นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) กล่าวว่า ในไตรมาส 4/64 ตลาดที่อยู่อาศัยมือสองมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า จากอานิสงส์ที่ภาครัฐได้มีการต่ออายุมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยการลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์และการจดจำนองสำหรับที่อยู่อาศัยที่ไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยเพิ่มเติมการให้สิทธิครอบคลุมมาถึงที่อยู่อาศัยมือสองจากเดิมที่มีผลเฉพาะที่อยู่อาศัยสร้างใหม่ โดยมีระยะเวลาสิ้นสุดมาตรการดังกล่าวไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 65 อีกทั้งยังได้รับผลดีจากการประกาศผ่อนปรนมาตรการ LTV เป็นการชั่วคราวจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 65 จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งคาดว่ามาตรการดังกล่าวข้างต้น จะส่งผลให้ตลาดที่อยู่อาศัยมือสองในปี 65 ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
ตลาดที่อยู่อาศัยมือสองทั่วประเทศในไตรมาส 4/64 ในภาพรวมด้านอุปทานพร้อมขายในตลาดมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3/64 ทั้งในด้านจำนวนหน่วยและมูลค่า โดยประเภทที่มีการประกาศขายมากที่สุดทั้งในด้านจำนวนหน่วยและมูลค่า ได้แก่ “บ้านเดี่ยว” สำหรับในด้านระดับราคา พบว่า ระดับราคา 5-7.50 ล้านบาทมีจำนวนหน่วยและมูลค่าเฉลี่ยต่อเดือนเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3/64 มากที่สุด โดยมีกรุงเทพมหานครเป็นจังหวัดที่มีการประกาศขายของที่อยู่อาศัยมือสองมากที่สุด 62% ในด้านมูลค่า และ 41% ในด้านจำนวนหน่วยประกาศขายเฉลี่ยต่อเดือนในไตรมาสนี้
ในช่วงไตรมาส 4/64 พบว่า มีจำนวนหน่วยประกาศขายเฉลี่ยต่อเดือน 145,753 หน่วย และมีมูลค่าเฉลี่ยต่อเดือน 990,224 ล้านบาท โดยที่จำนวนหน่วยและมูลค่าปรับตัวเพิ่มขึ้น 12.3% และ 14.8% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 3/64 ซึ่งมีจำนวนหน่วยเฉลี่ยต่อเดือน 129,732 หน่วย และมีมูลค่าเฉลี่ยต่อเดือน 862,455 ล้านบาท โดยในไตรมาส 4/64 พบว่า เดือนที่มีจำนวนหน่วยและมูลค่าที่อยู่อาศัยมือสองประกาศขายมากที่สุด ได้แก่ เดือนพ.ย. 64 ซึ่งมีจำนวน 149,529 หน่วย มูลค่า 1,061,435 ล้านบาท
เมื่อพิจารณาภาพรวมทั้งปี 64 พบว่ามีจำนวนหน่วยประกาศขายเฉลี่ยต่อเดือน 126,237 หน่วย และมีมูลค่าเฉลี่ยต่อเดือน 855,317 ล้านบาท โดยมีจำนวนหน่วยและมูลค่าที่อยู่อาศัยมือสองประกาศขายสะสมมากที่สุดในเดือน พ.ย. 64
ด้านราคาขายที่อยู่อาศัยมือสองในช่วงไตรมาส 4/64 พบว่าจำนวนหน่วยเฉลี่ยต่อเดือน ที่อยู่อาศัยมือสองที่ประกาศขายเพิ่มขึ้น 3 อันดับแรก อันดับแรก ได้แก่ ระดับราคา 5.01–7.50 ล้านบาท มีจำนวนหน่วยเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3/64 ที่ 32.9% รองลงมาอันดับสอง ระดับราคา 7.51–10 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31% และอันดับสามระดับราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.9%
จากข้อมูลข้างต้นสอดคล้องกับมูลค่าเฉลี่ยต่อเดือนที่เพิ่มขึ้น 3 ลำดับแรก ได้แก่ ระดับราคา 5.01–7.50 ล้านบาท มีจำนวนมูลค่าเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3/64 ที่ 32.9% รองลงมาอันดับสอง ระดับราคา 7.51–10 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.8% และอันดับสาม ระดับราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.1%
หากจัดอันดับตามมูลค่าเฉลี่ยต่อเดือนของที่อยู่อาศัยมือสองที่มีการประกาศขายในไตรมาส 4/64 พบว่า 10 จังหวัดที่มีมูลค่าเฉลี่ยต่อเดือนสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต นนทบุรี สมุทรปราการ ชลบุรี เชียงใหม่ ปทุมธานี สุราษฎร์ธานี ประจวบคีรีขันธ์ และสมุทรสาคร ซึ่งอันดับแรงยังคงเป็นกรุงเทพฯ จังหวัดเดียว มีมูลค่าเฉลี่ยต่อเดือนถึง 616,614 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 62.3% เมื่อเทียบกับมูลค่าทั้งประเทศ และมีหน่วยประกาศขายเฉลี่ยต่อเดือน 60,269 หน่วย คิดเป็นสัดส่วน 41.3%
ส่วนอันดับ 2–10 มีสัดส่วนมูลค่าและจำนวนหน่วยไม่ถึง 10% เมื่อเทียบกับมูลค่าและจำนวนหน่วยทั่วประเทศ แต่ 10 จังหวัดนี้ มีมูลค่ารวมกันมากถึง 90.9% ส่วนจังหวัดที่เหลืออีก 67 จังหวัด มีสัดส่วนมูลค่ารวมกันเพียง 9.1%
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 มี.ค. 65)
Tags: lifestyle, REIC, ตลาดบ้าน, บ้านมือสอง, วิชัย วิรัตกพันธ์, อสังหาริมทรัพย์