นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร ครั้งที่ 1/2565 โดยที่ประชุมได้พิจารณาการกำหนดให้ตลาดกลางเป็น “กิจการต่อเนื่องอื่นที่เกี่ยวกับสินค้าเกษตรตามที่คณะกรรมการกำหนด” ตามบทนิยามคำว่า “ผู้ผลิต” (2) ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ.2551 และเห็นชอบให้ มกอช. เริ่มดำเนินการกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรเกี่ยวกับตลาดกลางสินค้าเกษตร และเสนอคณะกรรมการเพื่อขอแต่งตั้งคณะกรรมการวิชาการต่อไป
นอกจากนี้ ยังได้พิจารณาเห็นชอบร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร 5 เรื่อง ได้แก่
- หัวพันธุ์มันฝรั่ง
- ข้าวยั่งยืน
- การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชงอกและพืชต้นอ่อน
- หลักปฏิบัติสำหรับการป้องกันและลดการปนเปื้อนโอคราทอกซิน เอ ในเมล็ดโกโก้ และ
- การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสัตว์ปีกแบบเลี้ยงปล่อย
เพื่อดำเนินการประกาศเป็นมาตรฐานทั่วไปของประเทศต่อไป
ด้านนายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวถึงสาระสำคัญของร่างมาตรฐาน 5 เรื่อง ดังนี้
1. หัวพันธุ์มันฝรั่ง ปัจจุบันหัวพันธุ์มันฝรั่ง ผลิตเองในประเทศมีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงต้องนำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่งจากต่างประเทศ โดยในปี 64 ไทยนำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่ง จำนวน 7,099,072 กก. คิดเป็นมูลค่า 207,361,418 บาท ซึ่งการนำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่งจากต่างประเทศส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูง อีกทั้งอาจมีโรคและแมลงติดมากับหัวพันธุ์มันฝรั่งได้
กระทรวงเกษตรฯ จึงได้สนับสนุนให้กรมวิชาการเกษตร ศึกษาแนวทางผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งคุณภาพ เพื่อทดแทนการนำเข้า และส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งที่มีคุณภาพเหมาะสำหรับนำไปขยายพันธุ์ได้เอง ดังนั้น มกอช. จึงได้จัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องหัวพันธุ์มันฝรั่งขึ้น โดยครอบคลุมเฉพาะหัวพันธุ์มันฝรั่งที่ผลิตในประเทศเท่านั้น เนื่องจากคุณภาพของหัวพันธุ์มันฝรั่งที่ผลิตในแต่ละประเทศจะแตกต่างกันไปตามสภาพอากาศ ชนิดของศัตรูพืช และการจัดการของประเทศนั้นๆ
2. ข้าวยั่งยืน ข้าวเป็นสินค้าเกษตรที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ปี 64 มีเนื้อที่เพาะปลูกข้าวนาปี 62.599 ล้านไร่ ผลผลิต 26.019 ล้านตัน เนื้อที่เพาะปลูกข้าวนาปรัง 8.442 ล้านไร่ ผลผลิต 4.996 ล้านตัน มีการส่งออก ประมาณ 6.117 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 1.078 แสนล้านบาท
กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายส่งเสริมการเกษตรที่ยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มาตรฐานสินค้าเกษตรนี้ ได้กำหนดเกี่ยวกับการจัดการฟาร์ม การเตรียมการก่อนปลูก การใช้น้ำ การจัดการธาตุอาหาร การจัดการศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว สุขภาพและความปลอดภัยของบุคลากรสิทธิแรงงานในฟาร์ม การแปรสภาพข้าวเปลือกเป็นสินค้าข้าว และการแสดงฉลากและการกล่าวอ้างของข้าวเปลือกและสินค้าข้าว เพื่อให้เกิดความปลอดภัยด้านอาหารและการพัฒนาการผลิตที่ยั่งยืน รวมทั้งครอบคลุมข้าวเปลือก และสินค้าข้าวประเภทข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง และข้าวขาวที่ได้จากระบบการผลิตข้าวยั่งยืน
3. การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชงอกและพืชต้นอ่อน ซึ่งเป็นพืชที่นิยมบริโภค เช่น ถั่งงอก ต้นอ่อนทานตะวัน ต้นอ่อนผักบุ้ง จากความเชื่อว่าเป็นพืชที่ปลอดสารพิษ มีเอนไซม์ที่ช่วยในการต้านอนุมูลอิสระ มีวิตามินและสารอาหารสูงกว่าพืชชนิดเดียวกันที่เจริญเต็มที่แล้ว แต่มักพบปัญหาที่โรคพืชที่เกิดจากความชื้นที่ไม่เหมาะสม ขึ้นรา รากเน่า ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพ และปนเปื้อนจุลินทรีย์ก่อโรค Salmonella, E. coli, Listeria ทำให้เกิดปัญหาด้านความปลอดภัย
ดังนั้น มกอช. จึงเห็นควรกำหนดมาตรฐาน GAP พืชงอกและพืชต้นอ่อน เพื่อส่งเสริมการผลิตพืชงอกและพืชต้นอ่อนที่มีความปลอดภัย และมีคุณภาพ ตั้งแต่การเตรียมเมล็ดพันธุ์ การเพาะ การเก็บเกี่ยว การจัดเตรียมก่อนการบรรจุ การบรรจุ จนถึงการเก็บรักษาเพื่อรอการจำหน่าย เพื่อให้ได้พืชงอกและพืชต้นอ่อนที่ปลอดภัย มีคุณภาพเหมาะสมสำหรับการบริโภค
4. หลักปฏิบัติสำหรับการป้องกันและลดการปนเปื้อนโอคราทอกซิน เอ ในเมล็ดโกโก้ ในปี 64 (ม.ค.-พ.ย. 64) ประเทศไทยส่งออกเมล็ดโกโก้ (ทั้งเมล็ดหรือที่แตก ดิบหรือคั่ว) ปริมาณ 5,411 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 1,167,720 บาท และมีการนำเข้าปริมาณ 18,435 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 3,499,588 บาท ทั้งนี้ มาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ Codex ได้กำหนดมาตรฐาน Code of Practice for the Prevention and Reduction of Ochratoxin A contamination in cocoa (CAC/RCP 72-2013) เพื่อเป็นข้อแนะนำการปฏิบัติเพื่อป้องกันและลดการปนเปื้อนโอคราทอกซิน เอ ในเมล็ดโกโก้
ดังนั้น มกอช. จึงได้ดำเนินการจัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตรที่เกี่ยวข้องกับการผลิตโกโก้ เพื่อรองรับแผนการส่งเสริมการปลูกโกโก้ในอนาคต เพื่อให้ได้ผลผลิตและผลิตภัณฑ์โกโก้ที่ได้มีคุณภาพตรงกับความต้องการของตลาด และลดการปนเปื้อนสารโอคราทอกซิน เอ
5. การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสัตว์ปีกแบบเลี้ยงปล่อย การเลี้ยงสัตว์ปีกแบบปล่อยจำเป็นต้องมีแนวทางที่ชัดเจนเพื่อรองรับการขยายตัวของตลาด การพัฒนาการจัดการฟาร์มให้ได้มาตรฐาน เพิ่มขีดความสามารถด้านการผลิตและสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค
ทั้งนี้ มาตรฐานสินค้าเกษตร กำหนดเกณฑ์การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสัตว์ปีกที่เลี้ยงไว้ผลิตเนื้อหรือไข่เพื่อการค้า เช่น ไก่ เป็ด ไก่งวง นกกระทา นกกระจอกเทศ ห่าน แบบเลี้ยงปล่อย ครอบคลุมข้อกำหนด องค์ประกอบฟาร์ม การจัดการการเลี้ยง การจัดการไข่สัตว์ปีก การทำความสะอาดและบำรุงรักษา บุคลากร สุขภาพสัตว์ สวัสดิภาพสัตว์ สิ่งแวดล้อม และการบันทึกข้อมูล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สัตว์ปีก มีอิสระในการแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ มีสุขภาพแข็งแรง และได้ผลิตผลที่มีคุณภาพในการนำไปใช้ผลิตเป็นอาหารที่ปลอดภัยต่อการบริโภค
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 มี.ค. 65)
Tags: ประภัตร โพธสุธน, พิศาล พงศาพิชณ์, มาตรฐานสินค้าเกษตร, สินค้าเกษตร