สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษอดีตกรรมการและผู้บริหารของ บมจ.เอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป (ACAP) ในช่วงปี 61-62 จำนวน 2 ราย ได้แก่ นางสาวณิชารดี สุขเจริญไกรศรี (ขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร) และนางสาวพิมพ์วลัญช์ สุวัตถิกุล (ขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งกรรมการและกรรมการบริหาร) กรณีเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทจดทะเบียน กระทำผิดต่อหน้าที่ แสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่น จนเป็นเหตุให้ ACAP ได้รับความเสียหาย และบันทึกบัญชีไม่ถูกต้อง หรือไม่ตรงต่อความเป็นจริง
โดยได้กระทำผิดพร้อมพวก อีก 4 ราย ซึ่งเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างและผู้ควบคุมงานก่อสร้าง ได้แก่ บริษัท ออลไรท์ เฮ้าส์ จำกัด, นางกิ่งกาญจน์ สมิตานนท์, บริษัท ไชอา อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และนายธรายุ ลือเจียงคำ กรณีร่วมกันดำเนินการให้ ACAP ว่าจ้างให้บริษัท ออลไรท์ เฮ้าส์ จำกัด เป็นผู้ก่อสร้างกำแพงกั้นดินและท่อระบายน้ำ และให้บริษัท ไชอา อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้าง ต่อมาพบว่าไม่มีการก่อสร้างจริงตามสัญญา แต่ได้มีการจ่ายเงินค่าก่อสร้างไป ทำให้ ACAP ได้รับความเสียหาย คิดเป็นมูลค่ารวม 27.5 ล้านบาท
การกระทำของอดีตกรรมการและผู้บริหาร ACAP และพวกรวม 6 รายข้างต้น เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 307 มาตรา 311 มาตรา 312 มาตรา 313 และมาตรา 315 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญา แล้วแต่กรณี ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษบุคคลทั้ง 6 ราย ต่อ บก.ปอศ. เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
การถูกกล่าวโทษข้างต้นมีผลให้ผู้ถูกกล่าวโทษเข้าข่ายมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจในการเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน นับตั้งแต่วันที่ถูกกล่าวโทษไปจนตลอดระยะเวลาที่ถูกกล่าวโทษดำเนินคดี ตามประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. ที่ กจ. 3/2560
การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวน การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลพินิจของศาลยุติธรรม ตามลำดับ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 มี.ค. 65)
Tags: ACAP, ก.ล.ต., หุ้นไทย, เอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป