ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) เปิดเผยว่า โควิด-19 ส่งผลให้ประชาชน 4.7 ล้านคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ในภาวะยากจนขั้นรุนแรงในปี 2564 เนื่องจากงานหายไป 9.3 ล้านตำแหน่ง เมื่อเทียบกับสถานการณ์พื้นฐานที่ไม่มีโควิด-19
สำนักข่าวซินหัวรายงานข้อมูลของ ADB ซึ่งระบุว่า ภูมิภาคดังกล่าวเริ่มฟื้นตัวจากโควิด โดยคาดว่าเศรษฐกิจจะโตขึ้นเป็น 5.1% ในปีนี้ เนื่องจากประชากรเกือบ 60% ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว ทำให้หลายแห่งกลับมาเปิดประเทศได้อีกครั้ง
อย่างไรก็ดี สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ยังคงเปราะบาง และหลายครัวเรือนยังคงสูญเสียรายได้มหาศาล
นายมาซาสึกุ อาซากาวะ ประธาน ADB กล่าวว่า “โควิดทำให้เกิดการว่างงานในวงกว้าง ความเหลื่อมล้ำที่เลวร้ายลง และความยากจนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิง คนงานวัยหนุ่มสาว และผู้สูงอายุในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
ทั้งนี้ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ แรงงานไร้ฝีมือและผู้ที่ทำงานในธุรกิจค้าปลีกและเศรษฐกิจนอกระบบ ตลอดจนธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่ได้ดำเนินการทางออนไลน์
รายงานของ ADB เรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ จัดสรรทรัพยากรเพิ่มเติมเพื่อช่วยให้ระบบสาธารณสุขดูแลรักษาประชาชน ยกระดับการเฝ้าระวังโรค และรับมือกับโรคระบาดในอนาคต โดยการเติบโตทางเศรษฐกิจอาจเพิ่มขึ้น 1.5 จุดเปอร์เซ็นต์ หากงบใช้จ่ายด้านสุขภาพในภูมิภาคนี้แตะระดับ 5% ของ GDP
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 มี.ค. 65)
Tags: ADB, ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้