นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 32.63/65 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าเล็ก น้อยจากเย็นวานที่ระดับ 32.65 บาท/ดอลลาร์
ช่วงนี้เงินบาทเคลื่อนไหวตามปัจจัยความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งช่วงนี้ต่างฝ่ายต่างอยากกลับเข้าสู่โต๊ะเจรจา จึง ทำให้ทิศทางของเงินบาทไปในทางแข็งค่า แต่อย่างไรก็ดี ยังมีความเสี่ยงและมีโอกาสที่สถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
“เมื่อใดที่ความขัดแย้งปะทุขึ้น ตลาดหุ้นจะลง เงินบาทจะอ่อน แต่เมื่อมีสัญญาณบวก เช่น การพัก การหยุดยิง ตลาดหุ้นก็จะดี บาทก็จะกลับมาแข็งค่า…สถานการณ์ตอนนี้ยังมีโอกาสจะเปลี่ยนแปลงได้ทุกนาที”
นักบริหารเงินระบุ
ช่วงนี้ปัจจัยที่ต้องติดตามนอกจากเป็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนแล้ว ต้องติดตามท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพราะหลังจากเริ่มเกิดความขัดแย้งขึ้นในรัสเซีย-ยูเครนแล้ว เริ่มมีข่าวออกมาว่าอาจจะทำให้เฟดชะลอการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายใน การประชุมเดือนมี.ค.นี้
นักบริหารเงิน คาดว่า เงินบาทวันนี้จะเคลื่อนไหวในกรอบ 32.50 -32.80 บาท/ดอลลาร์
THAI BAHT FIX 3M (28 ก.พ.) อยู่ที่ระดับ 0.36948% ส่วน THAI BAHT FIX 6M อยู่ที่ระดับ 0.48401%
ปัจจัยสำคัญ
– เงินเยนอยู่ที่ระดับ 115.19 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวานที่ระดับ 115.54 เยน/ดอลลาร์
– เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.1206/07 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวานที่ระดับ 1.1174 ดอลลาร์/ยูโร
– อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 32.723 บาท/ดอลลาร์
– รมว.คลัง เปิดเผยว่า ในเร็วๆ นี้กระทรวงการคลังจะหารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงสถานการณ์สู้รบ ระหว่างรัสเซียกับยูเครน ว่ามีผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยอย่างไรโดยเฉพาะกรณีที่สหรัฐและพันธมิตรประเทศโลกตะวันตกได้ตัด ธนาคารบางแห่งของรัสเซียออกจากระบบการชำระเงินระหว่างธนาคารโลก ซึ่งคลังได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและกำลังประเมินว่า ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและการส่งออกมาน้อยเพียงใด
– พาณิชย์ถกเอกชน 2 มี.ค.นี้ เกาะติดรัสเซีย-ยูเครน ด้านทูตพาณิชย์ลั่นนานาชาติตัดรัสเซียจาก SWIFT กระทบส่งออกไทย แน่ เหตุไม่ได้รับชำระค่าสินค้า แนะผู้ส่งออกชะลอรับออเดอร์ ลดเสี่ยง ขณะที่คลังเตรียมถก ธปท.ประเมินผลกระทบเศรษฐกิจ ส่วน ธปท. ชี้เตะรัสเซียพ้น SWIFT ยังไม่กระทบธุรกิจไทย
– สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงภาวะสังคมไทย ไตรมาสที่ 4/64 ว่าหนี้สินครัว เรือน ในไตรมาส 3/64 ขยายตัวชะลอลง คุณภาพสินเชื่อปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย แต่ต้องเฝ้าระวังการเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) หรือหนี้เสีย เนื่องจากสัดส่วนสินเชื่อค้างชำระไม่เกิน 3 เดือนต่อสินเชื่อรวมมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
– สกุลเงินยูโรร่วงลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันจันทร์ (28 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการที่ชาติตะวันตกประกาศคว่ำบาตรรัสเซีย ส่วนสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเล็กน้อย เมื่อเทียบกับสกุลเงินบางสกุล
– สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันจันทร์ (28 ก.พ.) โดยได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนเข้าซื้อทองในฐานะ สินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ยูเครน นอกจากนี้ สัญญาทองคำได้ปัจจัยบวกจากการร่วงลงของอัตราผล ตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ
– นักลงทุนจับตานายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งมีกำหนดกล่าวแถลงการณ์รอบครึ่งปีว่า ด้วยนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐต่อสภาคองเกรสในวันที่ 2-3 มี.ค. โดยอาจเป็นการแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบาย การเงินต่อสาธารณะเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่เฟดจะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 15-16 มี.ค.
– นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร ประจำเดือนก.พ.65 ของสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้ ขณะที่ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 415,000 ตำแหน่ง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 มี.ค. 65)
Tags: ค่าเงินบาท, เงินบาท