บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด เป็นระดับ “BB” จาก “B” และเพิ่มอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทเป็นระดับ “BB-” จาก “B-” ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังยกเลิก “เครดิตพินิจ” แนวโน้ม “Negative” หรือ “ลบ” ที่ให้ไว้แก่อันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ของบริษัทและกำหนดแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น “Negative” หรือ “ลบ” ด้วย
การเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะเครดิตของบริษัทที่ปรับตัวดีขึ้นหลังจากที่ บมจ. เอเชีย อวิเอชั่น (AAV) ได้ทำการเพิ่มทุนให้แก่บริษัทจำนวน 9.9 พันล้านบาทและได้ดำเนินการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นจนแล้วเสร็จ ซึ่งทำให้ปัจจุบัน AAV เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทเต็ม 100% ทั้งนี้ อันดับเครดิตองค์กรของบริษัทเกิดจากองค์ประกอบระหว่างอันดับเครดิตเฉพาะ (Standalone Credit Profile – SACP) ของบริษัทซึ่งอยู่ที่ระดับ”bb” และสถานะของบริษัทในการเป็นบริษัทลูกหลัก (Core Subsidiary) ของ AAV ตาม “เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ” (Group Rating Methodology) ของทริสเรทติ้ง
อันดับเครดิตของบริษัทยังคงสะท้อนถึงจุดแข็งที่เป็นปัจจัยสนับสนุนสถานะทางธุรกิจของบริษัทซึ่งประกอบด้วยสถานะผู้นำในธุรกิจสายการบินราคาประหยัดในประเทศไทยและประสิทธิภาพในการบริหารต้นทุน ทั้งนี้ การดำเนินงานของบริษัทเริ่มมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด-19) ที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน ในขณะที่อันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทนั้นมีระดับที่ต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรอยู่ 1 ขั้นซึ่งสะท้อนถึงสัดส่วนของหนี้ที่มีสิทธิได้รับการชำระคืนก่อนเมื่อเทียบกับหนี้สินรวม (Priority Debt Ratio) ของบริษัทที่ระดับ 63% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 ซึ่งสูงกว่าระดับเพดาน 50% ตาม “เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้” ของทริสเรทติ้ง
ส่วนแนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ” นั้นสะท้อนถึงความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการระบาดของโรคโควิด 19 และมาตรการจำกัดการเดินทางที่ยังดำเนินอยู่ในหลายประเทศ รวมไปถึงราคาน้ำมันที่ผันผวนและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้นซึ่งยังคงเป็นปัจจัยกดดันต่อโอกาสในการฟื้นตัวทางธุรกิจและการเงินของบริษัท
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
– การเพิ่มทุนทำให้สภาพคล่องและสถานะเครดิตดีขึ้น สภาพคล่องและคุณภาพเครดิตของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญภายหลังจากการเพิ่มทุนและการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นของ AAV และของบริษัทเอง ซึ่งปัจจุบันบริษัทมี AAV เป็นผู้ถือหุ้นเต็ม 100% โดย AAV ได้รับเงินจากการเพิ่มทุนสุทธิจำนวน 6.2 พันล้านบาทและได้ทำการเพิ่มทุนให้แก่บริษัทจำนวน 6 พันล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับเงินสดสุทธิจำนวนประมาณ 1 พันล้านบาทจากธุรกรรมจำหน่ายและเช่ากลับเครื่องบินซึ่งเสร็จสิ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ในการนี้ ทริสเรทติ้งมองว่าเงินสดที่บริษัทได้รับจากการเพิ่มทุนและการทำธุรกรรมจำหน่ายและเช่ากลับเครื่องบินได้ช่วยลดความเสี่ยงด้านสภาพคล่องระยะสั้นได้เป็นอย่างมากและทำให้บริษัทมีความยืดหยุ่นต่อภาวะการดำเนินงานที่ไม่พึงประสงค์ในระหว่างที่การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินยังมีความไม่แน่นอน
สถานะสภาพคล่องที่ดีขึ้นและการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นนั้นช่วยบรรเทาปัญหาในเรื่องส่วนของผู้ถือหุ้นที่ติดลบและช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นทางการเงินให้แก่บริษัท แม้ว่าทริสเรทติ้งจะคาดการณ์ว่าส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทจะยังคงอยู่ในแดนลบต่อไปอีกในระยะ 2 ปีข้างหน้า
– การดำเนินงานมีแนวโน้มจะเริ่มฟื้นตัว ทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะค่อย ๆ เริ่มฟื้นตัวและกลับสู่ระดับก่อนการเกิดโรคระบาดได้อย่างเต็มที่ภายในปี 2567 โดยทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) ในประเทศไทยและทั่วโลกจะพุ่งสูงขึ้นแต่จะอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ในขณะที่อุปสงค์การเดินทางทางอากาศจะเริ่มฟื้นคืนกลับมาในช่วงครึ่งหลังของปี 2565
โดยเริ่มจากอุปสงค์การเดินทางทางอากาศภายในประเทศก่อน ทริสเรทติ้งยังคาดการณ์ด้วยว่าหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกจะมีการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางซึ่งรวมถึงมาตรการการกักตัวและข้อกำหนดในการตรวจหาเชื้อโควิด 19 ซึ่งจะช่วยให้บริษัทสามารถเพิ่มจำนวนที่นั่งและเส้นทางการบินได้มากขึ้น ทั้งนี้ บริษัทได้เริ่มกลับมาให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศในบางเส้นทางในช่วงปลายปี 2564 และวางแผนการที่จะค่อย ๆ เพิ่มจำนวนที่นั่งในเที่ยวบินระหว่างประเทศให้มากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2565
ภายใต้สมมติฐานขั้นพื้นฐาน ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าจำนวนที่นั่งของบริษัทจะอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนการเกิดโรคระบาดที่ประมาณ 40%-45% ในปี 2565 และจะลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 10% ในปี 2566 ก่อนที่จะกลับไปสู่ระดับก่อนการเกิดโรคระบาดได้ในปี 2567 ในขณะที่อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารจะอยู่ที่ระดับ 78% ในปี 2565 และจะปรับตัวดีขึ้นจนถึงระดับ 82%-84% ในช่วงปี 2566-2567 ตามการฟื้นตัวของการเดินทางทางอากาศ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดการณ์ว่าราคาตั๋วโดยสารโดยเฉลี่ยของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 1,160 บาทต่อใบในปี 2565 เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นเที่ยวบินภายในประเทศ และหลังจากนั้นจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,400-1,450 บาทต่อใบในระหว่างปี 2566-2567 หลังจากที่เที่ยวบินระหว่างประเทศเพิ่มจำนวนขึ้น
– สถานะทางการเงินจะปรับตัวดีขึ้น ภายใต้สมมติฐานขั้นพื้นฐาน ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้รวมของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 1.6-1.7 หมื่นล้านบาทในปี 2565 และน่าจะปรับตัวขึ้นเป็นประมาณ 3.4 หมื่นล้านบาทในปี 2566 และ 4.1 หมื่นล้านบาทในปี 2567 โดยทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทจะปรับจำนวนที่นั่งและควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานให้สอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ (EBITDA Margin) ของบริษัทจะติดลบเล็กน้อยในปี 2565 และหลังจากนั้นจะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 18%-21% ในระหว่างปี 2566-2567 โดยมีสมมติฐานจากการคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันเครื่องบินจะอยู่ที่ระดับ 90-105 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในช่วงระหว่างปี 2565-2567 จากสมมติฐานดังกล่าว ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าบริษัทจะยังคงมีผลขาดทุนอย่างมากในปี 2565 แต่จะค่อยๆ ดีขึ้นในปี 2566 และปี 2567
ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่จะมีผลต่อความสามารถในการทำกำไรและกระแสเงินสดของบริษัทนั้นยังคงเป็นความไม่แน่นอนเกี่ยวกับพัฒนาการของโรคโควิด 19 ซึ่งอาจทำให้มาตรการจำกัดการเดินทางต่าง ๆ ในหลาย ๆ ประเทศต้องยืดเยื้อต่อไปและจะส่งผลกระทบในทางลบต่ออุปสงค์การเดินทางทางอากาศ ในขณะที่ความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยกระดับเพิ่มขึ้นและราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นซึ่งหากยังคงยืดเยื้อต่อไปก็จะยิ่งเป็นแรงกดดันที่ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัทมากยิ่งขึ้นซึ่งจะทำให้การฟื้นฟูความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัทยิ่งล่าช้าออกไปอีก
อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินของบริษัทซึ่งวัดจากอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) คาดว่าจะยังคงติดลบต่อไปในปี 2565 จากประมาณของทริสเรทติ้งที่ EBITDA ของบริษัทจะติดลบ อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนดังกล่าวน่าจะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 7-9 เท่าในระหว่างปี 2566-2567ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 บริษัทมีสัดส่วนหนี้ที่มีสิทธิได้รับชำระคืนก่อนเมื่อเทียบกับหนี้สินรวม (Priority Debt Ratio) ของบริษัทอยู่ที่ระดับ 63% โดยหนี้ที่มีสิทธิได้รับชำระคืนก่อนนั้นประกอบไปด้วยหนี้ที่มีหลักประกันจำนวน 3.7 พันล้านบาทและหนี้สินตามสัญญาเช่าอีกจำนวน 2.9 พันล้านบาทนอกเหนือจากหนี้ที่มีภาระดอกเบี้ยรวมจำนวน 1.06 หมื่นล้านบาท ซึ่งสัดส่วนหนี้ที่มีสิทธิได้รับชำระคืนก่อนเมื่อเทียบกับหนี้สินรวมนั้นอยู่ในระดับที่สูงกว่าเกณฑ์ของทริสเรทติ้งที่ 50% ทำให้ทริสเรทติ้งมองว่าเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันของบริษัทอาจมีความเสียเปรียบเจ้าหนี้ที่มีสิทธิ์สูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงจัดอันดับเครดิตให้แก่หุ้นกู้ของบริษัทที่ระดับ “BB-” ซึ่งต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กร 1 ขั้น
ข้อกำหนดทางการเงินที่สำคัญของวงเงินกู้ยืมระบุให้บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นต่ำกว่า 3 เท่า ซึ่งบริษัทไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าวได้ในปี 2564 อย่างไรก็ตาม บริษัทได้รับการผ่อนปรนจากผู้ให้สินเชื่อแล้ว ซึ่งทริสเรทติ้งยังคงคาดว่าบริษัทจะไม่สามารถปฏิบัติได้ตามข้อกำหนดและจะยังต้องขอรับการผ่อนปรนจากผู้ให้สินเชื่อต่อไปอีกอย่างน้อยภายใน 2 ปีข้างหน้าเนื่องจากบริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้นที่ยังคงติดลบ ทั้งนี้ ในเดือนธันวาคม 2564 บริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบอยู่ที่จำนวน 1.1 หมื่นล้าน และทริสเรทติ้งคาดว่าส่วนของผู้ถือหุ้นจะยังคงติดลบต่อไปอีกอย่างน้อยจนถึงปี 2567
– สภาพคล่องยังคงตึงตัวแต่คาดว่าจะสามารถบริหารจัดการได้ ทริสเรทติ้งมองว่าสภาพคล่องของบริษัทจะยังคงตึงตัวแต่คาดว่าบริษัทจะสามารถบริหารจัดการได้ในช่วงเวลา 12 เดือนข้างหน้า บริษัทมีแหล่งเงินทุนที่ประกอบไปด้วยเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 0.7 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 รวมทั้งเงินที่ได้รับจากธุรกรรมจำหน่ายและเช่ากลับเครื่องบิน (เครื่องบิน 5 ลำจากทั้งหมด 7 ลำ) จำนวน 3.6 พันล้านบาทและเงินที่ได้รับจากการเพิ่มทุนอีกจำนวน 6 พันล้านบาท
ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานไหลออกสุทธิที่จำนวนประมาณ 2.1 พันล้านบาทในปี 2565 รวมทั้งมีภาระในการชำระคืนหนี้เงินกู้ที่จะครบกำหนด (ไม่รวมภาระหนี้สัญญาเช่า) ซึ่งประกอบด้วยเงินกู้ระยะสั้นจำนวน 3.2 พันล้านบาท เงินกู้ระยะยาวจำนวน 0.9 พันล้านบาท หุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนจำนวน 1.8 พันล้านบาท และภาระหนี้ที่เกี่ยวกับธุรกรรมจำหน่ายและเช่ากลับเครื่องบินอีกจำนวน 1.7 พันล้านบาท ดังนั้น เพื่อที่จะรักษาสภาพคล่องเอาไว้ บริษัทจึงวางแผนการที่จะกู้ยืมใหม่ (รีไฟแนนซ์) และ/หรือต่ออายุหนี้ที่จะครบกำหนดชำระบางส่วนออกไป ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทจะยังคงนโยบายในการบริหารสภาพคล่องที่รอบคอบต่อไปเพื่อที่จะมีเงินสดสำรองและรักษาสภาพคล่องอย่างเพียงพอเพื่อที่จะรับมือกับภาวะความเสี่ยงในการดำเนินงานให้ได้ต่อไปจนกว่าธุรกิจของบริษัทจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างมั่นคง
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
– รายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 1.6-1.7 หมื่นล้านบาทในปี 2565 ก่อนที่จะปรับตัวดีขึ้นเป็นประมาณ 3.4 หมื่นล้านบาทในปี 2566 และ 4.1 หมื่นล้านบาทในปี 2567
– EBITDA Margin จะติดลบเล็กน้อยในปี 2565 และจะปรับตัวดีขึ้นเป็นระดับประมาณ 18%-21% ในระหว่างปี 2566-2567
– ราคาน้ำมันเครื่องบินโดยเฉลี่ยจะอยู่ระหว่าง 90-105 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในช่วงระหว่างปี 2565-2567
– งบลงทุนรวมของบริษัท (ไม่รวมการจัดหาเครื่องบิน) จะอยู่ที่ระดับ 400 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2565-2567
แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ” สะท้อนถึงความไม่แน่นอนเกี่ยวกับพัฒนาการของโรคโควิด 19 และการจำกัดการเดินทางที่ยังดำเนินอยู่ในหลาย ๆ ประเทศ ตลอดจนราคาน้ำมันที่ผันผวน และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นซึ่งจะยังคงเป็นปัจจัยที่ส่งผลกดดันต่อการฟื้นตัวทางธุรกิจและการเงินของบริษัท
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงกว่าที่ประมาณการไว้และ/หรือสภาพคล่องของบริษัทถดถอยลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทแสดงให้เห็นถึงผลการดำเนินงานที่ฟื้นตัวอย่างชัดเจนและแนวทางการฟื้นฟูสถานะเครดิตของบริษัทที่ยั่งยืน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 มี.ค. 65)
Tags: ทริสเรทติ้ง, หุ้นกู้, ไทยแอร์เอเชีย