นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผยว่า ช่องว่างด้านบุคลากรของไทย เป็นปัญหาทั้งด้านคุณภาพและปริมาณ กล่าวคือ ไทยยังขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะที่จำเป็นต่อโลกอนาคตหลายด้าน เช่น ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล, ด้าน Data Analytic, ด้านการสื่อสารภาษาต่างประเทศ เป็นต้น อีกทั้งประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้นของไทย ทำให้สัดส่วนกำลังแรงงานลดลง ยิ่งกดดันให้ต้องการ productivity จากแรงงานสูงขึ้น เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้หล่อเลี้ยงประชากรที่มีอายุเฉลี่ยเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ มองว่าธุรกิจฝึกอบรมพัฒนาทักษะบุคลากร (Corporate training) จะเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ช่วยติดอาวุธทางปัญญา และแก้ปัญหานี้ได้ โดยปัจจุบันธุรกิจนี้มีผู้ประกอบการอยู่ประมาณ 5,100 ราย มูลค่าตลาดประมาณ 20,000 ล้านบาท แต่มีโอกาสที่จะเติบโตได้อีกมาก คาดว่าจะแตะระดับ 60,800 ล้านบาท ภายในปี 70 หรือเติบโตเฉลี่ยถึง 26.4% ต่อปี
อย่างไรก็ดี เมกะเทรนด์ที่สำคัญของโลกหลายด้าน จะสร้างโอกาสให้กับธุรกิจฝึกอบรมเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาบุคลากรในโลกยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตของเทคโนโลยีในกลุ่มดิจิทัล ที่ถูกนำมาปรับใช้ในภาคธุรกิจมากขึ้น กระแส Green economy ที่จะนำมาสู่การจ้างงานในกลุ่ม green jobs เช่น ตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานทดแทนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 100 ล้านตำแหน่งทั่วโลกภายในปี 93 อีกทั้งการให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจภายใต้แนวทาง Environment Social and Governance จะทำให้ภาคธุรกิจต้องพัฒนาคนให้มีความเข้าใจในหลักการ ESG ด้วย
“อายุขัยประชากรที่เพิ่มขึ้น และการเข้าสู่สังคมสูงวัย ยิ่งตอกย้ำให้เราต้องให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ตลอดชีวิตมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เราเริ่มเห็นองค์กรธุรกิจชั้นนำในประเทศไทย เพิ่มเม็ดเงินการลงทุนพัฒนาบุคลากรมากขึ้น ซึ่งได้นำไปสู่การยกระดับผลการดำเนินงานของภาคธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรมของธุรกิจ ทั้งด้านการลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และสร้างนวัตกรรมให้กับองค์กร”
นายพชรพจน์ กล่าว
ด้านนายกิตติศักดิ์ กวีกิจมณี นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวเสริมว่า แม้จะมีโอกาสที่มากขึ้น แต่ธุรกิจ Corporate training เองก็จำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ธุรกิจ เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการพัฒนาทักษะที่แตกต่างกันของกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น โดยคำนึงถึงพฤติกรรมการเรียนรู้ที่เปลี่ยนไปในยุค New Normal เร่งแสวงหาความร่วมมือจากพาร์ทเนอร์ภายนอก และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น ปัญญาประดิษฐ์, Virtual Reality หรือ Augmented Reality เพื่อสร้างนวัตกรรมที่ช่วยยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
“เราเริ่มเห็นธุรกิจ Corporate training ใช้วิธีการที่หลากหลายและทันสมัยในการส่งมอบบริการฝึกอบรม เช่น การจัด Bootcamp สำหรับสร้างโปรแกรมเมอร์ การจำลองสถานการณ์ หรือ simulation เพื่อฝึกฝนพนักงานขายให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ โดยผู้ให้บริการฝึกอบรมควรให้ความสำคัญกับความรู้ และทักษะแห่งโลกอนาคต ที่สอดคล้องกับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศที่รัฐบาลให้การสนับสนุน”
นายกิตติศักดิ์ กล่าว
อย่างไรก็ดี ไม่เพียงแต่เฉพาะความรู้เชิงเทคนิคที่เกี่ยวกับงานเท่านั้น แต่รวมถึง soft skill ที่จำเป็นต่อการทำงานแห่งโลกยุคใหม่ด้วย เช่น creativity and innovation, leadership, collaboration เป็นต้น
ทั้งนี้ ความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์กลุ่มต่างๆ เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้อหาหรือด้านเทคโนโลยี จะช่วยเพิ่มความสามารถให้กับ Corporate training ในการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ผู้เรียนมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้บุคลากรในภาคธุรกิจมีความพร้อมรับมือกับงานแห่งโลกอนาคต ช่วยขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไปให้เข้มแข็ง และยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน หลังวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 มี.ค. 65)
Tags: KTB, ธนาคารกรุงไทย, พชรพจน์ นันทรามาศ, ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS, เศรษฐกิจไทย, แรงงาน