ทริสฯ คงเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ PTTEP ที่ AAA, หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนที่ AA แนวโน้ม Stable

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บมจ. ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หรือ ปตท.สผ. ที่ระดับ “AAA” พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนของบริษัทที่ระดับ “AA” ทั้งนี้ หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนซึ่งมีอันดับเครดิตต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรของ PTTEP อยู่ 2 ขั้นนั้นสะท้อนถึงลักษณะการด้อยสิทธิและความเสี่ยงที่ผู้ถือตราสารอาจถูกเลื่อนการชำระดอกเบี้ยตราสารดังกล่าวออกไปได้ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคงแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” ของบริษัทด้วยเช่นกัน

อันดับเครดิตของ PTTEP ยังคงสะท้อนถึงสถานะผู้นำในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยของบริษัท ตลอดจนความเสี่ยงด้านการตลาดที่ต่ำเนื่องจากบริษัทมีสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติระยะยาวกับ บมจ.ปตท. (PTT) รวมถึงการมีต้นทุนในการผลิตที่ต่ำ นโยบายทางการเงินที่ระมัดระวัง และสถานะการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัท

อันดับเครดิต “AAA” ยังได้สะท้อนถึงอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัท (Stand-alone Credit Profile—SACP) ซึ่งอยู่ที่ระดับ “aaa” และสถานะของบริษัทที่เป็นบริษัทย่อยหลักของ PTT ตามมุมมองของทริสเรทติ้งอีกด้วย

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

– เป็นผู้นำในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย PTTEP เป็นผู้ดำเนินธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยซึ่งดำเนินธุรกิจจัดหาปิโตรเลียมโดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซธรรมชาติทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้พลังงานของประเทศ

ณ สิ้นปี 2564 บริษัทมีปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่พิสูจน์แล้วที่ระดับ 1,350 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ซึ่งคิดเป็นอายุปริมาณสำรอง (Reserve Life) ที่ประมาณ 7.5 ปี โดยประมาณ 45% ของปริมาณสำรองปิโตรเลียมนั้นอยู่ในประเทศไทยและส่วนที่เหลืออีก 55% กระจายอยู่ใน 14 ประเทศทั้งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตะวันออกกลาง และแอฟริกา บริษัทมีปริมาณการขายเฉลี่ยในปี 2564 อยู่ที่ 416 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน โดยที่ประมาณ 65%-70% เป็นการจำหน่ายเพื่อตอบสนองต่อความต้องการใช้พลังงานภายในประเทศ

ทริสเรทติ้งมองว่า PTTEP เป็นบริษัทย่อยหลักของ PTT ซึ่งมีสถานะเป็นบริษัทน้ำมันและก๊าซแห่งชาติ โดย PTT ถือหุ้นใน PTTEP ทั้งทางตรงและทางอ้อมรวมกันในสัดส่วน 65.3% โดยทั้ง PTT และ PTTEP ต่างก็มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้กฎหมายของราชอาณาจักรไทย นอกจากนี้ PTT ยังเป็นลูกค้ารายใหญ่ของ PTTEP ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึงประมาณ 70% ของยอดขายรายปีของบริษัทอีกด้วย

ในอีกด้านหนึ่ง PTTEP ยังเป็นส่วนสำคัญในห่วงโซ่อุปทานก๊าซธรรมชาติของ PTT เนื่องจากบริษัทจะจัดส่งก๊าซธรรมชาติส่วนใหญ่ไปยังโรงแยกก๊าซธรรมชาติของ PTT ก่อนที่จะส่งออกไปจำหน่ายให้แก่โรงไฟฟ้า โรงงานปิโตรเคมีและกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมอื่น ๆ ต่อไป ทั้งนี้ ในช่วงปี 2561-2564 กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของ PTT ประมาณ 40%-50% มาจาก PTTEP

– การมีสัดส่วนก๊าซธรรมชาติในปริมาณที่สูงช่วยรักษาเสถียรภาพของรายได้ ผลิตภัณฑ์หลักของ PTTEP คือก๊าซธรรมชาติซึ่งคิดเป็น 70% ของยอดขายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมของบริษัทในช่วงปี 2560-2564 การซื้อขายก๊าซธรรมชาติของบริษัทกระทำภายใต้สัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติระยะยาวซึ่งมีระยะเวลา 15-30 ปี PTTEP มีสัญญาจำหน่ายก๊าซธรรมชาติให้แก่ PTT ในรูปแบบ Take-or-Pay โดยผู้ซื้อจะรับผิดชอบซื้อปริมาณก๊าซธรรมชาติขั้นต่ำต่อปีตามที่ระบุไว้ในสัญญาหรือชำระเงินในจำนวนที่เทียบเท่า ราคาก๊าซธรรมชาติภายใต้สัญญาดังกล่าวกว่า 30% จะอ้างอิงกับราคาน้ำมันเตาโดยมีสูตรการคำนวณที่ทำให้ราคาก๊าซมีการปรับราคาช้ากว่าราคาน้ำมันและสูตรการคำนวณราคายังได้รวมการปรับปรุงค่าความผันผวนของอัตราเงินเฟ้อและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเอาไว้ด้วย ส่วนปิโตรเลียมเหลวนั้นมักจะจำหน่ายที่ราคาตลาดหรือตามราคาในสัญญาซื้อขายระยะสั้นเท่านั้น

ในปี 2564 ราคาน้ำมันดิบดูไบได้พุ่งขึ้นไป 65% อยู่ที่ประมาณ 70 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลเนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการลดลงของผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) โดยราคาขายเฉลี่ยโดยรวมในปี 2564 ของ PTTEP ขยับขึ้น 12% เป็น 43.49 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ในขณะที่ราคาขายปิโตรเลียมเหลวนั้นเพิ่มขึ้นถึง 61% เป็น 66.70 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ อย่างไรก็ตาม ราคาขายก๊าซธรรมชาติกลับปรับลดลง 9% เป็น 5.69 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู (British thermal unit) อันเนื่องมาจากการตอบสนองต่อราคาน้ำมันที่ช้ากว่าตามสูตรการคำนวนราคาก๊าซธรรมชาติ

– ปริมาณสำรองปิโตรเลียมแข็งแกร่งขึ้นและยอดขายกำลังเดิบโต เมื่อเดือนมีนาคม 2564 PTTEP ประสบความสำเร็จในการเข้าซื้อสัดส่วนการลงทุนจำนวน 20% ในโครงการ Oman Block 61 ซึ่งช่วยเสริมสถานะการดำเนินงานให้แก่บริษัทโดยการเพิ่มยอดขายอีกประมาณ 60 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันและเพิ่มอายุปริมาณสำรองปิโตรเลียมให้เพิ่มขึ้นเป็น 7.5 ปีจาก 6.9 ปี เมื่อสิ้นปี 2563 นอกจากนี้ ราคาก๊าซธรรมชาติจากโครงการนี้ยังไม่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของราคาน้ำมันอีกด้วยซึ่งเป็นไปตามโครงสร้างราคาตามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติระยะยาวที่บริษัททำไว้กับรัฐบาลโอมาน

ทริสเรทติ้งคาดว่าปริมาณการขายของ PTTEP จะเพิ่มสูงขึ้นด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ระดับ 4.5%-5% โดยจะอยู่ที่ 520-530 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันในปี 2569 ซึ่งเป็นการเติบโตที่มาจากโครงการในต่างประเทศที่อยู่ในระยะพัฒนาเป็นหลัก อาทิ โครงการในประเทศมาเลเซีย โมซัมบิก และแอลจีเรีย ในขณะที่การเติบโตภายในประเทศจะมาจากการเพิ่มปริมาณการขายในโครงการอาทิตย์ โครงการ G1/61 และโครงการ G2/61 ซึ่งหักล้างกับการยุติการดำเนินโครงการ Contract 3 และโครงการบงกช โดยทริสเรทติ้งคาดว่าสัดส่วนปริมาณการขายจากโครงการในต่างประเทศของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็น 45% ของปริมาณการขายรวมในปี 2569 จากเดิมในปี 2564 ที่ระดับ 36% กลยุทธ์ของ PTTEP ที่จะขยายฐานปริมาณสำรองปิโตรเลียมในต่างประเทศจะช่วยทำให้บริษัทมีแหล่งสำรองที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นรวมทั้งช่วยรักษาสถานะการดำเนินงานในอนาคตของบริษัทและบรรเทาผลกระทบจากการที่แหล่งสำรองก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยกำลังจะหมดไปอีกด้วย

ทริสเรทติ้งยังคาดด้วยว่าสัดส่วนปริมาณการขายของบริษัทจากโครงการในประเทศมาเลเซียจะเพิ่มเป็นประมาณ 18% ในปี 2569 จากระดับ 11% ในปี 2564 โดยโครงการ Block H ซึ่งเริ่มผลิตครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 นั้นได้เพิ่มยอดขายที่ประมาณ 19 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน อีกทั้งบริษัทยังได้มีการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ในโครงการ Sarawak SK410B ด้วยโดยคาดว่าบริษัทจะมีการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้ายในปี 2566

ความล่าช้าในการก่อสร้างโครงการ Mozambique Area 1 ซึ่งทริสเรทติ้งได้นำมาพิจารณารวมไว้ในประมาณการทางการเงินแล้วนั้นจะทำให้ปริมาณการขายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ประมาณ 20-25 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันต้องล่าช้าไปเป็นปลายปี 2568 เมื่อรวมกับโครงการ Algeria HBR ที่พัฒนาเสร็จสมบูรณ์จะทำให้สัดส่วนปริมาณมาณการขายจากโครงการในแอฟริกาเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 30-35 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ซึ่งจะทำให้ยอดขายจากโครงการในแอฟริกาคาดว่าจะถึงระดับ 6%-7% ในปี 2569 การดำเนินงานโครงการ Yadana จะไม่ได้รับผลกระทบจากการถอนตัวของ TotalEnergies SE

PTTEP มีสัดส่วนการลงทุน 25% ในโครงการ Yadana ซึ่งมีปริมาณการขายคิดเป็นประมาณ 2% ของบริษัท โครงการนี้ถือว่าเป็นแหล่งก๊าซที่สำคัญต่อการผลิตไฟฟ้าทั้งในประเทศเมียนมาและภาคตะวันตกของประเทศไทย เมื่อเดือนมกราคม 2565 TotalEnergies SE จากประเทศฝรั่งเศสซึ่งมีสัดส่วนการลงทุน 31% ในโครงการได้ประกาศถอนตัวออกจากโครงการอันเนื่องมาจากข้อกังวลในด้านมนุษยธรรมในประเทศเมียนมาโดยบริษัทดังกล่าวจะยังคงดำเนินงานในโครงการต่อไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2565 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าจะทราบผลการตัดสินใจเกี่ยวกับผู้ดำเนินโครงการรายใหม่ภายในครึ่งแรกของปี 2565 นี้และคาดว่าการดำเนินโครงการจะไม่ได้รับผลกระทบจากการถอนตัวดังกล่าว

– สามารถเข้าพื้นที่โครงการ G1/61 เมื่อเดือนธันวาคม 2564 PTTEP ได้บรรลุข้อตกลงในการเข้าพื้นที่โครงการ G1/61 (แหล่งเอราวัณ) กับผู้รับสัมปทานในพื้นที่รายเดิมได้ในที่สุด โดย PTTEP จะเริ่มเข้ามาเป็นผู้ดำเนินโครงการในเดือนเมษายน 2565 ซึ่งอัตราการผลิตเริ่มต้นของโครงการจะอยู่ที่ประมาณ 425 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และหลังจากนั้นจะทยอยลดลงเป็นที่ประมาณ 250-300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ทั้งนี้ ปตท.สผ. มีแผนจะเร่งเพิ่มกำลังการผลิตให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในสัญญาแบ่งปันผลผลผลิต (PSC) ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันให้ได้ภายใน 2 ปี

ความล่าช้าในการเข้าพื้นที่โครงการ G1/61 จะส่งผลกระทบต่ออัตราการผลิตเพียงชั่วคราวในช่วงระหว่างปี 2565-2566 เท่านั้น อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านของสัมปทานในแหล่งเอราวัณมาที่โครงการ G1/61 จากโครงการ Contract 3 นี้จะทำให้ปริมาณขายในส่วนของ ปตท.สผ. ในปี 2565 เพิ่มขึ้นจากเดิมเนื่องจากบริษัทมีสัดส่วนการลงทุนถึง 60% ในโครงการ G1/61 เมื่อเทียบกับสัดส่วนเงินลงทุนในโครงการ Contract 3 ที่คิดเป็นเพียง 5% เท่านั้น

– สถานะทางการเงินแข็งแกร่ง สภาพคล่องเพียงพอ บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายในปี 2564 เพิ่มขึ้น 32% เป็น 5.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นนี้ช่วยทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทลดลงเหลือ 0.90 เท่าในปี 2564 ซึ่งเป็นผลจากราคาขายที่สูงขึ้น 12% และปริมาณการขายที่เติบโตขึ้น 18% จากการเริ่มผลิตก๊าซในโครงการ Block H รวมทั้งการเข้าลงทุนขนาดใหญ่ในโครงการ Oman Block 61 เป็นสำคัญ อนึ่ง หลังจากการซื้อกิจการขนาดใหญ่ในครั้งนี้ บริษัทยังคงรักษาโครงสร้างเงินทุนให้มีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนไว้ได้ที่ระดับต่ำเพียง 26.79% เท่านั้น

ทริสเรทติ้งประมาณการว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทในปี 2565 จะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 5.6-5.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณการขายปิโตรเลียมของบริษัทและราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศที่กำลังดำเนินอยู่ โดยในช่วงระหว่างปี 2566-2567 นั้น ทริสเรทติ้งประมาณการว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะอ่อนตัวลงมาอยู่ในช่วง 5.0-5.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบที่จะลดลงมาอยู่ที่ 60-65 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2566-2567 โดยคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 1.0 เท่าในปี 2566-2567

สถานะสภาพคล่องของ PTTEP ยังคงแข็งแกร่งจากความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดในธุรกิจและจากการสนับสนุนจากธนาคารโดย ณ เดือนธันวาคม 2564 PTTEP มีแหล่งสภาพคล่องจากเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และวงเงินกู้จากธนาคารที่พร้อมให้เบิกใช้อีกจำนวน 803 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเงินกู้ดังกล่าวจำนวน 579 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นั้นเป็นวงเงินกู้ที่ธนาคารมีภาระผูกพันในการจัดหาให้ตามกำหนดเวลา (Committed Credit Line) นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังประมาณการว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานในปี 2565 ที่ประมาณ 4.3-4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเมื่อรวมกับเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดที่มีอยู่แล้วจะเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายลงทุนตามแผน รวมทั้งการลงทุนในธุรกิจที่ไม่ใช่การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมส่วนเพิ่มจากแผน และการไถ่ถอนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในปี 2565 ซึ่งรวมกันทั้งหมดเป็นประมาณ 4.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

– โครงสร้างหนี้ ณ สิ้นปี 2564 PTTEP มีภาระหนี้รวมในงบการเงินรวมที่จำนวน 3.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (รวมหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน) และมีหนี้ที่มีสิทธิได้รับชำระคืนก่อน (Priority Debt) จำนวน 490 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทย่อย ทั้งนี้ สัดส่วนของหนี้ที่มีสิทธิได้รับชำระคืนก่อนเมื่อเทียบกับหนี้สินรวม (Priority Debt Ratio) ของบริษัทอยู่ที่ระดับประมาณ 13% ณ สิ้นปี 2564

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

– ราคาน้ำมันดิบดูไบจะอยู่ที่ประมาณ 75 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2565 และประมาณ 60-65 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในช่วงปี 2566-2567

– ต้นทุนที่เป็นเงินสดทั้งหมดของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 12-15 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลตลอดระยะเวลาประมาณการในปี 2565-2567

– ในช่วงปี 2565-2567 บริษัทจะมีค่าใช้จ่ายลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 1.16 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงการลงทุนในธุรกิจที่ไม่ใช่การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมส่วนเพิ่มจากแผนมูลค่า 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วย

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่า PTTEP จะยังคงดำรงผลการดำเนินงานและฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งต่อไปได้ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางการตลาดที่ท้าทาย ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งเชื่อว่าความได้เปรียบในด้านต้นทุนของบริษัท รวมถึงสภาพคล่องที่เพียงพอ และความสามารถในการปรับแผนค่าใช้จ่ายลงทุนจะช่วยให้บริษัทสามารถลดผลกระทบจากความผันผวนของอุตสาหกรรมปิโตรเลียมไปได้

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

ปัจจัยด้านลบที่จะมีผลต่ออันดับเครดิตของบริษัทอาจเกิดขึ้นหากราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ในระดับต่ำกว่า 30 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน หรือหากบริษัทมีภาระหนี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการกู้ยืมเพื่อซื้อกิจการขนาดใหญ่ ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงสถานะเครดิตของ PTT หรือความสัมพันธ์ระหว่าง PTT กับ PTTEP ที่ลดน้อยถอยลงก็อาจส่งผลต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 มี.ค. 65)

Tags: , , , , ,
Back to Top