นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากความตึงเครียดวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ตลาดกังวลต่ออุปทานน้ำมันในตลาดโลก จากการคว่ำบาตรธุรกรรมทางการเงิน และบริษัทพลังงานหลายแห่งระงับการลงทุนในรัสเซีย ประกอบกับกลุ่มโอเปกพลัสที่ยังคงเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเพียง 400,000 บาร์เรล/วัน ในแต่ละเดือน ซึ่งหากสถานการณ์ยังคงตึงเครียดต่อไปอาจทำให้เดือนเมษายนนี้ราคาน้ำมันดิบดูไบเกิน 120 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล น้ำมันดีเซล 150 – 170 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่สถานการณ์ราคา LPG ตลาดโลกก็ปรับเพิ่มขึ้นทิศทางเดียวกับราคาน้ำมัน โดยราคาอยู่ที่ 968 เหรียญสหรัฐ/ตัน เช่นเดียวกันกับราคาก๊าซธรรมชาติก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะอุปทานจากรัสเซียที่ไม่แน่นอน
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวถึงแนวทางการบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินด้านราคาน้ำมันว่า กระทรวงพลังงานได้วางแนวทางการบริหารจัดการในแต่สถานการณ์ราคา ตั้งแต่ราคาน้ำมันดิบดูไบที่ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลไปจนถึง 150 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งมีรูปแบบการบริหารจัดการที่แตกต่างกัน โดยกระทรวงพลังงานจะมีแนวทางเพื่อบรรเทาผลกระทบกับประชาชนให้มากที่สุดในแต่ละกรณี
น.ส.นันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวถึงการเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านน้ำมันเชื้อเพลิงหากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนมีความยืดเยื้อและมีเหตุฉุกเฉินที่ส่งสัญญาณว่าอาจจะกระทบกับแผนการจัดหาน้ำมันดิบของประเทศนั้น กรมฯ ได้ประสานผู้ค้าเตรียมพร้อมที่จะประกาศเพิ่มอัตราสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมาย น้ำมันดิบเป็น 5% จากเดิม 4% และน้ำมันสำเร็จรูปเป็น 2% จากเดิม 1% ซึ่งจะช่วยให้มีปริมาณน้ำมันสำรองเพิ่มขึ้นอีก 7 วัน เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะสามารถรักษาเสถียรภาพพลังงานได้ โดยไม่กระทบการดำรงชีพของประชาชน
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สถานการณ์ระหว่างรัสเซียและยูเครนยังไม่กระทบกับการจัดหาพลังงานของไทย เนื่องจากมีการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียเพียง 3% เท่านั้น และยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีปัญหาเรื่องการนำเข้า ปริมาณสำรองตอนนี้มีใช้ไปได้อีกประมาณ 61 วัน ทำให้ไทยมีน้ำมันเพียงพอ ไม่ขาดแคลน
ด้านนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ปตท.(PTT) กล่าวว่า คณะกรรมการบริษัทฯ ได้อนุมัติเก็บน้ำมันสำรองตามกฎหมาย นอกจากนี้ยังได้เพิ่มรับน้ำมันเต็มเรือทุกเที่ยวเรือ รวมทั้งปรับเปลี่ยนการซื้อขายระหว่างระหว่างประเทศเพื่อนำน้ำมันมาเก็บไว้เป็นปริมาณสำรอง
นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ในปี 65 มีการเปลี่ยนผ่านการดำเนินการในแหล่งเอราวัณ-บงกช โดยเปลี่ยระบบจากสัมปทานเป็น PSC ในช่วงรอยต่อ สำหรับแหล่งบงกช ทางบมจ. ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ยังคงทำหน้าที่ตามเดิม ไม่น่ามีปัญหาอะไร ส่วนแหล่งเอราวัณ มีปัญหาการเข้าพื้นที่ ในช่วงเปลี่ยนผ่าน แต่กรมฯ จะมีการจัดหาก๊าซธรรมชาติส่วนเพิ่มจากแห่งที่มีศักยภาพ เช่น แหล่งอาทิตย์ เป็นต้น, การกำกับดูแลผู้รับสัมปทานให้เตรียมพร้อมผลิตก๊าซธรรมชาติเต็มกำลัง, จัดทำสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย และเร่งดำเนินการเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 24 บริเวณอ่าวไทย
สำหรับในวันที่ 23 เม.ย.65 ที่สัมปทานจะสิ้นสุด กรมฯจะมอนิเตอร์ใกล้ชิด มีการตั้งวอร์รูม ร่วมกับผู้รับสัมปทานรายเดิม ผู้รับซื้อ เพื่อตรวจสอบระบบมาตรวัดก่อนการส่งมอบให้กับรายใหม่
นายกุลิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงพลังงานดำเนินมาตรการรับมือปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ลดลงจากการเปลี่ยนผ่านผู้ดำเนินการแหล่งเอราวัณ รวมทั้งการรับมือกรณีผลกระทบจากแหล่งก๊าชในพม่า โดยมีแผนจัดหาก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติม และแก้ปัญหา เช่น การเลื่อนปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะ การเพิ่มรับซื้อไฟชีวมวลชีวภาพ และการเร่งเพิ่มก๊าซจากแหล่งอื่น มีการเพิ่มสัดส่วนดีเซล/น้ำมันเตามาผลิตไฟแทน LNG
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติแพงก็ได้ลดการใช้ LNG หันมาเพิ่มการใช้น้ำมัน พลังงานชีวมวล และมีการดำเนินการในลักษณะ Energy Pool โดยมีนำต้นทุนค่าใช้จ่ายน้ำมันเตา น้ำมันดีเซลและ LNG นำเข้าของกลุ่ม Regulated Market มาเฉลี่ยกับต้นทุนก๊าซธรรมชาติใน Pool Gas เพื่อให้ต้นทุนการผลิตของภาคไฟฟ้าและภาคอุตสาหกรรมในกลุ่ม Regulated Market อยู่ในทิศทางและแนวปฏิบัติเดียวกัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 มี.ค. 65)
Tags: PTT, กกพ., กรมธุรกิจพลังงาน, กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ, กระทรวงพลังงาน, กุลิศ สมบัติศิริ, น้ำมันเชื้อเพลิง, ปตท., พลังงาน, สนพ.