น.ส.จินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวอย่างรุนแรง โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ที่เฉพาะ GDP ของ SMEs สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ลดลงมากถึง 47%
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการบางกลุ่มสามารถปรับตัวดำเนินธุรกิจได้ ซึ่งสะท้อนถึงความเข้มแข็งของผู้ประกอบการ ดังนั้น การศึกษาการปรับตัวของผู้ประกอบการ และแรงงานจากผลกระทบ ตลอดจนเสียงสะท้อนต่อมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ จะเป็นบทเรียนและข้อเสนอแนวทางการฟื้นฟู SMEs ให้เกิดการจ้างงานและขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป
ดังนั้น สศช. จึงร่วมกับบริษัทศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ จำกัด (Research Centre for Social and Business Development Co., Ltd.) หรือ SAB ได้ทำการสำรวจการปรับตัวของแรงงานและผู้ประกอบการ SMEs จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในภาคการท่องเที่ยวที่ยังเปิดดำเนินกิจการอยู่ใน 5 ประเภท คือ ที่พักแรม การบริการอาหาร ขนส่งทางบก ท่องเที่ยว และขายของที่ระลึก จำนวนผู้ประกอบการทั้งสิ้น 1,534 ตัวอย่าง และแรงงาน 3,068 ตัวอย่างใน 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ นครราชสีมา ภูเก็ต ชลบุรี และประจวบคีรีขันธ์ (ช่วงเดือนมิ.ย.-ก.ย.64) โดยมีผลการสำรวจที่สำคัญ คือ
1. รายได้ผู้ประกอบการที่ลดลงในช่วงโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงิน และการมีหนี้สิ้นที่เพิ่มขึ้น โดยในปี 64 มีรายได้ลดลงมากกว่าปี 63 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะกลุ่มที่พักแรม ท่องเที่ยว และบริการอาหาร และมากกว่า 1 ใน 3 ของผู้ประกอบการมีปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน ส่งผลให้จำนวนผู้ประกอบการที่เป็นหนี้ในปี 64 เพิ่มขึ้น ประมาณ 10% จากปี 62 รวมทั้งความสามารถในการชำระหนี้ลดลงจากปกติที่ 93.4% เหลือ 63.3% ในปี 64
2. พื้นฐานทางการเงิน ต้นทุนคงที่ในการดำเนินธุรกิจ และความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ เป็นปัจจัยสำคัญต่อความอยู่รอดของธุรกิจ การมีสภาพคล่องทางการเงินที่ดี และเป็นธุรกิจที่มีต้นทุนคงที่ที่ไม่สูงมากนัก ทำให้สามารถใช้แนวทางการปรับลดเวลาการทำงานหรือเงินเดือน เพื่อพยุงสถานะทางธุรกิจได้ นอกจากนี้ ธุรกิจที่มีความยืดหยุ่นที่สามารถปรับแผนการตลาดให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปจะสามารถอยู่รอดได้
3. แรงงานมีรายได้ลดลง ส่งผลกระทบต่อเงินออม หนี้สิน และความเครียด โดยแรงงานส่วนใหญ่มีรายได้ลดลง จากการถูกลดชั่วโมงการทำงาน ลดเงินเดือน หรือให้พักงาน ส่งผลให้สัดส่วนผู้มีเงินเหลือเพื่อเก็บออมลดลง สำหรับด้านหนี้สินปี 63 สัดส่วนผู้ที่เป็นหนี้เพิ่มขึ้น 44.4% และเพิ่มเป็น 46.3% ในปี 64 ผลกระทบดังกล่าวส่งผลต่อความเครียดของแรงงาน โดยพบว่า แรงงาน 2 ใน 3 รู้สึกเครียดหรือวิตกกังวล โดยเฉพาะเรื่องความมั่นคงของงาน และกลัวการติดโรค
4. เทคโนโลยีมีความจำเป็นต่อความอยู่รอดในการประกอบธุรกิจ แต่การนำมาปรับใช้กับธุรกิจ SMEs ยังเป็นไปในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 84.7% ขายสินค้าหรือบริการผ่านช่องทางออนไลน์ 77.5% ทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ และ 88.4% รับชำระเงินผ่านระบบดิจิทัล อย่างไรก็ตาม มีเพียง 34.6% ที่มีการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการบริหารจัดกรธุรกิจ ขณะที่แรงงานส่วนใหญ่ 83.7% เห็นว่าตนเองมีความรู้ความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีระดับปานกลางถึงมาก และ 97.4% ไม่รู้สึกกังวลหากนายจ้างจะนำเทคโนโลยีมาช่วยในการทำงานมากขึ้น
สำหรับเสียงสะท้อนต่อมาตรการช่วยเหลือและฟื้นฟูเศรษฐกิจของภาครัฐ พบว่า
1. ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เข้าร่วมโครงการกระตุ้นกำลังซื้อของรัฐบาล แต่ยังมองว่าประโยชน์ที่ได้รับอยู่ในระดับปานกลาง โดย 77.6% ของผู้ประกอบการหรือแรงงานเข้าร่วมโครงการกระตุ้นกำลังซื้อของภาครัฐ ในจำนวนนี้ 63.1% เห็นว่าเป็นมาตรการที่ตรงกับความต้องการ โดยประโยชน์ที่ได้รับอยู่ในระดับปานกลาง ส่วนมาตรการช่วยเหลือที่คิดว่าเป็นผลตีต่อธุรกิจ ได้แก่ การสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียน, การสนับสนุนเงินชดเชยเยียวยา และการลดค่าน้ำ ไฟฟ้า สาธารณูปโภค
2. เพียง 1 ใน 3 ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นว่า จะสามารถอยู่รอดและกลับมาฟื้นฟูธุรกิจได้หลังผ่านวิกฤติโควิด-19 โดยผู้ประกอบการเพียง 36.4% มีความเชื่อมั่นค่อนข้างมากถึงมากที่สุด และ 70% ยังไม่มีแผนฟื้นฟูกิจการหลังการแพร่ระบาดยุติลง ทั้งนี้ มีข้อเสนอแนะต่อการช่วยเหลือฟื้นฟูกิจการ อาทิ การสนับสนุนด้านการเงินให้กับภาคธุรกิจ การสนับสนุนเงิน ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายหรือฟื้นฟูเยียวยากิจการ การประชาสัมพันธ์หรือโฆษณาการท่องเที่ยวให้น่าสนใจขึ้น
3. มาตรการประกันสังคมและการกระตุ้นกำลังซื้อผ่านโครงการคนละครึ่ง เป็นมาตรการที่กลุ่มแรงงานส่วนใหญ่เข้าถึงได้มากกว่ามาตรการอื่น โดยต้องการความช่วยเหลือในรูปแบบการแจกเงินชดเชยเยียวยามากที่สุด รองลงมา คือ สนับสนุนหรือช่วยเหลือค่าครองชีพ
4. มุมมองต่อนโยบายการจัดการปัญหาโควิดเกี่ยวกับการเปิดรับนักท่องเที่ยว ส่วนใหญ่ประเมินว่า การจัดการปัญหาของภาครัฐยังไม่ดีพอ เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวในช่วงแรกไมได้ถูกให้ความสำคัญ โดยมีประเด็นที่ควรปรับปรุง คือ การกำหนดมาตรการและแนวทางการปฏิบัติให้มีความชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องเอกสาร ขั้นตอน และวิธีการที่เกี่ยวกับนักท่องเที่ยว
ทั้งนี้ ผลการสำรวจข้างต้นชี้ว่า ธุรกิจ SMEs ภาคการท่องเที่ยวที่สามารถรับมือกับสถานการณ์วิกฤตได้ จะมีปัจจัยที่สำคัญ คือ รากฐานการเงิน การปรับแผนทางการตลาดให้สอดคล้องกับสถานการณ์ การไม่พึ่งพิงกลุ่มลูกค้ากลุ่มเดียว และความสามารถในการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น จากผลกระทบต่อผู้ประกอบการ แรงงานที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ควรมีมาตรการรับมือ ดังนี้
1. การสนับสนุนด้านการเงิน เพื่อเสริมสภาพคล่อง และลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการ แรงงาน โดยเน้นให้สามารถเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือได้ อาทิ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อฟื้นฟูกิจการ การลดหรือยกเว้นภาษี รวมถึงการช่วยเหลือเยียวยาสำหรับแรงงานที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม
2. การส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยจัดแคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยวตามช่วงฤดูกาล ที่เน้นการท่องเที่ยวในประเทศเป็นหลัก สนับสนุนการท่องเที่ยวให้กับกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อย จัดทำแพ็กเกจการเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร ที่เน้นสำหรับสถานประกอบการ SMEs
3. การส่งเสริมทักษะและการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อการท่องเที่ยว โดยพัฒนาระบบอินเทอร์เน็ตเสรีให้มีความครอบคลุมและทั่วถึง สนับสนุนการฝึกอบรมพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล ที่สอดคล้องกับลักษณะธุรกิจของผู้ประกอบการ แรงงาน รวมทั้งสนับสนุน และฝึกอบรมทักษะแรงงานโดยเฉพาะในกลุ่มอาชีวะศึกษาที่อยู่ใน SME เพื่อเตรียมความพร้อมให้ทันต่อการพัฒนา
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ก.พ. 65)
Tags: SMEs, การท่องเที่ยว, จินางค์กูร โรจนนันต์, สภาพัฒน์, เศรษฐกิจไทย