นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการที่ราชพัสดุ มีมติเห็นชอบรับรองผลการประมูลโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ครั้งที่ 2 ซึ่งมี บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูล
โดยหลังจากนี้ กรมธนารักษ์จะเข้าไปพิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติ เพื่อให้เป็นไปตามข้อสัญญาต่าง ๆ และคาดว่าภายใน 3-4 เดือนหลังจากนี้ กรมธนารักษ์จะสามารถเซ็นสัญญากับบริษัทผู้ชนะการประมูลได้
“กรมธนารักษ์ ยืนยันว่าได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดกฎหมายที่ราชพัสดุอย่างครบถ้วน 100% และยืนยันว่าได้ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย พร้อมทั้งดำเนินการตามขั้นตอน โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของรัฐเป็นที่ตั้ง เพื่อรักษาการกระจายน้ำให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง และยืนยันว่าการประมูลครั้งที่ 2 ได้ต่อสู้กันในเรื่องผลประโยชน์ให้รัฐเป็นหลัก ซึ่งมีบริษัทเข้าร่วมประมูลหลายราย ทั้งรายเก่า และผู้ชนะรายใหม่ ซึ่งคณะกรรมการฯ มีหน้าที่เพียงพิจารณารับรองผลตามที่กรมธนารักษ์เสนอ ไม่ได้รับทราบ หรืออะไรกับใครด้วยเลยว่าใครจะชนะการประมูล”
นายสันติกล่าว
ทั้งนี้ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ได้เสนอให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่ภาครัฐสูงสุดที่ 2.56 หมื่นล้านบาท ตลอดระยะเวลาสัญญา 30 ปี หรือคิดเป็น 27% ของค่าน้ำที่บริษัทผู้ถือสัมปทานขายให้เอกชนที่ 10.98 บาท/หน่วย ซึ่งสูงกว่าผู้ชนะอันดับ 2 คือ บมจ. จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (EASTW) ที่เสนอให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่ภาครัฐสูงสุดที่ 2.42 หมื่นล้านบาท ตลอดระยะเวลาสัญญา 30 ปี ภายใต้ปริมาณน้ำต่อปีที่ 140 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่ากัน
นอกจากนี้ กรมธนารักษ์ ได้รายงานถึงตัวเลขผลประโยชน์ตอบแทนแก่ภาครัฐ ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่ปี 2537-ปัจจุบัน) ซึ่ง EASTW เป็นผู้ได้รับสัมปทาน ได้ส่งเงินเข้ารัฐเป็นค่าผลประโยชน์ประมาณ 552 ล้านบาท และสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดอายุลงในปี 2566
นายสันติ กล่าวอีกว่า การเปิดประมูลก่อนสิ้นสุดอายุสัมปทานในปี 2566 นั้น กฎหมายระบุว่าสามารถทำได้ แม้ว่าการเปิดประมูลครั้งที่ 1 จะต้องยกเลิกไป เนื่องจาก TOR ไม่สมบูรณ์ แต่ก็สามารถดำเนินการใหม่ตามข้อกฎหมายจนได้ผู้ชนะในการประมูลครั้งที่ 2 ในที่สุด ซึ่งเรื่องนี้จำเป็นต้องทำล่วงหน้า เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา
ทั้งนี้ ก่อนการประชุม EASTW ได้ยื่นหนังสือซึ่งเป็นการตั้งข้อสังเกต เพื่อขอความเป็นธรรมจากการยกเลิกประมูลครั้งที่ 1 ซึ่งที่ประชุมได้รับทราบถึงรายละเอียดของหนังสือดังกล่าว และยืนยันว่าคณะกรรมการได้มีการพิจารณาทุกอย่างอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะการยกเลิกการประมูลครั้งที่ 1 ที่ทำถูกต้องตามกฎหมาย และศาลปกครองระบุว่าเป็นอำนาจหน้าที่ที่สามารถดำเนินการได้
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ไม่ชนะการประมูลสามารถฟ้องร้องได้ เพราะถือว่าเป็นสิทธิ และกฎหมายปัจจุบันก็เปิดช่องให้สามารถดำเนินการได้ แต่กรมธนารักษ์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ จะต้องดำเนินการและดูแลผลประโยชน์ของทางราชการ ผลประโยชน์ของเศรษฐกิจเป็นหลัก
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 มี.ค. 65)
Tags: กรมธนารักษ์, ที่ราชพัสดุ, วงษ์สยามก่อสร้าง, สันติ พร้อมพัฒน์