นางปรีญาภรณ์ ตั้งเผ่าศักดิ์ กรรมการผู้อำนวยการ บมจ.เอแอลที เทเลคอม (ALT) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 65 เติบโต 30-40% จากปีก่อนที่มีรายได้ 1,100.06 ล้านบาท เนื่องจากมองว่าปีนี้จะเป้นปีของการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากการลงทุนมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นทั้งในส่วนของการวางโครงข่ายไฟเบอร์ใยแก้วนำแสงที่มีโอกาสเติบโตไปพร้อมๆ กับนโยบายของรัฐบาลสู่การเป็น ASEAN Digital Hub
ในขณะเดียวกันนโยบายเร่งการจัดระเบียบสายและนำสายลงใต้ดิน ทำให้โอเปอเรเตอร์มีการเช่าโครงข่ายของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อทดแทนการลงทุนสร้างเครือข่ายใหม่เองของโอเปอเรเตอร์ โดยเร็วๆ นี้บริษัทคาดว่าจะได้เซ็นสัญญากับลูกค้ารายใหญ่เข้ามาเพิ่ม ซึ่งเป็นงานที่รอมานานใช้เวลาติดตามมาหลายปี โดยจะทำให้มูลค่างานที่มีในมือ (Backlog) จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
“ที่ผ่านมา ALT ได้มีการลงทุนมูลค่าสูงมากในการวางโครงข่ายพื้นฐานรองรับการขยายตัวของธุรกิจในอนาคต และก็ได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว เราจึงเชื่อมั่นว่าในปีนี้ จะเป็นปีที่ดี ปีแห่งการเก็บเกี่ยว”
นางปรีญาภรณ์ กล่าว
นางปรีญาภรณ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทได้มีการลงทุนค่อนข้างมากในการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม มาสู่โครงสร้างพื้นฐานของธุรกิจดิจิทัล-พลังงานทดแทน เพื่อสร้าง New S-curve และปีนี้ก็จะเริ่มมีการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการลงทุน ทั้งในส่วนของสถานีชายฝั่งเชื่อมต่อเคเบิลใต้น้ำ, ธุรกิจเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ธุรกิจแพลตฟอร์มอัจฉริยะ, ธุรกิจพลังงานอัจฉริยะ (Smart Grid & Smart Energy)
นอกจากนี้ นโยบายของภาครัฐที่ต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเป็น ASEAN Digital Hub ซึ่งมีโอกาสสูงมาก โดยเฉพาะจากการดำเนินนโยบาย EEC ให้สิทธิประโยชน์การลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึงความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ที่ไทยอยู่จุดกึ่งกลางมากที่สุดในการเชื่อมตะวันออกและตะวันตกจากยุโรปไปญี่ปุ่น มีพื้นที่ติดต่อชายแดนหลายประเทศ สามารถวางโครงข่ายโทรคมนาคมเชื่อมต่อไปยังประเทศที่เป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่สำคัญของโลกและเชื่อมต่อโดยตรงไปยังภูมิภาคอื่นๆ
ประกอบกับประเทศสิงคโปร์มีปัญหาเรื่องไฟฟ้าไม่พอใช้ ทำให้บริษัทผู้ให้บริการด้านข้อมูลและธุรกิจออนไลน์รายใหญ่ (Hyperscaler) ต้องหาที่ลงทุนตั้งฐานข้อมูลสำรอง โดย Hyperscaler รายใหญ่ของโลก 4 รายให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในไทย และมี 1 รายเลือกใช้โครงข่ายของ ALT ส่วนรายที่ 2 กำลังเจรจาคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งแต่ละบริษัทจะสร้างรายได้ให้มากกว่า 1,000 ล้านบาท สำหรับสัญญาระยะยาว 15 ปี
ขณะเดียวกัน จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคในประเทศได้เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ ประเทศไทยมีการใช้โซเชียลมีเดียสูงที่สุดในภาคธุรกิจตื่นตัวนำเทคโนโลยีดิจิทัล ที่สมัยใหม่เข้าไปเปลี่ยนโฉมการดำเนินธุรกิจ เพื่อหาโอกาสจากตัวขับเคลื่อนใหม่ ๆ (New growth driver) แต่กว่าจะมาเป็นออนไลน์ ดิจิทัล และแพลตฟอร์ได้ จะต้องมีโครงสร้างพื้นฐานของโทรคมนาคม ซึ่งการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม ALT ถือว่าได้รับประโยชน์โดยตรงกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
นางปรีญาภรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบัน บริษัทมี Backlog ในมืออยู่ที่ประมาณ 1,300-1,400 ล้านบาท จากสิ้นปี 64 ที่มี Backlog อยู่ที่ 1,307.90 ล้านบาท แม้ว่าในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.65 บริษัทจะมีการทยอยรับรู้รายได้ไปบ้างแล้วบางส่วน แต่ช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ก็ยังได้รับสัญญางานใหม่เข้ามาเพิ่มอีกกว่า 100 ล้านบาท และคาดว่าโครงการ Submarine Cable จะมีการให้บริการและรับรู้รายได้ในช่วงไตรมาส 2/65 เป็นไตรมาสแรกอีกด้วย
ด้านธุรกิจการจำหน่ายและติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Rooftop) ได้รับกระแสตอบรับที่ดีมาก ทั้งจากลูกค้าที่เป็นธุรกิจเอสเอ็มอี และกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลางในการติดตั้ง Solar Rooftop สัญญาในรูปแบบ Private PPA เข้ามาเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในเดือน ม.ค. และ ก.พ.65 เพิ่มมาอีก 1.7 เมกกะวัตต์ และ 1.9 เมกกะวัตต์ ตามลำดับ จากสิ้นปี 64 ที่มี 250 กิโลวัตต์ (KWp)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 มี.ค. 65)
Tags: ALT, Solar Rooftop, ปรีญาภรณ์ ตั้งเผ่าศักดิ์, หุ้นไทย, เอแอลที เทเลคอม