นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้เรียกหน่วยงานพร้อมด้วยรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง อาทิ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง, นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน, นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข, นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ, พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เข้ามาร่วมหารือถึงผลกระทบจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างรัสเซียกับยูเครน ตลอดจนการให้ความดูแลและช่วยเหลือคนไทยในประเทศดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ นายกรัฐมนตรีได้ยกเลิกภารกิจการเดินทางไปเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) ที่สำนักงานท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง แต่ได้เปลี่ยนเป็นการเปิดงานผ่าน ระบบ Video Conference อยู่ที่ทำเนียบรัฐบาลแทน รวมทั้งยกเลิกการเดินทางไปเป็นประธานในพิธีมอบนโยบายด้านการอยู่อาศัยและการดูแลผู้สูงอายุของรัฐบาล ณ โครงการบ้านเคหะสุขเกษม จ.สมุทรปราการ โดยจะใช้การเปิดงานผ่านระบบ Video Conference อยู่ที่ทำเนียบรัฐบาลเช่นกัน
นายธนกร กล่าวว่า การประชุมในวันนี้เพื่อเป็นการติดตามสถานการณ์และพัฒนาการในยูเครน ซึ่งทวีความตึงเครียดขึ้นด้วยความห่วงกังวลอย่างยิ่ง ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบไม่มากก็น้อยต่อทุกประเทศ เนื่องจากทุกประเทศมีความสำคัญทางเศรษฐกิจกับไทย ซึ่งสิ่งที่เห็นได้ชัด คือ ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และราคาหุ้นและคริปโทฯ ที่ลดลง และเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบแน่นอนหากสถานการณ์ยืดเยื้อ
นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า ในส่วนของไทยได้ออกแถลงการณ์แสดงความเป็นห่วง และสนับสนุนความพยายามที่ยังคงดำเนินอยู่ เพื่อการแก้ไขสถานการณ์อย่างสันติผ่านการหารือ ในขณะที่อาเซียนก็ได้ออกถ้อยแถลงรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนว่ามีความห่วงกังวลอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ที่ผันผวน และความขัดแย้งกันด้วยอาวุธในยูเครน พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องใช้ความอดกลั้นอย่างสูงสุด และใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการหารือผ่านทุกช่องทาง รวมถึงช่องทางการทูต เพื่อควบคุมสถานการณ์ ลดความตึงเครียด ซึ่งไทยยินดีต่อความคืบหน้าที่ทั้งสองฝ่ายตกลงนัดที่จะเจรจา ทั้งนี้ ไทยพร้อมให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเต็มที่กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ
ในเรื่องนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศหาช่องทางช่วยเหลือ และขอให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป นอกจากเตรียมแผนอพยพคนไทยออกจากยูเครนแล้ว ยังได้สั่งการให้เตรียมแผน/มาตรการรองรับผลกระทบอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นอีกด้วย ทั้งสถานการณ์น้ำมัน ตลาดหลักทรัพย์ อัตราแลกเปลี่ยน และการค้าและการลงทุน โดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการต่างๆ อย่างรอบด้าน โดยที่ประเทศไทยมีความสัมพันธ์อันดีกับทุกประเทศ ดังนั้นการดำเนินการใดๆ ขอให้ทำด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง เหมาะสม และพร้อมรับมือหากสถานการณ์ทวีความรุนแรงขึ้น
ด้านนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน กล่าวว่า แม้ไทยจะยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการนำเข้าพลังงาน ทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเหลว แต่กระทรวงพลังงานได้ติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง เพื่อประเมินและเตรียมความพร้อมหากเกิดสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้น โดยได้เตรียมความพร้อมด้านปริมาณสำรองพลังงานไว้ รวมทั้งได้เตรียมมาตรการในการบรรเทาให้เกิดผลกระทบกับประชาชนให้น้อยที่สุด พร้อมขอให้ประชาชนเข้าใจสถานการณ์วิกฤตนี้ และร่วมกันใช้พลังงานอย่างประหยัดและคุ้มค่าที่สุด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ก.พ. 65)
Tags: ช่วยเหลือ, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, ประวิตร วงษ์สุวรรณ, ยูเครน, รัสเซีย, อนุทิน ชาญวีรกูล