นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการกลายพันธุ์โควิด-19 สายพันธุ์ย่อย BA.2.2 ที่พบมากในฮ่องกงว่า สายพันธุ์ย่อยนี้ยังไม่ถูกกำหนด (Assigned) ให้ใช้ เนื่องจากยังมีข้อมูลไม่เพียงพอว่ามีการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่งใด ซึ่งคาดว่าในอีก 1-2 วัน GISAID อาจจะกำหนดได้ โดยปัจจุบันสายพันธุ์ย่อยนี้พบหลักๆ ที่ฮ่องกง 386 ราย และสหราชอาณาจักร 289 ราย
ซึ่งในกรณีฮ่องกง รายงานข่าวว่า อัตราการเสียชีวิตที่สูงขึ้นในฮ่องกงนั้น เกิดจากโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2.2 ซึ่งถือว่าเร็วเกินไปที่จะสรุปเช่นนี้ เนื่องจากเหตุการณ์การเสียชีวิตในวันนี้ คือการติดเชื้อในช่วง 7-8 วันก่อน หรือนานถึง 1 เดือนก่อน จึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่าอัตราเสียชีวิตที่สูงขึ้นเกิดจาก BA.2.2
ทั้งนี้ การกลายพันธุ์สามารถเกิดขึ้นได้บ่อย เพียงแต่ว่าการกลายพันธุ์นั้นจะส่งผลให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง เช่น แพร่เร็วขึ้น รุนแรงขึ้น และสามารถหลบภูมิได้หรือไม่
จากการจำแนกเฝ้าระวังสายพันธุ์ในประเทศไทย ตั้งแต่เปิดประเทศในเดือนพ.ย. 64 พบเป็นสายพันธุ์โอมิครอนแล้ว 99.7% โดยในประเทศไทยพบสายพันธุ์ย่อย BA.1 และ BA.2 ทั้งนี้ มีสัดส่วนของ BA.2 เพิ่มขึ้นมากเรื่อยๆ โดยพบการแพร่ระบาดทั้งหมด 67% เนื่องจาก BA.2 มีความสามารถในการแพร่รระบาดได้เร็วกว่า BA.1 มากกว่า 1.4 เท่า
สำหรับประเทศไทยมีการตรวจโดยการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสทั้งตัวประมาณ 500-600 รายต่อสัปดาห์ ขณะนี้พบ 4 ราย ที่มีโอกาสเป็นสายพันธุ์ BA.2.2 โดยเป็นต่างชาติ 1 ราย และคนไทย 3 ราย แต่รายละเอียดต่างๆ ยังอยู่ในระหว่างการวิเคราะห์ อย่างไรก็ตาม จากการติดตามความสามารถในการแพร่เชื้อ ความรุนแรง หรือความสามารถในการหลบภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อหรือวัคซีน ยังไม่พบสัญญาณที่น่ากังวล
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า กรมวิทย์ฯ ระวังทุกสายพันธุ์ของเชื้อก่อโรคโควิดอย่างต่อเนื่อง ทั้งวิธีตรวจเฉพาะจุดกลายพันธุ์ และตรวจลำดับเบสทั้งตัว ถ้ามีความจำเป็น เช่นมีปรากฎการณ์ว่าสายพันธุ์ย่อยมีความรุนแรงมากขึ้น ก็จะตรวจหาแยกสายพันธุ์ย่อย ในส่วนกรณีฮ่องกงที่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นนั้น อาจมีเตียงรองรับไม่เพียงพอ โดยที่ไม่เกี่ยวอะไรกับเชื้อก็เป็นได้ ดังนั้น ยังไม่ต้องกังวลเรื่อง BA.2.2 โดยกรมวิทย์ฯ จะติดตามเฝ้าระวังเรื่องนี้ และจะนำข้อมูลมาแจ้งให้ประชาชนทราบต่อไป
“อยากให้ประชาชนมั่นใจว่า กรมวิทย์ฯ มีการตรวจหาสายพันธุ์ที่ได้มาตรฐาน และมีการอัพโหลดบนฐานข้อมูล GISAID อยู่สม่ำเสมอ ดังนั้น หากมีสายพันธุ์ใหม่ หรือมีสิ่งผิดปกติ กรมวิทย์ฯ ก็จะสามารถพบได้อย่างแน่นอน”
นพ.ศุภกิจ กล่าว
อย่างไรก็ดี สายพันธุ์เดลตาที่เคยเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดทั่วโลก พบสายพันธุ์ย่อยมากกว่า 130 สายพันธุ์ ซึ่งแทบไม่มีความแตกต่างของลักษณะทางการระบาดวิทยา ขณะเดียวกันจากการติดตามสายพันธุ์ย่อยทั้งอัลฟา เดลตา และโอมิครอน ก็ยังไม่พบสายพันธุ์ย่อยที่มีความน่ากังวลเป็นพิเศษ ไปกว่าสายพันธุ์น่ากังวลที่พบเป็นสายพันธุ์แรก
ดังนั้น การเสียชีวิตไม่สามารถนำมาใช้ประเมินความรุนแรงของแต่ละสายพันธุ์ได้โดยตรง ส่วนสายพันธุ์ที่น่ากังวล มักจะมีลักษณะทางระบาดวิทยาที่ชัดเจน คือ แพร่ได้รวดเร็ว และหลีกหนีวัคซีน หรือภูมิจากการติดเชื้อครั้งก่อนได้ดี ซึ่งสำหรับสายพันธุ์ที่คาดว่าจะเรียกว่า BA.2.2 นี้ ไม่เข้าลักษณะน่ากังวลดังกล่าว
ทั้งนี้ สามารถประเมินสายพันธุ์โอมิครอน (BA.2.2) เบื้องต้น (วันที่ 13 มี.ค. 65) ได้ดังนี้
1. ความสามารถในการแพร่ (transmission) จากข้อมูลทางระบาดวิทยาไม่มีข้อมูลว่าแพร่เชื้อได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์อื่น
2. ความรุนแรงของโรค ไม่มีข้อมูลว่าอัตราป่วยและอัตราตายสูงกว่าสายพันธุ์อื่นๆ และไม่มีข้อมูลทางระบาดวิทยามาสนับสนุนว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนที่มีการกลายพันธุ์ S:I1221T มีอาการรุนแรงกว่าสายพันธุ์โอมิครอนอื่นๆ
3. ผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีน ไม่มีข้อมูลว่าการกลายพันธุ์ S.I1221T มีผลให้ประสิทธิภาพวัคซีนลดลง หรือหลีกหนีวัคซีนได้มากกว่าสายพันธุ์โอมิครอนสายพันธุ์อื่นๆ
4. ระยะฟักตัวและระยะเวลา Quarantine ยังไม่มีข้อมูล อย่างไรก็ดี การกลายพันธุ์นี้ไม่ควรส่งผลต่อการฟักตัว หรือระยะแพร่เชื้อของสายพันธุ์นี้
ดังนั้น สามารถสรุปได้ว่า สายพันธุ์ย่อย BA.2.2 ยังไม่ถูกประเมินให้เป็นสายพันธุ์น่ากังวล หรือเป็นสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวังจากข้อมูลที่มีในปัจจุบัน โดยปัจจุบันยังไม่มีการพิจารณาจากองค์กรควบคุมโรคใด ที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับสายพันธุ์ BA.2.2 เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะประเมินความสามารถในการแพร่กระจาย ความรุนแรงของโรค หรือการหลีกหนีวัคซีน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 มี.ค. 65)
Tags: COVID-19, lifestyle, กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, กระทรวงสาธารณสุข, ศุภกิจ ศิริลักษณ์, โควิด-19, โอมิครอน