อาเซียนเร่งขับเคลื่อนแผนฟื้นฟูหลังโควิดก่อนชงระดับรัฐมนตรี กลาง มี.ค.นี้

คณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน (HLTF-EI) ครั้งที่ 41 เดินหน้าจัดทำแผนงานดันอาเซียนสู่ยุคดิจิทัล เร่งจัดทำวิสัยทัศน์อาเซียนภายหลังปี 2568 แผนฟื้นฟูอาเซียนหลังโควิด ขับเคลื่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 (4IR) เศรษฐกิจหมุนเวียน ชูแนวทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมประเมินคู่ค้าในและนอกภูมิภาค เตรียมเสนอรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน 16-17 มีนาคมนี้

นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้รับมอบหมายจากปลัดกระทรวงพาณิชย์ (นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร) ให้เป็นผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน (High Level Task Force on ASEAN Economic Integration: HLTF-EI) ครั้งที่ 41 ผ่านระบบประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 2 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมได้หารือประเด็นสำคัญ อาทิ ด้านเศรษฐกิจสำคัญที่อาเซียนจะผลักดันในปีนี้ การทบทวนแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2568 (AEC Blueprint 2025) การจัดทำวิสัยทัศน์อาเซียนภายหลังปี 2568 และการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูอาเซียนภายหลังกสถานการณ์โควิด-19

นางสาวโชติมา กล่าวว่า ที่ประชุมได้เน้นย้ำความสำคัญของการเร่งจัดทำแผนการดำเนินงานในประเด็นใหม่ๆ เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมในทางปฏิบัติ อาทิ การขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ของอาเซียนว่าด้วยการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 (4IR) เพื่อเตรียมความพร้อมของอาเซียนในการรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล และประเด็นเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในสาขาการเกษตร พลังงาน และการขนส่ง นอกจากนี้ ยังได้หารือแนวคิดสำหรับยุทธศาสตร์อาเซียนด้านความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) เพื่อกำหนดแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นประเด็นที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ โดยอาเซียนจะหารือในรายละเอียดในเรื่องนี้ต่อไป สำหรับข้อเสนอแนะที่ได้จากการประชุมครั้งนี้ จะนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (AEM Retreat) ครั้งที่ 28 ในวันที่ 16 – 17 มีนาคมนี้

นางสาวโชติมา เพิ่มเติมว่า ที่ประชุมยังได้หารือเกี่ยวกับการประเมินคู่ค้าที่มีศักยภาพของอาเซียนในอนาคต โดยบังคลาเทศแสดงความสนใจจัดทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ซึ่งจะต้องมีการศึกษาและประเมินรายละเอียดอย่างรอบคอบต่อไป เพื่อให้อาเซียนสามารถวางกลยุทธ์ได้อย่างเหมาะสมและได้รับประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ ยังได้หารือแนวทางการเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจกับสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) ในอนาคต เพื่อแสวงหาความร่วมมือเรียนรู้จากประสบการณ์ องค์ความรู้ของ WEF และเสริมสร้างบทบาทของอาเซียนในเวทีระดับโลก

ทั้งนี้ ในปี 2564 การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่า 110,799 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 17.1% จากปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 65,015 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 17.2% สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาหารเลี้ยงสัตว์ และไทยนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 45,784 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 16.9% โดยสินค้านำเข้าที่สำคัญ อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันดิบ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 มี.ค. 65)

Tags: , ,
Back to Top