นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2565 ระบุว่า การประชุมในวันนี้มี 3 ประเด็นสำคัญในการพิจารณาเห็นชอบ คือ
1) หลักการการจัดการตามแผนและมาตรการรองรับการเปลี่ยนผ่านการระบาดของโรคโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น (Endemic Approach) บนพื้นฐานสุขภาพที่ดีของคนไทยทุกคน และการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการบริหารจัดการด้านต่างๆ ได้แก่ การเฝ้าระวังและมาตรการสำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศ การเฝ้าระวังในประเทศ การสอบสวนโรค การบริหารจัดการวัคซีน มาตรการป้องกันและควบคุมโรค มาตรการด้านการแพทย์ รวมถึงมาตรการทางกฎหมายและสังคม เพื่อให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตเป็นปกติภายใต้หลัก Universal Prevention เศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าได้
นายอนุทิน กล่าวว่า จากการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติครั้งที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การพิจารณาให้บริหารจัดการโควิด-19 แบบโรคประจำถิ่น (Endemic approach) ซึ่งเวลานี้มีหลายประเทศที่เตรียมการเปลี่ยนผ่านโควิด-19 ไปสู่โรคประจำถิ่น เช่น ประเทศในทวีปยุโรป สำหรับประเทศไทยมีการเตรียมมาตรการในการบริหารจัดการให้สอดคล้องกับระดับสถานการณ์ โดยคำนึงถึงทุกมิติ อาทิ การเดินทางเข้าประเทศไทยตามโปรแกรม Test&Go ที่มีเงื่อนไขด้านสุขภาพพร้อมกับการอำนวยความสะดวกให้กับนักเดินทางต่างชาติและคนไทย ช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศ
สำหรับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในระดับโลก พบสายพันธุ์โอมิครอนเป็นสายพันธุ์หลัก แต่สถานการณ์ในประเทศไทยขณะนี้ยังพบผู้ติดเชื้อรายวันในระดับสูง แม้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย แต่จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบ ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ ผู้ป่วยเสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนของผู้ป่วยใหม่ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีโรคประจำตัว พบว่ามีอัตราป่วยตายสูงจากสาเหตุอื่นร่วมกับการติดเชื้อโควิด
สำหรับผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือผู้สูงอายุที่ครบกำหนดรับวัคซีนเข็มกระตุ้น กระทรวงสาธารณสุขได้กำชับทุกหน่วยงานเร่งค้นหา ติดตาม และจัดฉีดวัคซีนเชิงรุกให้มากที่สุด เพื่อป้องกันความเสี่ยงและลดอาการรุนแรงหากติดเชื้อโควิด 19 โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะมีการเดินทางข้ามจังหวัด ลูกหลานกลับไปเยี่ยม และมีการจัดกิจกรรมต่างๆ จำนวนมาก ซึ่งอาจนำเชื้อไปแพร่ได้
ทั้งนี้ ภาพรวมประเทศไทยฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วกว่า 125 ล้านโดส ครอบคลุมเข็มแรก 78% เข็มที่สอง 72% และเข็มที่สามกว่า 30% เฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ครอบคลุมเข็มแรก 83% เข็มที่สอง 79% และเข็มที่สามกว่า 31%
นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้ให้ความเห็นชอบหลักเกณฑ์การปรับค่าใช้จ่ายผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตโควิด 19 (UCEP) โดยกลุ่มสีเหลืองและแดง ยังสามารถเข้ารักษาพยาบาลได้ทุกแห่งจนหายโดยไม่ต้องย้ายโรงพยาบาล และไม่กำหนดระยะเวลาจ่ายค่าชดเชยเฉพาะ 72 ชั่วโมงแรก ในขณะที่กลุ่มสีเขียว สามารถเข้ารับการรักษาฟรีในโรงพยาบาลตามสิทธิ เน้นการดูแลแบบ OPD ผู้ป่วยที่มาตรวจ AKT ที่โรงพยาบาลให้รับยาที่จุดตรวจ ATK ก่อนกลับบ้าน ผู้ป่วยที่ตรวจด้วยตนเองสามารถมารับยาที่โรงพยาบาลหรือการแจ้งโรงพยาบาลให้ส่งยาไปที่บ้าน และเยี่ยมติดตามอาการหลังครบ 48 ชั่วโมง
2) เร่งรัดการให้วัคซีนป้องกันโรคหัดและหัดเยอรมัน ภายใต้โครงการกำจัดโรคหัดและหัดเยอรมันตามพันธะสัญญานานาชาติ ตามที่องค์การอนามัยโลกได้ทบทวนการกำจัดโรคหัดและหัดเยอรมันของประเทศไทย เสนอแนะให้เร่งรัดฉีดวัคซีนในเด็กต่างด้าว เด็กที่ยังไม่ได้รับวัคซีน รวมถึงผู้ใหญ่กลุ่มเสี่ยง เช่น แรงงานต่างด้าว พื้นที่ชายแดน ผู้ลี้ภัย เพื่อยกระดับภูมิคุ้มกัน โดยมอบหมายให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานคร เป็นผู้บริหารจัดการวัคซีน
3) แนวทางการรักษาผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ ซี ด้วยวิธี Test and Treat เนื่องจากประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบ ซี ประมาณ 400,000 ราย ในจำนวนนี้ เกิดภาวะตับแข็งประมาณ 80,000 ราย และมะเร็งตับประมาณ 3,200 รายต่อปี กระทรวงสาธารณสุขจึงเพิ่มยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบ ซี ในบัญชียาหลักแห่งชาติ บัญชี (จ2) เพื่อเป็นสิทธิประโยชน์สำหรับคนไทย และใช้แนวทางการวินิจฉัยด้วยวิธี Test and Treat เพื่อให้ผู้ติดเชื้อได้รับการตรวจวินิจฉัยยืนยันและได้รับยารักษาเร็วที่สุด โดยให้โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไปดูแลผู้ป่วย และเปิดโอกาสให้แพทย์ทั่วไปที่ผ่านการฝึกอบรม สามารถจ่ายยาและติดตามการรักษาผู้ป่วยได้ โดยมีอายุรแพทย์ด้านระบบทางเดินอาหาร หรืออายุรแพทย์ที่ปฏิบัติงานด้านระบบทางเดินอาหารเป็นที่ปรึกษา
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 มี.ค. 65)
Tags: COVID-19, กระทรวงสาธารณสุข, คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ, อนุทิน ชาญวีรกูล, โควิด-19, โรคประจำถิ่น