ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 65 ได้เห็นชอบการปรับปรุงแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน พ.ศ. 2563 – 2570 (แผนร่วมลงทุน) เพื่อให้สอดคล้องกับความพร้อมของแต่ละโครงการและเป็นปัจจุบัน โดยมีรายการโครงการที่ประสงค์จะร่วมลงทุนทั้งหมดรวม 110 โครงการ มูลค่าลงทุนรวมประมาณ 1.12 ล้านล้านบาท (ปรับเพิ่มขึ้นจากเดิม ซึ่งมีจำนวนโครงการอยู่ที่ 67 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 9.97 แสนล้านบาท) โดยโครงการที่ปรับเพิ่มส่วนใหญ่ เป็นโครงการในกิจการจัดการน้ำเสีย, กิจการท่าอากาศยาน และกิจการด้านการศึกษา
พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงเจ้าสังกัด หน่วยงานเจ้าของโครงการ และ สคร. ทำหน้าที่เร่งรัดโครงการที่สำคัญและจำเป็นเร่งด่วน (High Priority PPP Project) มูลค่าลงทุนรวม 4.77 แสนล้านบาท ให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด เพื่อกระตุ้นการลงทุนของประเทศในภาพรวม ลดข้อจำกัดการลงทุนจากเงินงบประมาณแผ่นดินและเงินกู้ รวมถึงสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ แผนร่วมลงทุนดังกล่าวจะช่วยสร้างความสนใจและดึงดูดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการของรัฐมากขึ้นด้วย
นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการ PPP) เปิดเผยว่า คณะกรรมการ PPP ยังได้รับทราบความคืบหน้าการนำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact : IP) มาใช้กับโครงการ PPP ที่ดำเนินการตามพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ในชั้นการคัดเลือกเอกชน โดยปัจจุบันมีโครงการ PPP ที่เข้าข่ายดำเนินการตามข้อตกลงคุณธรรมจำนวน 5 โครงการ ได้แก่
1. โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
2. โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย ของกรมการขนส่งทางบก
3. โครงการบริหารจัดการท่าเทียบเรือสาธารณะเพื่อขนถ่ายสินค้าเหลว ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)
4. โครงการบริหารจัดการท่าเทียบเรือสาธารณะเพื่อขนถ่ายสินค้าทั่วไป ของ กนอ.
5. โครงการทางพิเศษสายกะทู้ – ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย
โดยจะช่วยส่งเสริมให้เกิดความโปร่งใส และตรวจสอบได้ในการดำเนินโครงการ PPP รวมถึงกระบวนการตัดสินใจที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าประสงค์สำคัญของการร่วมลงทุนตาม พ.ร.บ. การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 รวมทั้งยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนมากขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 มี.ค. 65)
Tags: ปานทิพย์ ศรีพิมล, สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์, แผนลงทุน