ฝ่ายค้าน คาดดินเนอร์พรรคร่วมฯเย็นนี้เช็คเสียงก่อนเปิดซักฟอก

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการนัดรับประทานอาหารของนายกรัฐมนตรีและพรรคร่วมรัฐบาลในเย็นวันนี้ว่า คาดการณ์วัตถุประสงค์ค่อนข้างยาก ซึ่งอาจจะเป็นการพูดคุยเรื่องการยื่นอภิปรายที่จะยื่นเร็ว อาจต้องไปหารือกันว่าจะเตรียมการอย่างไร แต่น่าจะเป็นเรื่องของการสร้างความเป็นปึกแผ่นของเสียงที่จะค้ำหรือสนับสนุนรัฐบาลมากกว่า

โดยการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 ที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านมีข้อสรุปให้แต่ละพรรคไปเตรียมความพร้อมในประเด็นเนื้อหาและข้อกล่าวหาต่างๆ ที่จะใช้ในการอภิปราย และมีคณะทำงานติดตามเนื้อหาในการอภิปราย โดยมีนายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้านเป็นผู้ดูแล ซึ่งนัดพูดคุยถึงเนื้อหาต่างๆ ในวันที่ 22 มี.ค.นี้

สำหรับประเด็นในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้นต้องมีข้อกล่าวหาที่ชัดเจนในเรื่องของความเสียหายในการบริหารราชการแผ่นดิน เช่น การทุจริต การฉ้อราษฎร์บังหลวง การเอื้อประโยชน์ แสวงหาผลประโยชน์ ซึ่งจะเป็นการเจาะลึกลงไปในเนื้อหา ส่วนของเรื่องของความผิดพลาดบกพร่องล้มเหลวเป็นประเด็นรอง ประเด็นอาจจะไม่เยอะมากแต่เป็นเรื่องที่เด็ดๆ มีไม่กี่เรื่องแต่ทำให้ในสายตาของประชาชนและสมาชิกสภาฯ เห็นจนไม่กล้าปฏิเสธ

โดยการยื่นญัตติฯ จะพยายามดำเนินการให้เร็วที่สุด และมี 2 ปัจจัยที่ต้องพิจารณา คือ การยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจสามารถยื่นได้ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.เป็นต้นไป ซึ่งเป็นช่วงเปิดสมัยประชุม เว้นแต่จะมีเรื่องกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองเข้าสภาฯ ช่วงเปิดสมัย หรือต้นเดือน มิ.ย.

“การยื่นเรื่องของเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจก็ต้องพิจารณาว่าจะยื่นในช่วงที่พิจารณากฎหมายลูก 2 ฉบับ หรือต้องรอให้กฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับนี้ผ่านไปก่อน อีกทั้งยังมีเรื่องพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 ที่จะเข้าสภาฯ ซึ่งส่วนตัวอยากให้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจก่อนที่จะมีการพิจารณาเรื่องงบฯ แต่จากระยะเวลาก็ไม่สามารถทำได้” นพ.ชลน่าน กล่าว

หัวหน้าพรรคเพื่อไทย มองว่าการอภิปรายฯ ครั้งนี้จะมีเสียงที่ไม่ไว้วางใจในสภาเกิน 238 เสียง ซึ่งจะสามารถล้มนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีได้ ซึ่งเมื่อดูสถานการณ์ขณะนี้ ดูจากท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคพลังประชารัฐที่มีความแตกแยกกัน มีความเป็นไปได้สูงว่าจะมีโอกาสที่ทุกฝ่ายเห็นว่าควรจะใช้กลไกของสภาเพื่อยุติบทบาทการบริหารราชการแผ่นดินของนายกรัฐมนตรี

“ถ้าดูสถานการณ์ขณะนี้ และความสามารถในการแก้ปัญหาให้กับประชาชนที่ยังแก้ไม่ได้ จะทำให้ประชาชนถึงจุดเดือด และไปมีผลกดดันพรรคร่วมรัฐบาล อาจจะเทเสียงมาอยู่กับฝ่ายค้านก็ได้ เพราะฝ่ายค้านยังเหลืออีกเพียง 30 เสียงเท่านั้น” นพ.ชลน่าน กล่าว

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 มี.ค. 65)

Tags: , , ,
Back to Top