นายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้ช่วยผู้จัดการสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตลท.ได้ออกประกาศเกณฑ์การจดทะเบียนและการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVEx) แล้ว ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 31 มี.ค.นี้
หลักเกณฑ์ดังกล่าว ได้กำหนดคุณสมบัติผู้ที่ต้องการเข้ามาจดทะเบียนฯ ใน LiVEx ได้แก่
- สถานะต้องเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่ผิดกฎหมาย และได้รับอนุญาตเสนอขายหุ้นจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งจะคล้ายกันกับบริษัทจดทะเบียนในตลาด SET และ mai, กรรมการและผู้บริหารต้องไม่มีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจ และผู้บริหารผ่านหลักสูตรเตรียมความพร้อมในการเข้าตลาดทุน
- ไม่มีการกำหนดทุนชำระแล้ว ซึ่งจะแตกต่างจาก SET ที่จะต้องมีทุนชำระแล้วมากกว่า 300 ล้านบาท และ mai ที่จะต้องมีทุนชำระแล้วมากกว่า 50 ล้านบาท
- ต้องเป็น SMEs ขนาดกลางขึ้นไปตามนิยามของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และ Startups ต้องมี VC/PE ร่วมลงทุน
- การยื่นคำขอและเสนอขายหุ้น ไม่จำเป็นต้องมีที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) โดยเสนอขายกับผู้ลงทุนตามประเภทที่สำนักงาน ก.ล.ต.กำหนด
- มูลค่าการระดมทุน 10-500 ล้านบาท และต้องระดมทุนได้ไม่ต่ำกว่า 80% ของมูลค่าระดมทุนที่ตั้งไว้
- กำหนดระยะเวลาห้ามขายหุ้น 3 ปี จำนวน 55% สำหรับ Startegic Shareholders และทยอยขายได้ 20% เมื่อครบ 1 ปี และหลังจากนั้นทุกๆ 6 เดือน
สำหรับประเภทผู้ลงทุนใน LiVEx ประกอบด้วย
- ผู้ลงทุนสถาบัน นิติบุคคลร่วมลงทุน กิจการเงินร่วมลงทุน
- ผู้ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการลงทุน เช่น ผู้จัดการกองทุน นักวิเคราะห์การลงทุน และ Angel Investor
- บุคคลที่มีความสัมพันธ์กับบริษัท เช่น กรรมการ ผู้บริหาร พนักงงาน ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ บริษัทย่อยและบริษัทร่วม
- ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ หรือ ผู้ลงทุนรายใหญ่ ซึ่งมีคุณสมบัติเกี่ยวกับความรู้หรือประสบการณ์และฐานะการเงิน
ทั้งนี้ ผู้ลงทุนจะต้องมีความรู้หรือประสบการณ์ (อย่างใดอย่างหนึ่ง) คือ
- ประสบการณ์การลงทุนย้อนหลังในสินทรัพย์เสี่ยง ประสบการณ์การทำงานด้านการบริหารการเงินและการลงทุน ความรู้ความเข้าใจในหลักทรัพย์ที่ลงทุนอย่างเพียงพอ และผู้แนะนำการลงทุน หรือวางแผนการลงทุนที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. หรือได้รับวุฒิบัตรหลักสูตรที่ก.ล.ต.ยอมรับ
- ฐานะทางการเงิน (อย่างใดอย่างหนึ่ง) เช่น สินทรัพย์สุทธิ ไม่น้อยกว่า 30 ล้านบาท รายได้ต่อปี ไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท และ เงินลงทุนไม่น้อยกว่า 8 ล้านบาท หรือไม่น้อยกว่า 15 ล้านบาทในกรณีที่นับรวมเงินฝาก
ขณะที่การซื้อขายหลักทรัพย์ใน LiVEx จะต้องผ่านบริษัทหลักทรัพย์ เฉพาะประเภทผู้ลงทุนที่กำหนดโดย ก.ล.ต. (บริษัทหลักทรัพย์มีหน้าที่ KYC ผู้ลงทุน) แยกระบบซื้อขายจากการซื้อขายหลักทรัพย์ใน SET และ mai โดยบัญชีซื้อขายแบบ Prepaid (มีหุ้นและเงินเพียงพอสำหรับการซื้อขาย), ไม่อนุญาตให้ขายชอร์ต
ด้านวิธีการซื้อขายแบบ Auction ด้วยวิธีจับคู่อัตโนมัติวันละ 1 รอบ และแบบ Trade Report ตั้งแต่ 9.30-11.00 น. ไม่ให้มีการซื้อขายผ่านระบบ Direct Market Access หรือ Algorithmic Trading ชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ แบบ Gross settlement ภายในวันที่มีการซื้อขาย
นอกจากนี้ ยังไม่มีการกำหนด Ceilling & Floor และ Circuit Breaker โดยตลท.อาจสั่งหยุดพักการซื้อขายชั่วคราว (ขึ้นเครื่องหมาย SP) กรณีมีเหตุทำให้การซื้อขายไม่อาจทำได้โดยปกติ หรือเมื่อบริษัทจดทะเบียนร้องขอกรณีการย้ายตลาดไป SET หรือ mai
นายประพันธ์ กล่าวว่า ปัจจุบัน ตลท.อยู่ระหว่างหารือกับบริษัท SMEs และ Startups อยู่ 3 รายที่มีความพร้อมที่จะเข้ามาระดมทุนและนำหุ้นเข้าซื้อขายใน LiVEx ในปีนี้ ซึ่งประกอบธุรกิจด้านเฮลท์แคร์เทคโนโลยี ธุรกิจอาหาร และไอทีเทคโนโลยี เป็นต้น เบื้องต้นคาดว่าจะมีเม็ดเงินระดมทุนหลัก 100 ล้านบาท น่าจะเริ่มทยอยยื่นไฟลิ่งได้ในช่วงไตรมาส 2/65 และเข้ามาซื้อขายได้ในช่วงไตรมาส 3/65
ตลท.ยืนยันว่ามีความพร้อมอย่างมากในการรองรับการซื้อขายในกระดาน LiVEx เนื่องจากคาดว่าจะมีนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ราว 10 โบรกเกอร์ที่พร้อมเข้ามาซื้อขายในตลาดฯ ในการเปิดให้ลงทุนวันแรก แม้ปัจจุบันยังมีไม่เพียงพอ แต่หากในอนาคต กระดาน LiVEx ไปได้ดี ตลท.ก็มีแผนที่จะจัดตั้งกองทุน ซึ่งจะเป็นกองทุนที่มีความรู้ความเข้าใจ เพื่อเป็นช่องทางให้นักผู้ลงทุนรายย่อยสามารถเข้ามาลงทุนในหุ้น SMEs และ Startups ได้ แต่จะเป็นการซื้อผ่านกองทุนโดยมีผู้เชี่ยวชาญมาช่วยบริหารจัดการให้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 มี.ค. 65)
Tags: LiVEx, mai, SET, ตลท., ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, ประพันธ์ เจริญประวัติ, หุ้นไทย