นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) เปิดเผยว่า ที่คณะกรรมการธนาคารที่ได้อนุมัติออกและจัดสรรใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุน (วอร์แรนต์) ของธนาคารครั้งที่ 1 (TTB-W1) ไม่เกิน 966,228,745 หน่วย ให้แก่ผู้ถือหุ้น ภายใต้เงื่อนไขว่าธนาคารจะไม่จัดสรรให้ผู้ถือหุ้นที่จะทำให้ธนาคารมีหน้าที่ตามกฎหมายต่างประเทศ (Preferential Public Offering (PPO) โดยไม่คิดมูลค่า จัดสรร 100 หุ้นสามัญ ต่อ 1 หน่วยใบสำคัญแสดงสิทธิ โดยใบสำคัญแสดงสิทธิดังกล่าวมีอายุ 3 ปี นับจากวันที่ได้ออกใบสำคัญแสดงสิทธิ อัตราใช้สิทธิ 1 หน่วย ต่อหุ้นสามัญ 1 หุ้น ราคาใช้สิทธิ 0.95 บาท/หุ้น
ธนาคารมองว่าการเสนอออกวอร์แรนท์ให้กับผู้ถือหุ้นนั้น ถือเป็นจังหวะที่เหมาะสมในช่วงที่ธนาคารมองหาจังหวะในการระดมเงินทุนเพื่อเตรียมความพร้อมในการลงทุนอื่นๆในอนาคต ที่จะเข้ามาเสริมศักยภาพการทำงานและการบริการให้กับธนาคาร และแนวโน้มของราคาหุ้น TTB ยังเป็นแนวโน้มในทิศทางที่ดี ทำให้เป็นจังหวะที่เหมาะสมในการพิจารณาออกวอร์แรน์ โดยที่ธนาคารคาดว่าจะได้รับเงินจากการวอร์แรนท์เข้ามาราว 1 พันล้านบาท เพื่อรองรับโอกาสการลงทุนในอนาคต
นายปิติ ยังเปิดเผยว่า กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของธนาคารในปี 65 จะหันมาเน้นการใช้ช่องทางของ Digital Banking เข้ามาตอบโจทย์การใช้บริการลูกค้าทุกกลุ่มของธนาคารมากขึ้น ซึ่งจะมีการพัฒนาช่องทางการบริการผ่านระบบดิจิทัลที่ตรงใจ ใช้ง่าย และมีประโยชน์กับลูกค้าอย่างแท้จริง เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการและ Solution ทางการเงินของธนาคารได้อย่างสะดวก และทำให้ธนาคารสามารถใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์ม Digital Banking นำข้อมูของลูกค้ามาออกแบบผลิตภัณฑ์บริการทางการเงินต่างๆที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น ภายใต้การดำเนินกลยุทธ์ “The Bank of Financial Well-being” ที่เดินหน้าสู่การเป็นธนาคารที่เป็นผู้นำด้านการสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นให้กับคนไทยทั้งในวันนี้ และอนาคต
ทั้งนี้ ธนาคารได้จัดตั้ง ttb spark ทีมงานที่มีเป้าหมายในการสร้างสรรค์ไอเดียและพัฒนาดิจิทัลโซลูชันโดยเฉพาะ ซึ่งได้แยกโครงสร้างการทำงานออกมาอย่างชัดเจนเพื่อเพิ่มความคล่องตัว พร้อมส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่ช่วยให้ลูกค้ามีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น และยังสามารถต่อยอดไปได้ทั้งระบบ เช่น Ecosystem ของรถยนต์ ที่ประกอบด้วยผู้ใช้ ผู้ขาย และผู้ให้บริการต่างๆที่จะได้รับโซลูชันทางการเงินที่ช่วยให้ชีวิตหรือธุรกิจดีขึ้นได้
นายนริศ อารักษ์สกุลวงศ์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ทีทีบี สปาร์ค กล่าวว่า ธนาคารต้องการทำให้ดิจิทัลแบงก์กิ้งเป็นได้มากกว่าแพลตฟอร์มที่ลูกค้าสามารถบริหารจัดการเงินทั่วไป โดยจะต้องสามารถแนะนำ ช่วยเหลือ และนำเสนอสิทธิประโยชน์ต่างๆได้ในระดับบุคคล เพื่อให้ลูกค้ามีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นแนวทางกลยุทธ์ Humanized Digital Banking ของธนาคาร โดยในปีนี้เราเตรียมที่จะพลิกโฉมแอปพลิเคชัน ttb touch ให้กลายเป็นผู้ช่วยส่วนตัวและที่ปรึกษาที่รู้ใจ ช่วยให้ชีวิตทางการเงินของลูกค้าดีขึ้นได้อย่างรอบด้าน
ttb touch มีไฮไลท์ 4 ฟีเจอร์เด่น คือ 1. ผู้ช่วยส่วนตัวที่ให้ข้อมูลและแจ้งเตือนเรื่องสำคัญที่เกี่ยวกับลูกค้าโดยเฉพาะ ด้วยการใช้ Data Analytics วิเคราะห์พฤติกรรม นำเสนอ และช่วยแจ้งเตือนในธุรกรรมสำคัญต่าง ๆ เช่น จ่ายบิลค่าน้ำ ค่าไฟ บิลโทรศัพท์มือถือ โดยที่ลูกค้าไม่ต้องตั้งเตือน
2. ให้คำแนะนำและทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย อาทิ บริการด้านประกันที่จะช่วยรวบรวมข้อมูลและแสดงผลภาพรวมความคุ้มครองทั้ง 3 ด้าน คือ ดูแลสุขภาพ ออมเพื่อเกษียณ และดูแลคนข้างหลัง โดยแสดงให้เห็นว่าประกันที่มีครอบคลุมและเพียงพอกับ Life Style และ Life Stage ของลูกค้าหรือไม่ ทำให้เรื่องประกันที่ซับซ้อนกลายเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่าย
3. รวบรวมและจัดระเบียบเอกสารทางการเงินไว้บน ttb touch สะดวกในการค้นหา เรียกดูง่าย และขอเอกสารได้ ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปสาขาอีกต่อไป เช่น เอกสารรับรองสถานะทางการเงิน และเอกสารข้อมูลเครดิตบูโร
และ 4. รวบรวมสิทธิประโยชน์ไว้ในที่เดียว พร้อมเลือกสรรแคมเปญโปรโมชันที่เหมาะสำหรับลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าไม่พลาดทุกความคุ้มค่าที่ธนาคารมอบให้
นอกจากนี้ในอนาคต ttb touch จะเป็นมากกว่าผู้ช่วยและที่ปรึกษาเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับการธนาคาร โดยจะเข้ามาช่วยจัดการด้านอื่นๆ เช่น การบริหารจัดการเรื่องการจ่ายค่างวดสินเชื่อรถ ต่อประกัน รวมไปถึงการขายรถและการหาซื้อรถคันใหม่มาทดแทน เพื่อทำให้ชีวิตของลูกค้าดีขึ้นรอบด้านได้อย่างแท้จริง โดยที่การพัฒนาศักยภาพของแอปพลิเคชัน ttb touch ธนาคารคาดหวังจะผลักดันให้เป็น Mobile Banking ที่มีฐานผู้ใช้งานขึ้นไปสู่ Top 3 ของอุตสาหกรรม จากปัจจุบันที่มีฐานลูกค้าใช้งาน ttb touch อยู่กว่า 4 ล้านราย
นายปิติ กล่าวต่อว่า ธนาคารยังมองเห็นถึงโอกาสในการขยายฐานลูกค้าด้านสินเชื่อ โดยเพาะในส่วนของสินเชื่อทีไม่มีหลักประกัน ซึ่งเป็นกลุ่มสินเชื่อที่ธนาคารไม่ได้มีการทำตลาดมาก่อนหน้านี้ จากการมองเห็นการกลับมาฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และทำให้คนมีรายได้กลับมา ส่งผลต่อการจับจ่ายใช้สอยต่างๆเริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้น ทำให้ธนาคารมีความมั่นใจและเริ่มเห็นโอกาสในการกลับมาฟื้นตัวขึ้นของกลุ่มสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน และโอกาสของช่องว่างทางการตลาดที่ธนาคารมีอยู่
ดังนั้น ธนาคารจึงได้จัดตั้งบริษัทใหม่ คือ ttb consumer เพื่อเพิ่มศักยภาพการนำเสนอบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลที่ครบวงจร และการเข้าถึงลูกค้าได้ในวงกว้าง พร้อมนำเสนอและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น ทั้งยังสามารถร่วมมือกับพันธมิตรรายใหม่ๆ เพื่อสร้างสิทธิประโยชน์ให้ลูกค้าได้หลากหลายขึ้น โดยธนาคารได้วางเป้าหมายว่า ttb consumer จะสามารถก้าวขึ้นเป็น Top 4 ของธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลได้
ส่วนสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในปีนี้ธนาคารมองว่าจะมีการฟื้นตัวขึ้น จากความต้องการซื้อรถยนต์ที่กลับมาเพิ่มขึ้นตามภาวะของเศรษฐกิจและความมั่นใจที่ฟื้นกลับมา แต่ยังมีความท้าทายในเรื่องของการผลิตและส่งมอบรถยนต์ที่ยังเกิดความล่าช้าขึ้น จากปัจจัยของการขาดแคลนซัพพลายการผลิตรถยนต์ ซึ่งทำให้ระยะเวลาการส่งมอบรถใหม่ใช้ระยะเวลานานขึ้น ซึ่งมีผลกระทบมาถึงการเบิกใช้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่ลูกค้าได้รับการอนุมัติแล้วด้วยเช่นกัน ซึ่งยังคงเป็นปัจจัยที่ธนาคารมีการติดตามในปีนี้
นอกจากนี้จากการที่ธนาคารมีฐานลูกค้าที่ใช้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เป็นจำนวนมาก ธนาคารได้เล็งเห็นถึงโอกาสในการต่อยอดการให้บริการด้านการเงิน โดยเฉพาะการช่วยเหลือลูกค้าที่มีการกู้ยืมสินเชื่อประเภทอื่นที่มีภาระดอกเบี้ยในระดับที่สูง สามารถนำสินเชื่ออื่นๆมารวมหนี้กับสินเชื่อที่มีหลักประกัน เช่น บ้าน หรือรถยนต์ เป็นต้น ซึ่งเป็น Solution ที่ธนาคารมีการนำเสนอเพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยของลูกค้า
ขณะที่ในส่วนของรายได้ค่าธรรมเนียมในปี 65 คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีก่อน จากการที่ภาวะเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวกลับมา ซึ่งกลุ่มลูกค้าธุรกิจในกลุ่มนำเข้าและส่งออก ยังคงเห็นการค้าขายที่เติบโตขึ้น ซึ่งเป็นลูกค้ากลุ่มธุรกิจหลักที่มีการทำธุรกรรมเป็นจำนวนมากและสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมเข้ามาได้ค่อนข้างมากในปีนี้
ส่วนของนานหน้าขายประกันผ่านสาขาของธนาคารก็จะดีขึ้น จากการที่คนมีรายได้กลับมามากขึ้น ส่งผลให้เริ่มกลับมาซื้อประกัน รวมทั้งธนาคารยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันร่วมกับพันธมิตร ทำให้มีผลิตภัณฑ์ประกันที่เข้าถึงกลุ่มที่มีรายได้ไม่สูง สามารถซื้อประกันความคุ้มครองด้านสุขภาพได้ ซึ่งทำให้ธนาคารขยายฐานลุกค้าได้กว้างขึ้น รวมถึงบริการด้านการลงทุนผ่านกองทุนรวม ยังคงเห็นการเติบโตของการลงทุนต่อเนื่อง ภายใต้ภาวะตลาดที่มีความผันผวน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 มี.ค. 65)
Tags: TTB, ทีทีบี สปาร์ค, ธนาคารทหารไทยธนชาต, นริศ อารักษ์สกุลวงศ์, ปิติ ตัณฑเกษม, วอร์แรนต์, หุ้นไทย