โบรกเกอร์ต่างเชียร์ “ซื้อ” หุ้น บมจ.โอสถสภา (OSP) จากมุมมองที่ว่าแนวโน้มผลประกอบการในปี 65 จะกลับมาเติบโตได้หลังจากปีที่แล้วหดตัว เนื่องบริษัทเดินหน้าออกผลิตภัณฑ์ Premium อย่าง M-150 สูตรใหม่ พร้อมปรับราคาขายจาก 10 บาทเป็น 12 บาท บวกกับกำลังซื้อเริ่มฟื้นกลับมา รวมไปถึง OSP ยังเป็นบริษัทที่ครองส่วนแบ่งการตลาดเครื่องดื่มบำรุงกำลังในประเทศเป็นอันดับ 1 นอกจากนี้ยังเตรียมวางจำหน่ายสินค้าที่มีส่วนผสมสาร CBD จากกัญชงภายใน Q2/65 อีกด้วย
ประกอบกับ OSP มีแผนฟื้นฟูยอดขายกลุ่ม Personal Care และผลักดันการจำหน่ายผ่านออนไลน์มากขึ้น ขณะเดียวกันยังเดินหน้าขยายตลาดในต่างประเทศ และมองหาพันธมิตรทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง
สำหรับราคาต้นทุนวัตถุดิบคาดว่าจะลดลงหลังจาก Q1/65 เป็นต้นไป บวกกับแผนลดต้นทุน 5-7 ปี หนุน Margin ให้ปรับตัวดีขึ้น และคาดว่า OSP เป็นหุ้นที่จะ Outperform ได้ในปี 65 ไปจนถึงครึ่งแรกของปี 66
ราคาหุ้น OSP ปิดเที่ยงวันนี้ที่ 34.50 บาท ลดลง 1.25 บาท (-3.50%) ขณะที่ SET -1.52%
โบรกเกอร์ | คำแนะนำ | ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) |
---|---|---|
โนมูระ พัฒนสิน | ซื้อ | 42.00 |
ฟินันเซีย ไซรัส | ซื้อ | 42.00 |
เมย์แบงก์ | ซื้อ | 41.00 |
ยูโอบีเคเฮียน | ซื้อ | 40.50 |
กสิกรไทย | ซื้อ | 40.50 |
หยวนต้า | ซื้อ | 40.00 |
เอเชียเวลท์ | ซื้อ | 39.50 |
กรุงศรี | ซื้อ | 38.00 |
ซีจีเอส ซีไอเอ็มบี | ซื้อ | 37.50 |
ไทยพาณิชย์ | ซื้อ | 37.00 |
เอเซียพลัส | ซื้อ | 37.00 |
พาย | ซื้อ | 36.50 |
นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บล.โนมูระ พัฒนสิน กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาหุ้น OSP ได้รับแรงกดดันจากต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น จึงเกิดการออกผลิตภัณฑ์ใหม่อย่าง M-150 สูตรใหม่ที่ขยับราคาขายจาก 10 บาทมาเป็น 12 บาท และประเมินราคาต้นทุนวัตถุดิบ แม้จะเป็นช่วงพีคใน Q1/65 แต่คาดว่าจะเริ่มลดระดับลงมา หลังจากราคาพลังงานต่าง ๆ เริ่มลดลง
รวมถึงเห็น Momentum ของการคลายล็อกดาวน์ แม้ว่ากำลังซื้อในปัจจุบันอาจยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ แต่ก็เห็นโอกาสที่ยอดขายจะวิ่งขึ้นจากราคาขายที่สูงขึ้นและกำลังซื้อที่เริ่มฟื้นกลับมาได้
พร้อมประเมินแนวโน้มผลประกอบการในปี 65 น่าจะมีรายได้อยู่ที่ราว 2.8 หมื่นล้านบาท กลับมาเติบโตได้หลังจากที่ปีที่แล้วหดตัว ขณะที่กำไรสุทธิคาดว่าจะเติบโตประมาณ 17% YoY และมองภาพของ OSP ในระยะกลางถึงระยะยาว คาดว่าจะเป็นหุ้นอีกตัวหนึ่งที่จะ Outperform ได้ในปี 65 จนถึงครึ่งแรกของปี 66
ด้าน บล.เอเซียพลัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า แผนเปิดตลาดผลิตภัณฑ์ Premium โดยเฉพาะสินค้าใหม่อย่าง M-150 ระดับ Premium เพิ่มวิตามิน B12 (2 เท่า) ราคาขายปลีก 12 บาท ตั้งแต่ มี.ค. 65 ยกระดับตลาดเครื่องดื่มบำรุงไทย จะช่วยลดแรงปะทะจาก Cost Push Inflation ในปัจจุบัน และดีต่อ Gross Margin ระยะถัดไป หลังต้นทุนวัตถุดิบผ่านจุดเลวร้าย นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์สินค้า OSP ครองส่วนแบ่งการตลาดเบอร์ 1 ในไทย โดยมูลค่าตลาดเครื่องดื่มบำรุงกำลังในประเทศปี 64 อยู่ที่ 1.9 หมื่นล้านบาท OSP ครองส่วนแบ่งการตลาดเบอร์ 1 ที่ 54.6%
พร้อมประเมินแนวโน้มกำไร Q1/65 น่าจะเห็นการเติบโต YoY หลังยอดขายเดือนม.ค.ขยายตัว YoY อีกทั้ง Q1/64 มีการปิดซ่อมเตาเผาใหญ่ กดดันให้ Gross Margin อยู่ที่ 33.5% เทียบกับพัฒนาการงวด Q4/64 ที่ทำได้ 34.6%
นอกจากนี้สถานะการเงินที่เป็น Net Cash 1.6 พันล้านบาท จึงมีศักยภาพในการจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้น ที่ปกติจ่ายปีละ 2 ครั้ง ล่าสุด OSP รายงานการจ่ายเงินปันผลงวดครึ่งหลังของปี 64 ที่ 0.65 บาทต่อหุ้น ขึ้น XD 5 พ.ค. 65
สำหรับ บล.กรุงศรี ระบุในบทวิเคราะห์ว่า OSP มีแผนธุรกิจหลักในปี 65 คือโครงการลดต้นทุน (Fast Forward 10x) โดยตั้งเป้าลดต้นทุนให้ได้ 5 พันล้านบาท ภายใน 5-7 ปี เน้นการประหยัดต้นทุนและเพิ่ม Margin และจากสถานการณ์ปัจจุบันที่วัตถุดิบอย่างก๊าซธรรมชาติและอลูมิเนียมมีราคาเพิ่มสูงขึ้น ทาง OSP มีแผนล็อกราคาวัตถุดิบหลักอย่างน้อยครึ่งปี เช่น ตัวกระป๋องและฝาอลูมิเนียม, เศษแก้ว, Soda Ash และปรับราคาขายส่งขึ้น 2-3% รวมถึงปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ใช้พลังงานน้อยลง อีกทั้งเปลี่ยนขวดแก้ว Energy Drink ให้มีน้ำหนักเบา ช่วยลดต้นทุนได้ประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยลดผลกระทบของต้นทุนที่สูงขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ OSP วางแผนเพิ่มยอดขายเครื่องดื่มในประเทศ เน้นสินค้าเพื่อสุขภาพและ Product Innovation รวมไปถึงฟื้นฟูยอดขายกลุ่ม Personal Care โดยเพิ่มสินค้าใหม่ ๆ ที่มี Innovation มากขึ้น ในกลุ่ม Babi Mild และ Twelve Plus และขายผ่านออนไลน์มากขึ้น รวมทั้งมีแผนวางขายเครื่องดื่ม Functional Drink ผสม CBD จากกัญชงภายใน Q2/65 อีกด้วย
ขณะเดียวกันยังขยายตลาดในต่างประเทศเพื่อเพิ่มยอดขาย โดยเฉพาะในประเทศ เมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา และอินโดนีเซีย นอกจากนี้ยังมองหาหุ้นส่วนทางธุรกิจเพิ่มเติมเพื่อขยายการเติบโตของธุรกิจ เช่น การทำ M&A, B2B
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 มี.ค. 65)
Tags: Consensus, OSP, กรภัทร วรเชษฐ์, หุ้นไทย, โอสถสภา