหน่ายได้ราคาดีตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา จูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกและบำรุงรักษาผลไม้ดังกล่าวกันมากขึ้น เพื่อให้ได้ผลผลิตดีมีคุณภาพ และเพื่อเป็นการรักษาคุณภาพมาตรฐานของผลผลิตไม้ผลภาคตะวันออกตลอดทั้งฤดูกาล
ทั้งนี้ ในปี 64 ที่ผ่านมา ไทยสามารถส่งออกผลไม้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ แม้จะเผชิญกับปัญหาการขนส่งโลจิสติกส์จากค่าระวางที่สูงขึ้น การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และการปิดด่านหลายครั้ง จากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยความสำเร็จดังกล่าวมาจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งชาวสวนผลไม้ ผู้ประกอบการภาคเอกชนและภาครัฐ
ดังนั้น ในปี 65 นี้ กระทรวงเกษตรฯ จึงได้กำหนดเป้าหมายในการส่งออกผลไม้ภาคตะวันออก เพื่อเพิ่มศักยภาพการส่งออก สร้างความเชื่อมั่นสู่ผู้บริโภคในประเทศและต่างประเทศ โดยการส่งออกผลไม้ต้อง Zero COVID เท่านั้น
ด้านนายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้เน้นย้ำแนวทางและวิธีการปฏิบัติร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานราชการ และกลุ่มเกษตรกร ให้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ ดำเนินการควบคุมเบ็ดเสร็จแบบเข้มข้นในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะผลไม้เศรษฐกิจที่สำคัญอย่างทุเรียน
ในส่วนของผู้ค้า ได้สั่งการให้สำนักงานเกษตรจังหวัดตั้งชุดเฉพาะกิจร่วมกับฝ่ายปกครองในพื้นที่ เพื่อสกัดกั้นทุเรียนอ่อนในจังหวัดแหล่งผลิตที่สำคัญ โดยใช้บทลงโทษทางกฎหมาย ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 271 ผู้ใดขายโดยหลอกลวงด้วยประการใดๆ ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพคุณภาพ หรือปริมาณแห่งของอันเป็นเท็จนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 47 ผู้ใดเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณ หรือสาระสำคัญประการอื่น อันเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือผู้อื่น โฆษณาหรือใช้ฉลากที่มีข้อความอันเป็นเท็จหรือข้อความที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ด้านสวนเกษตรกร กรมส่งเสริมการเกษตร หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเกษตรกรได้ร่วมกันกำหนดมาตรการในการควบคุมทุเรียนอ่อน ภายใต้มาตรการต่างๆ เช่น การประกาศวันเก็บเกี่ยวทุเรียน โดยสำนักงานเกษตรจังหวัด ได้ออกเป็นประกาศจังหวัดแต่ละจังหวัด และประกาศอื่นของจังหวัดในส่วนที่เกี่ยวข้อง
สำหรับพันธุ์กระดุม กำหนดเก็บเกี่ยววันที่ 20 มี.ค. 65 พันธุ์ชะนีและพวงมณี วันที่ 10 เม.ย. 65 และพันธุ์หมอนทองและก้านยาว วันที่ 25 เม.ย. 65 แต่ในกรณีที่เกษตรกรมีผลผลิตที่พร้อมตัดจำหน่ายก่อนตามวันที่ประกาศ ต้องแจ้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครเกษตร หรือเกษตรอำเภอก่อน เพื่อดำเนินการตรวจสอบรับรองความแก่ทุเรียนตามขั้นตอนที่กำหนด รวมถึงการตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน ตามมาตรฐานของ มกษ.3-2556 ที่กำหนดให้ทุเรียนพันธุ์กระดุม ไม่น้อยกว่า 27% น้ำหนักแห้ง พันธุ์ชะนีและพันธุ์พวงมณี ไม่น้อยกว่า 30% น้ำหนักแห้ง พันธุ์หมอนทอง ไม่น้อยกว่า 32% น้ำหนักแห้ง ซึ่งเกษตรกรหรือมือตัดทุเรียนสามารถนำทุเรียนมาตรวจ เพื่อขอใบรับรองก่อนตัดส่งผู้ประกอบการได้ ณ สำนักงานเกษตรอำเภอที่ตั้งแปลงหรือสถานที่อื่นที่กำหนด
นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำมาตรการป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ระดับสวนเกษตรกร ให้ทุกสวนผลไม้ส่งออกได้ยึดถือปฏิบัติ สอดคล้องกับเป้าหมายในการส่งออกผลไม้ภาคตะวันออก ของกระทรวงเกษตรฯ ที่กำหนดเป้าหมายไว้ว่า “การส่งออกผลไม้ต้อง Zero COVID เท่านั้น” ประกอบไปด้วย
1. ต้องมีจุดตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย อย่างน้อย 1 จุด 2. มีจุดล้างมือพร้อมน้ำยาล้างมือหรือเจล/สเปรย์แอลกอฮอล์ อย่างน้อย 1 จุด 3. มีแนวกั้นบริเวณอาณาเขตของสวน และมีจุดเข้าออกทางเดียว 4. การเข้าออกของแรงงานและคนในสวน ห้ามไม่ให้แรงงานของสวนออกจากสวน หรือถ้ามีการออกจากสวนต้องผ่านการตรวจวัดอุณหภูมิหรือมีมาตรการดำเนินการอื่นๆ 5. การเข้าออกของบุคคลภายนอก ห้ามบุคคลภายนอกเข้าออกสวนโดยไม่มีความจำเป็น และถ้ามีการเข้าออกต้องผ่านการคัดกรอง และมีการจดบันทึกทั้งคนและรถที่ผ่านเข้าออก
6. ให้แรงงานและผู้เกี่ยวข้องในสวนได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 2 เข็ม 7. มีการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาและทุกคน 8. มีการตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ทุก 7 วัน ทั้งเจ้าของสวนและแรงงาน และคนเข้าออกสวนต้องมีใบรับรองผลตรวจ ATK 9. สวมถุงมือที่สะอาดในขณะที่มีการปฏิบัติงานในสวน 10. ต้องมีการเว้นระยะห่างของบุคคล อย่างน้อย 1 เมตร และ 11. มีการจดบันทึกทุกขั้นตอนในแต่ละวัน ได้แก่ การเข้าออกสวน ผลตรวจ ATK การวัดอุณหภูมิ การฉีดวัคซีน เป็นต้น พร้อมทั้งกำชับเรื่องการสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 มี.ค. 65)
Tags: กรมส่งเสริมการเกษตร, ผลไม้, ผลไม้ภาคตะวันออก, ส่งออก, เฉลิมชัย ศรีอ่อน