ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 65 มาอยู่ที่ 2.5-4.5% จากครั้งก่อนที่คาดว่า GDP จะขยายตัว 3.0-4.5% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ขยับมาที่ 2.0-3.0% จากเดิม 1.5-2.5% ส่วนส่งออก คาดว่ายังมีแนวโน้มขยายตัว 3.0-5.0% ตามเดิม
กกร.ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนในหลายด้าน ทั้งเงินเฟ้อ การส่งออก รวมถึงการท่องเที่ยว โดยเงินเฟ้อมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นมากตามทิศทางราคาพลังงาน โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจสูงกว่าระดับ 3% ได้เป็นเวลานาน ซึ่งจะเป็นแรงกดดันต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์และกำลังซื้อในประเทศ และเป็นช่องทางหลักที่ความขัดแย้งรัสเซียยูเครนจะกระทบเศรษฐกิจไทย
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า กกร. ปรับกรอบประมาณการ GDP ล่าสุดลงเหลือ 2.5-4.5% เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน และราคาพลังงานที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นการ
ปรับลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทั้งนี้ ยังไม่รวมในกรณีที่ยกเลิก Test&Go ซึ่งต้องติดตามเรื่องการท่องเที่ยวต่อไป เนื่องจากก่อนหน้านี้การท่องเที่ยวหายไป
ส่วนปัจจัยหลักที่ทำให้ กกร.ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อมาจากเรื่องราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งคาดว่าการปรับขึ้นของราคาน้ำมัน ที่ล่าสุดแตะ 100 ดอลลาร์/บาร์เรล มองว่าโอกาสที่จะปรับตัวลงยาก ซึ่งคาดว่าจะยืดเยื้อถึง 20-30 วัน ขณะเดียวกัน
น้ำมันยังเป็นต้นทุนวัตถุดิบสินค้าหลายชนิด จึงส่งผลให้ กกร.ต้องปรับอัตราเงินเฟ้อขึ้น ซึ่งมีโอกาสที่ราคาสินค้าจะค่อยๆ ทยอยปรับตัวขึ้นและส่วนใหญ่ไม่ค่อยปรับลง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับต้นทุนการผลิตของแต่ละแห่ง ดังนั้นการตรึงราคาสินค้าจึงทำได้ยาก
อย่างไรก็ดี หากราคาน้ำมันเพิ่มสูงกว่านี้ ประเทศไทยซึ่งใช้กองทุนสนับสนุนในการคุมราคาน้ำมันดีเซล ที่ต้องใช้งบในส่วนนี้เดือนละหลายพันล้านบาท ก็จะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ต้องดูความเข้มแข็งของรัฐบาล นอกจากนี้ ราคาสินค้าอื่นๆ ก็ขึ้นไปตามกระแส
ราคาตลาดโลก
“ไม่แน่ใจว่าราคาน้ำมันจะเกิน 120 เหรียญ/บาร์เรลหรือไม่ แต่ 100 เหรียญ/บาร์เรลขึ้นไปน่าจะอยู่ยาว ขึ้นอยู่กับยุโรปและอเมริกาว่าจะระบายสต็อกไหม ซึ่งการส่งออกน้ำมัน ทำได้ลำบาก และก็มีการปั่นราคาด้วย ดังนั้นในระยะสั้นอยากให้ดูเรื่องน้ำมัน และค่าครองชีพที่สูงขึ้น” นายสุพันธุ์ กล่าว
ขณะที่การส่งออกได้รับผลกระทบทางตรงจากตลาดรัสเซียและยูเครนไม่มาก แต่อาจจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจคู่ค้าอื่นที่ชะลอลง โดยเฉพาะสหภาพยุโรป
ด้านการท่องเที่ยวอาจได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียที่จะลดลงจากมาตรการที่จำกัดการเดินทาง เช่นการปิดน่านฟ้า แต่กระทบการท่องเที่ยวโดยรวมไม่มากนัก
นายสุพันธุ์ กล่าวถึงการทำธุรกรรมทางการเงินว่า ประเทศรัสเซียน่าจะใช้ประเทศจีน หรือประเทศพันธมิตร ทำธุรกรรมทางการเงินแบบทางอ้อม ทั้งนี้ ต้นทุนทางการเงินจะสูงขึ้น ประกอบกับเรื่องความเชื่อใจ ทำให้การดำเนินการทุกอย่างทำได้ลำบาก และการค้าระหว่างไทยกับรัสเซียและยูเครนก็จะลดลงในระยะสั้น
พร้อมมองว่า สถานการณ์การเงินของไทยยังมีเงินไหลเข้ามาในประเทศอยู่พอสมควร จึงทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น โดยในกลุ่มประเทศอาเซียนนั้นไทยยังถือว่าอยู่ในประเทศปลอดภัย ดังนั้น จึงควรใช้วิกฤติให้เป็นโอกาสในการชักชวนให้เกิดการลงทุนมากขึ้น
“เศรษฐกิจไทยอาจชะลอ แต่ตัวเลข GDP แล้วไม่ได้ร่วงลงเยอะ เปรียบเทียบกับปีก่อนก็ดีกว่า ด้านการส่งออกยังโตต่อเนื่องที่ 3.0-5.0% ด้านค่าเงินยังอยู่ในเกณฑ์ที่เสถียร สถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ทำให้ค่าเงินผันผวนมากเท่าไรนัก” นายสุพันธุ์ กล่าว
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทางฝั่งเอเชีย รวมถึงไทยกำลังเข้าสู่จุดสูงสุด แต่ก็ไม่ได้เพิ่มความเข้มงวดของมาตรการควบคุมโรค ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ยังสามารถดำเนินต่อไปได้ตามปกติ ทั้งนี้ ภาคเอกชนขอบคุณรัฐบาลที่ยกเลิกการตรวจ RT-PCR ครั้งที่ 2 (วันที่ 5) และปรับเป็นการตรวจด้วย ATK แทน แต่หากมีการยกเลิกมาตรการ Test&GO จะช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวและนักลงทุนจากต่างชาติ ซึ่งจะเป็นตัวช่วยที่ดีและเป็นแรงหนุนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจต่อไป โดยมองว่าหากยกเลิก Test&Go นักท่องเที่ยวจะเข้ามาอีกจำนวนมากทะลุ 5 ล้านคนขึ้นไปแน่นอน
“วันนี้เสนอมาตรการด้านการท่องเที่ยวที่จะเปิดกว้างมากขึ้น ส่วนมาตรการอื่นๆ ต้องดูภาวะสงคราม ภาวะต่างๆ ว่าจะมีผลต่อเนื่องอย่างไร ซึ่งมองว่ารัฐบาลควรเตรียมเงินกู้อีกสักก้อน อุดหนุนเรื่องน้ำมัน และเศรษฐกิจ หากรัฐจะตรึงราคาน้ำมันก็ดี แต่ต้องเตรียมงบอีกมาก” นายสุพันธุ์ กล่าว
ทั้งนี้ กกร.ขอเสนอให้ภาครัฐจัดตั้งคณะทำงานร่วม (รัฐ-เอกชน) ในการเป็น Focal Point ในการติดตามและประเมินสถานการณ์เพื่อให้เอกชนได้รับข้อมูลจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การปิดน่านฟ้า การประกาศหยุดของสายเรือ รวมถึงผลกระทบหากเกิดกรณีการคว่ำบาตรโดยชาติตะวันตกและพันธมิตรด้วย เพื่อวางแผนในการขนส่งสินค้าไทยต่อไป
กรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2565 ของ กกร.
%YoY | ปี 2565 | ปี 2565 | ปี 2565 |
(ม.ค.65) | (ก.พ.65) | (มี.ค.65) | |
GDP | 3.0 – 4.5 | 3.0 – 4.5 | 2.5 – 4.5 |
ส่งออก | 3.0 – 5.0 | 3.0 – 5.0 | 3.0 – 5.0 |
เงินเฟ้อ | 1.2 – 2.0 | 1.5 – 2.5 | 2.0 – 3.0 |
ด้านนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า มีความกังวลในความขัดแย้งในครั้งนี้ เนื่องจากไม่ทราบว่าสถานการณ์จะบานปลายไปถึงไหน จึงต้องจับตาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี สิ่งที่เห็นได้ชัดเจน คือราคาน้ำมัน ราคาพลังงานขึ้นไปสูงมาก ถ้าขัดแย้งกัน จะมีเรื่องต้นทุนพลังงาน เพราะทุกการผลิตต้องใช้พลังงาน
อีกส่วนที่น่าเป็นห่วง คือ ปุ๋ยและอาหารสัตว์ ต้นทุนจะเพิ่มสูงขึ้น และไทยนำเข้ามาพอสมควร ซึ่งถ้าอาหารสัตว์ขึ้นราคาจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงการผลิตที่ต้นทุนจะสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ยังไม่ทราบว่าจะปรับราคาอย่างไร เนื่องจากยังไม่รู้ว่าต้นทุนจะเพิ่มขึ้นไปสูงถึงจุดใด
“นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เคยบอกว่าถ้าราคาสินค้าขึ้นไปก็คงต้องปรับ เราพยายามช่วยเต็มที่ ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทย และผู้บริโภคยังไม่มีกำลัง เนื่องจากสถานการณ์โควิด ขณะนี้ต้นทุนการขนส่งเพิ่มสูงขึ้น จากทั้งค่าเฟรท ค่าตู้คอนเทนเนอร์” นายพจน์ กล่าว
ส่วนการส่งออกสินค้าของไทยไปยังรัสเซีย ยังมีสัดส่วนการส่งออกที่น้อย ดังนั้น ความขัดแย้งในครั้งนี้จะเป็นผลกระทบแบบห่วงโซ่ และไม่เกิดผลกระทบในทันที
อย่างไรก็ตาม ปัญหาความขัดแย้งในครั้งนี้ส่งผลให้สกุลเงินบาทอ่อนค่า ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้ส่งออกชั่วคราวในช่วง 1 เดือน โดยมองว่าค่าเงินบาทควรอยู่ที่ประมาณ 33.00 บาท/ดอลลาร์
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นอกจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีราคาข้าวสาลี และข้าวโพด ซึ่งเป็นส่วนผสมของอาหารสัตว์สูงขึ้นด้วย ซึ่งส่งผลกระทบทำให้เนื้อสัตว์ และอาหารสัตว์ราคาสูงขึ้นตาม
ด้านการท่องเที่ยว มองว่านักท่องเที่ยวจากรัสเซียอาจจะลดลงครึ่งหนึ่งจากที่คาดการณ์ไว้ 5-6 แสน ทั้งนี้ จะได้รับการทดแทนจากนักท่องเที่ยวประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีค่าใช้จ่ายต่อคนสูงอยู่ที่ประมาณ 1 แสนบาท อย่างไรก็ดี คาดว่านักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในปีนี้จำนวน 5-6 ล้านคนนั้น จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้น
ด้านนายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวถึงระบบการเงินระหว่างไทยและรัสเซียว่า หากรัสเซียถูกตัดออกจากระบบการเงิน SWIFT คาดว่ารัสเซียจะหาช่องทางอื่นในการโอนเงิน ไม่ใช่เฉพาะบริการทั่วไปเท่านั้น แต่รวมสินค้าบางตัวอย่างน้ำมัน แก๊ส และผลผลิตด้วย
อย่างไรก็ดี ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการหารือในประเด็นนี้แล้ว ซึ่งไทยมีธุรกรรมกับรัสเซียจำนวนน้อย และมีสินค้าบางรายการได้รับผลกระทบบ้าง เช่น ข้าวสาลี ซึ่งไทยยังคงใช้ช่องทางการโอนเงินผ่าน SWIFT เป็นหลัก ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการดำเนินการของผู้ประกอบการในการบริหารช่องทางการทำธุรกรรม สำหรับค่าเงินในสถานการณ์นี้ ทีมเศรษฐกิจรายงานว่าค่าเงินบาทจะอยู่ในกรอบที่ 32.50-33.00 บาท/ดอลลาร์
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 มี.ค. 65)
Tags: GDP, กกร., สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรม, สมาคมธนาคารไทย, อัตราเงินเฟ้อ, เศรษฐกิจไทย