ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มูลค่าการใช้จ่ายอาหารและเครื่องดื่มในประเทศปี 2565 อาจอยู่ที่ระดับ 2.57-2.59 ล้านล้านบาท หรือขยายตัว 1.9-2.7% เทียบกับปี 2564 ที่ขยายตัว 2.5% โดยปัจจัยหนุน ยังคงมาจากระดับราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้นราว 3.1%YoY ตามต้นทุนการผลิตที่คาดว่าจะอยู่ในระดับสูง จากความไม่สงบในยูเครน ที่ซ้ำเติมปัญหาคอขวดห่วงโซ่อุปทานในตลาดโลก
โดยในปี 65 ระดับราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม อาจเติบโตราว 3.1% เมื่อเทียบกับปีก่อนขยายตัว 0.4% จากสถานการณ์วิกฤตรัสเซีย-ยูเครนที่ตึงเครียด และส่งผลกระทบชัดเจนมากขึ้นต่อต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการอาหารและเครื่องดื่มในประเทศ โดยกลุ่มสินค้าที่มีการเติบโตของระดับราคาสูง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่มาก ได้แก่
1. กลุ่มน้ำมันพืช โดยคาดว่าทิศทางราคาน้ำมันพืชปี 65 มีแนวโน้มจะพุ่งสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปี 64 ทั้งน้ำปาล์มและน้ำมันถั่วเหลือง สวนทางกับปริมาณการผลิตที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก
2. กลุ่มเนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ (ผลิตภัณฑ์นมและไข่) โดยเฉพาะราคาเนื้อสุกร ที่คาดว่าปี 65 ราคาก็น่าจะยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับปี 64 จากจำนวนผลผลิตสุกรที่ยังไม่ฟื้นตัว ประกอบกับต้นทุนอาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กากถั่วเหลือง ซึ่งส่วนใหญ่ไทยนำเข้าจากต่างประเทศที่มีแนวโน้มจะปรับราคาสูงขึ้น ตลอดจนต้นทุนในการบริหารจัดการภายในโรงงานที่ปรับสูงขึ้น อาจส่งผลให้ธุรกิจปลายน้ำที่นำวัตถุดิบไปใช้อย่าง ธุรกิจร้านอาหาร โรงงานอาหารแปรรูป/สำเร็จรูป เผชิญความท้าทายด้านต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
3. กลุ่มเครื่องดื่ม (ทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และไม่มีแอลกอฮอล์) แม้ว่าภาครัฐยังไม่มีนโยบายปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตในกลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ด้วยต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนวัตถุดิบต้นน้ำ เช่น มอลต์ (สกัดจากธัญพืช เช่น บาร์เลย์ ข้าวสาลี) เป็นต้น ราคาบรรจุภัณฑ์ (กระป๋อง) รวมถึงต้นทุนด้านขนส่ง อาจส่งผลให้สินค้าในบางรายการมีโอกาสขยับราคาขึ้นได้ เช่น เบียร์ น้ำอัดลม เป็นต้น
ส่วนกลุ่มสินค้าที่มีการขยายตัวของระดับราคาในสัดส่วนที่รองลงมา คือ ผลิตภัณฑ์จากพืชผลการเกษตร เช่น ผัก ผลไม้ ผลิตภัณฑ์จากธัญพืช (เช่น ข้าว ขนมขบเคี้ยว ขนมปัง) คาดว่าด้วยผลผลิตในปีนี้จะออกมาสู่ตลาดมาก อาจส่งผลให้ระดับราคาเติบโตได้อย่างจำกัดในกรอบแคบๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์จากน้ำตาล อาหารสำเร็จรูป ปลาและอาหารทะเล เนื่องจากการผลิตส่วนใหญ่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศมากกว่าการนำเข้า อีกทั้งในบางสินค้ามีการลดการผลิตลง ให้สอดรับกับสภาพตลาด ดังนั้น แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะค่าพลังงานและค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ระดับของผลกระทบคงมีน้อยกว่าโดยเปรียบเทียบ
“ในมิติของการบริโภค ภายใต้สถานการณ์ค่าครองชีพที่สูงขึ้น และการแข่งขันของธุรกิจที่รุนแรง คาดว่า อัตราการขยายตัวของระดับการบริโภคสินค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มในปี 65 คงจะทรงตัวหรือหดตัวเล็กน้อยที่ 0.6% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ขยายตัว 2.1%” ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ
สำหรับกลุ่มสินค้าที่คาดว่าปริมาณการบริโภค จะอยู่ในระดับทรงตัวหรือขยายตัวเล็กน้อย ได้แก่ ผัก ผลิตภัณฑ์จากนมและไข่ ผลิตภัณฑ์จากธัญพืช เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าอาหารพื้นฐานที่ยังจำเป็นต่อการบริโภค ซึ่งผู้บริโภคยังสำรองงบประมาณเพื่อการใช้จ่ายอยู่ นอกจากนี้ แม้แนวโน้มของต้นทุนการผลิตจะขยับขึ้น แต่ในหลายรายการยังเป็นสินค้าควบคุม ทำให้คาดว่าผู้บริโภคจะไม่จำกัดการซื้อมากนักเมื่อเทียบกับกลุ่มสินค้าอื่นๆ
ส่วนกลุ่มสินค้าที่คาดว่าปริมาณการบริโภคน่าจะหดตัว ได้แก่ กลุ่มเครื่องดื่ม ทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และไม่มีแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์จากน้ำตาล อาหารสำเร็จรูป ปลาและอาหารทะเล ผลไม้ เนื่องจากอยู่ในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีราคาจำหน่ายสูงและมีความจำเป็นรองลงมา รวมถึงกลุ่มสินค้าที่มีแนวโน้มของราคาเพิ่มสูงต่อเนื่อง เช่น เนื้อสัตว์ น้ำมันพืช ซึ่งคาดว่าผู้บริโภคอาจจำกัดการซื้อลงบ้าง เพื่อให้อยู่ภายใต้งบประมาณที่มีอย่างจำกัด
อย่างไรก็ดี ภายใต้ข้อจำกัดด้านต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจนกระทบกับระดับราคาสินค้า แต่ด้วยสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม ที่ถือเป็นสินค้าที่จำเป็นต่อการบริโภคในชีวิตประจำวัน สะท้อนจากบทบาทของปริมาณการใช้จ่ายในหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่มีอยู่ราว 21% ของปริมาณการบริโภคของภาคเอกชน ทำให้คาดว่าภายใต้กำลังซื้อผู้บริโภคที่มีจำกัด ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะยังสำรองงบประมาณเพื่อการใช้จ่ายในส่วนนี้เป็นหลัก แต่จะพยายามควบคุมงบประมาณ และระมัดระวังกับการใช้จ่ายในหมวดสินค้าและบริการอื่นๆ เช่น เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ ร้านอาหารและโรงแรม เป็นต้น
“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังมีมุมมองที่ระมัดระวังต่อการจับจ่ายใช้สอยสินค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มในปีนี้ โดยเบื้องต้นคาดว่า มูลค่าการใช้จ่ายอาหารและเครื่องดื่มในประเทศปี 65 อาจอยู่ที่ระดับ 2.57-2.59 ล้านล้านบาท หรือขยายตัวอยู่ในกรอบ 1.9%-2.7% เมื่อเทียบกับปี 64 ที่ขยายตัว 2.5% โดยการเติบโตของมูลค่าตลาดมาจากผลด้านราคาเป็นหลัก ซึ่งขยายตัวราว 3.1%YoY จากต้นทุนการผลิตที่ขยับขึ้นและส่งผลต่อเนื่องไปยังราคาจำหน่าย ในขณะที่ระดับการบริโภคในภาพรวมอาจทรงตัวหรือหดตัวเล็กน้อยที่ 0.6%YoY”
บทวิเคราะห์ระบุ
อย่างไรก็ดี อาจต้องติดตามสถานการณ์วิกฤตรัสเซีย-ยูเครนและสถานการณ์โควิดอย่างใกล้ชิด เนื่องจากจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนการผลิต และพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคได้อีก โดยจากผลกระทบต้นทุนการผลิตอาหารและเครื่องดื่มที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น ส่งผลต่อการปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายผู้บริโภค โดยคาดว่าผู้บริโภคจะให้น้ำหนักต่องบประมาณในการใช้จ่ายที่แตกต่างกันออกไปตามความจำเป็น ดังนี้
1. กลุ่มสินค้าที่คาดว่ามูลค่าการใช้จ่ายยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า คือ น้ำมันพืช เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากนม และไข่ โดยเป็นผลมาจากราคาเป็นหลัก ขณะที่ปริมาณการบริโภคอาจลดลงได้ไม่มาก หรืออาจจะมีการปรับตัวโดยการบริโภคสินค้าอื่นๆ ในกลุ่มเดียวกันที่มีราคาต่ำกว่าทดแทน เนื่องจากเป็นสินค้าที่จำเป็น และคาดว่าผู้บริโภคน่าจะยังคงสำรองงบประมาณเพื่อการใช้จ่ายสินค้ากลุ่มนี้อยู่
2. กลุ่มสินค้าที่คาดว่ามูลค่าการใช้จ่ายจะขยายตัวชะลอลงจากปีก่อนหน้า คือ ผัก ผลไม้ และอาหารสำเร็จรูป ซึ่งเป็นผลมาจากราคาเป็นหลักเช่นกัน แต่เนื่องจากสินค้ากลุ่มนี้น่าจะมีความจำเป็นรองลงมาเมื่อเทียบกับกลุ่มแรก ทำให้ผู้บริโภคอาจสามารถลดปริมาณการซื้อลง เพื่อให้เพียงพอกับงบประมาณที่ได้ตั้งไว้ ท่ามกลางกำลังซื้อที่มีจำกัด
3. กลุ่มสินค้าที่คาดว่ามูลค่าการใช้จ่ายจะขยายตัว โดยเป็นผลของราคาที่ขยับขึ้น ประกอบกับฐานที่ต่ำในปีก่อน แต่ปริมาณการบริโภคอาจมีแนวโน้มลดลง คือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์จากธัญพืช ปลาและอาหารทะเล รวมถึงผลิตภัณฑ์จากน้ำตาล
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ภายใต้ข้อจำกัดของการทำธุรกิจในปีนี้ แม้ว่ากลยุทธ์ด้านราคาจะช่วยพยุงสภาพคล่อง หรือระบายสต็อกสินค้าได้บางกลุ่ม เช่น กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มที่มีอายุผลิตภัณฑ์สั้น เช่น อาหารสด อาหารพร้อมทาน ขนมขบเคี้ยว นมสด เครื่องดื่มฟังก์ชั่นนอล เป็นต้น แต่ในระยะข้างหน้า การเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตและบริการ น่าจะเป็นแนวทางการปรับตัวที่สร้างความยั่งยืนกับธุรกิจ ท่ามกลางความท้าทายทั้งในเรื่องของต้นทุนวัตถุดิบ แนวโน้มของการปรับขึ้นภาษีเพื่อคุ้มครองสุขภาพผู้บริโภค เช่น ภาษีความเค็ม ภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขณะที่ภาษีความหวานจะขยับอัตราขึ้นตามที่กำหนดไว้
นอกจากนี้ การเข้ามาของผู้เล่นหน้าใหม่ ซึ่งอยู่นอกอุตสาหกรรมที่สนใจเข้ามาลงเล่นในธุรกิจนี้มากขึ้น เช่น กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ฟังก์ชั่นนอลและสมุนไพร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมองหาเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยในกระบวนการผลิตอาหาร เช่น เทคโนโลยี Industrial Internet of Things (IIoT) การบริหารจัดการลดต้นทุนการผลิต/บริหารสต็อกสินค้า/ระบบขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการให้ความสำคัญกับนโยบายการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (ESG) ซึ่งจะกลายเป็นกลยุทธ์การรับมือที่สอดรับไปกับเทรนด์การบริโภคใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในตลาดอาหารและเครื่องดื่มได้อย่างยั่งยืน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 มี.ค. 65)
Tags: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, ห่วงโซ่อุปทาน, อาหารและเครื่องดื่ม, เครื่องดื่ม