เงินบาทเปิด 33.15 แนวโน้มอ่อนค่าตามภูมิภาค หลังเงินเฟ้อสหรัฐพุ่งหนุนเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้าอยู่ที่ระดับ 33.15 บาท/ดอลลาร์ ใกล้เคียงจาก ปิดตลาดเย็นวานนี้ที่ระดับ 33.14/16 บาท/ดอลลาร์

การเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้คาดว่าจะไปในทิศทางอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ เช่นเดียวกับค่าสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค โดยเมื่อคืนสหรัฐเผยอัตราเงินเฟ้อเดือนก.พ.อยู่ที่ 7.9% สูงสุดในรอบ 40 ปี ซึ่งทำให้ตลาดคาดว่าการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในสัปดาห์หน้าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแน่นอน อย่างน้อย 0.25%

“เงินเฟ้อสหรัฐสูงสุดในรอบ 40 ปี ตลาดมองว่าประชุมเฟดสัปดาห์หน้าต้องขึ้นดอกเบี้ยแน่นอนอย่างน้อย 0.25% และในการ ประชุมต่อๆ ไปของเฟดที่เหลือในปีนี้ อาจต้องขึ้นดอกเบี้ยในทุกรอบ”

นักบริหารเงินระบุ

ขณะที่ปัจจัยในประเทศช่วงนี้คงต้องติดตามกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งพบว่าแรงขายพันธบัตรจากต่างชาติเริ่มซาลง นอกจาก นี้ยังต้องติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งจะมีผลต่อดุลการค้าของไทยในระยะต่อไป

นักบริหารเงิน คาดว่า เงินบาทวันนี้จะเคลื่อนไหวในกรอบ 33.10 – 33.25 บาท/ดอลลาร์

THAI BAHT FIX 3M (10 มี.ค.) อยู่ที่ระดับ 0.54979% ส่วน THAI BAHT FIX 6M อยู่ที่ระดับ 0.66305%

ปัจจัยสำคัญ

– เงินเยนอยู่ที่ระดับ 116.25 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวานที่ระดับ 115.93/94 เยน/ดอลลาร์

– เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.0987 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวานที่ระดับ 1.1044 ดอลลาร์/ยูโร

– อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 33.076 บาท/ดอลลาร์

– “ฟิทช์” คาดการณ์ปี 2565 ผลประกอบการบริษัทไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง อานิสงส์เปิดประเทศ ห่วงต้นทุนพลังงานสูงกดดันกำไร ของธุรกิจไฟฟ้า

– “สุพัฒนพงษ์” ถก “คลัง-ธปท. ตลท.-บริษัทน้ำมัน” เพิ่มเวลาสำรองน้ำมันเป็น 70 วัน สร้างความมั่นคงพลังงาน เร่ง แผนลดผลกระทบผ่านบัตรสวัสดิการรัฐ อุดหนุนค่าเบนซินกลุ่มจักรยานยนต์ เพิ่มส่วนลดซื้อแอลพีจีเป็น 100 บาท เริ่ม เม.ย.นี้ ชี้อุ้มก๊าซมา แล้ว 2 ปีเต็ม ห่วงสถานการณ์ยืดเยื้อ กองทุนน้ำมันติดลบถึง 3 หมื่นล้าน

– กรมการค้าภายใน กำลังพิจารณาข้อเสนอจากสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ในการขอผ่อนปรนการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อแก้ ปัญหาต้นทุนอาหารสัตว์ที่ปรับสูงขึ้น เพื่อเสนอให้รมว.พาณิชย์ พิจารณา หลังจากภาวะสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ได้ส่งผลให้วัตถุดิบ ผลิตอาหารสัตว์ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้ง ข้าวสาลี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จนมีผลกระทบต่อการผลิต และอาจมีผลต่อราคาเนื้อสัตว์ หมู ไก่ ไข่ ตาม มาได้

– ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเมื่อวานนี้ (10 มี.ค.) ท่ามกลางความวิตกเกี่ยว กับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ในยูเครน

– กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค พุ่ง ขึ้น 7.9% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.2525 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 7.8%

นอกจากนี้ ดัชนี CPI เพิ่มขึ้น 0.8% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.7%

– ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อทียบกับสกุลหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (10 มี.ค.) หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี นอกจากนี้ นักลงทุนยังแห่ซื้อดอลลาร์ซึ่งเป็นสกุลเงินปลอดภัย หลังมี รายงานว่าการเจรจาหยุดยิงระหว่างรัสเซียและยูเครนประสบความล้มเหลว

– สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันพฤหัสบดี (10 มี.ค.) โดยสัญญาทองคำดีดตัวขึ้นมายืนที่เหนือระดับ 2,000 ดอลลาร์ได้อีกครั้ง เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับสงคราที่ยืดเยื้อในยูเครนและ ภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐ

– นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 15-16 มี.ค.นี้ ขณะที่ประธานเฟด ส่ง สัญญาณว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมครั้งนี้

– โกลด์แมน แซคส์ประกาศยุติการดำเนินธุรกิจในรัสเซีย โดยนับเป็นวาณิชธนกิจรายใหญ่แห่งแรกของโลกที่ประกาศดังกล่าว หลังจากที่รัสเซียส่งกำลังทหารบุกโจมตียูเครนเมื่อเดือนที่แล้ว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 มี.ค. 65)

Tags: ,
Back to Top