PwC เผยผลสำรวจ CEO ส่วนใหญ่เชื่อมั่นศก.ปี 65 แข็งแกร่งขึ้นท่ามกลางโควิด-เงินเฟ้อสูง

ซีอีโอในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในระดับสูงที่สุดในรอบ 10 ปี โดย 76% คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกปีนี้จะแข็งแกร่งขึ้น ขณะที่มีเพียง 17% เท่านั้น ที่คาดว่าสภาวะเศรษฐกิจจะเลวร้ายลง แม้จะมีอุปสรรคมากมาย อาทิ แรงกดดันจากการแพร่ระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 และสภาวะตลาดทั้งอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน และกระแสการลาออกจำนวนมากของพนักงาน (Great Resignation)

ทั้งนี้ ระดับมุมมองเชิงบวกของการสำรวจครั้งนี้ ถือเป็นการเพิ่มขึ้นจากในปีก่อน และเพิ่มขึ้นจากปี 63 ซึ่งเป็นปีที่เกือบครึ่ง (48%) ของซีอีโอในเอเชียแปซิฟิกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะตกต่ำ

ผลสำรวจมุมมองของซีอีโอทั่วโลก ประจำปี ครั้งที่ 25 (25th Annual Global CEO Survey) ได้รวบรวมความคิดเห็นและวิสัยทัศน์ของซีอีโอโลกต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ รวมทั้งกลยุทธ์ และทิศทางธุรกิจภายใต้ความท้าทายใหม่ ๆ จำนวนทั้งสิ้น 4,446 ราย ซึ่งในจำนวนนี้ เป็นซีอีโอจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจำนวนทั้งสิ้น 1,618 ราย ในช่วงระหว่างเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน 64

นอกจากนี้ ระดับมุมมองเชิงบวกยังเพิ่มสูงมากที่สุดในประเทศอินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งกว่า 90% ของซีอีโอคาดว่า เศรษฐกิจโลกจะเติบโตได้ในปี 65 อย่างไรก็ตาม ซีอีโอในสาธารณรัฐประชาชนจีน กลับมองโลกในแง่ดีน้อยกว่าปีที่แล้ว โดยลดลงมาอยู่ที่ 62%

ความเชื่อมั่นต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของโลก ยังหมายถึงมุมมองเชิงบวกที่อยู่ในระดับสูงของการดำเนินธุรกิจของซีอีโอในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดย 50% ของซีอีโอแสดงความ “มั่นใจมาก” หรือ “มั่นใจอย่างยิ่ง” ต่อแนวโน้มการเติบโตของรายได้ในอีก 12 เดือนข้างหน้า

นายบ็อบ มอริตซ์ ประธาน PwC โกลบอล กล่าวว่า แม้การแพร่ระบาดยังคงดำเนินต่อไป และการเกิดขึ้นของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้เข้ามาปกคลุมปีนี้ แต่มุมมองเชิงบวกของซีอีโอที่อยู่ในระดับสูง สะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่ง และความสามารถในการตอบสนองต่อภาวะวิกฤตของเศรษฐกิจโลก รวมถึงความสามารถของซีอีโอในการจัดการกับความไม่แน่นอนด้วย

แม้ซีอีโอส่วนใหญ่จะมีมุมมองเชิงบวก แต่พวกเขาก็ตระหนักดีถึงภัยคุกคามที่อาจส่งผลกระทบต่อบริษัทของพวกเขาในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยซีอีโอในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้จัดอันดับให้ความเสี่ยงด้านสุขภาพ (58%) เป็นภารกิจสำคัญสูงสุดที่ต้องจัดการ (ยกเว้นจีนที่มีเพียง 42% ของซีอีโอที่แสดงความกังวลต่อความเสี่ยงด้านสุขภาพอยู่ในระดับสูง)

ทั้งนี้ ระดับความกังวลต่อความเสี่ยงด้านสุขภาพ ยังถือเป็นตัวเลขที่สูงกว่าซีอีโอทั่วโลก โดยพวกเขามองว่าภัยคุกคามไซเบอร์ ถือเป็นความกังวลเร่งด่วนที่สุด (49%) ซึ่งไม่ห่างไกลจากซีอีโอเอเชียแปซิฟิกที่มองภัยไซเบอร์ (44%) เป็นความเสี่ยงรองลงมา ตามด้วยความผันผวนของเศรษฐกิจมหภาค (43%)

ความแตกต่างนี้สะท้อนให้เห็นว่า แม้ว่าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะมีมุมมองเชิงบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่ยังคงต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ถ่ายทอดถึงกันได้สูง และการกระจายการฉีดวัคซีนที่ไม่สม่ำเสมอ มีเพียงแต่จีนเท่านั้นที่สามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่าภูมิภาคอื่น ๆ แต่ก็กำลังประสบกับปัญหาเงินเฟ้อ ฟองสบู่ด้านอสังหาริมทรัพย์ และการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานอยู่ในเวลานี้เช่นกัน

นอกจากนี้ ซีอีโอในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ยังแสดงความมุ่งมั่นในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero commitment) ในระดับที่แซงหน้าซีอีโอโลก โดย 60-69% ของซีอีโอในภูมิภาคนี้ ได้มีการดำเนินการตามปณิธานในการมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนและ/หรือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงกว่าซีอีโอโลกถึง 9-13% อย่างชัดเจน

นายชาญชัย ชัยประสิทธิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า ในรอบปีที่ผ่านมา ธุรกิจในประเทศไทยมีความตื่นตัวกับกระแส ESG ค่อนข้างมาก แต่ธุรกิจที่มีความมุ่งมั่นในการประกาศนโยบายต่อสาธารณะในการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ยังมีจำนวนไม่มากนัก ซึ่งพบว่า บริษัทเหล่านี้เป็นบริษัทไทยและบริษัทข้ามชาติ ทั้งที่จดทะเบียนและไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีจำนวนน้อยกว่า 20 แห่ง ที่ได้มีการประกาศเจตนารมณ์ในเรื่องนี้อย่างชัดเจน

สำหรับบริษัทที่ต้องการมุ่งสู่ Net Zero นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ หรือบริษัทข้ามชาติที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับต่างประเทศ เช่น มีสาขา หรือมีสินค้าขายอยู่ในต่างประเทศ หรืออยู่ในระบบซัพพลายเชนขนาดใหญ่ของโลก รวมถึงมีนักลงทุนต่างชาติสนใจเข้าลงทุน ซึ่งบริษัทเหล่านี้ มีความพร้อมทั้งในด้านขนาดและบุคลากรค่อนข้างสูงมากเมื่อเทียบกับบริษัททั่ว ๆ ไป

ทั้งนี้ ผลสำรวจยังแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างความไว้วางใจและปณิธานในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยพิจารณาจากคำตอบของซีอีโอต่อชุดคำถามเกี่ยวกับพฤติกรรมของลูกค้าของพวกเขา โดยซีอีโอในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของบริษัทที่ได้รับความไว้วางใจสูงสุด มีแนวโน้มที่จะเป็นผู้นำองค์กรที่ได้ตั้งปณิธานในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (37%) มากกว่าซีอีโอที่ถูกจัดให้อยู่ในลำดับต่ำที่สุดในเรื่องความไว้วางใจจากลูกค้า (20%)

นอกจากนี้ ซีอีโอของบริษัทที่ได้รับความน่าเชื่อถือสูงในภูมิภาคนี้ ยังมีแนวโน้มที่จะผนวกปัจจัยที่ไม่ใช่ปัจจัยทางการเงินเข้ากับการคำนวณผลตอบแทนของผู้บริหาร โดยพบว่า มากกว่าครึ่งของซีอีโอในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่เป็นองค์กรที่ได้รับความไว้วางใจสูงสุด มีการนำความพึงพอใจของลูกค้า (65%) และความผูกพันของพนักงานต่อองค์กร (57%) มาเป็นตัวชี้วัดในการพิจารณาผลตอบแทนและโบนัสของผู้บริหาร

“ในส่วนของ ESG เราพบว่า บริษัทไทยส่วนใหญ่มีความเข้าใจและเห็นถึงความสำคัญของการดำเนินการด้าน ESG มากขึ้น เปรียบเทียบกับ 12 เดือนก่อน โดยผู้บริหารเริ่มมีการศึกษาและหาข้อมูลเกี่ยวกับ ESG รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อกิจการ เราคาดว่า ในระยะข้างหน้ากระแสเรื่อง ESG ที่จะนำไปสู่การตั้งเป้า Net Zero ของบริษัทไทยจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว เพราะได้รับแรงกดดันจากต่างประเทศที่มีนโยบายชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ ไม่เฉพาะลูกค้า แต่ยังรวมไปจนถึงซัพพลายเออร์ ที่อาจมาจากกลุ่มประเทศที่มีสภาพแวดล้อมเรื่อง ESG เข้มข้น”

นาย ชาญชัย กล่าว

แม้ความสนใจต่อประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผลการดำเนินงานที่ไม่ใช่ด้านการเงินและ ESG จะเพิ่มขึ้น แต่กลยุทธ์ยังคงถูกขับเคลื่อนโดยตัวชี้วัดหลักทางธุรกิจ เช่น ความพึงพอใจของลูกค้า/พนักงาน และเป้าหมายของระบบการทำงานอัตโนมัติ/การเปลี่ยนสู่ดิจิทัล ลำดับถัดมาคือ เป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gas emission: GHG) และการแสดงออกทางเพศหรือความหลากหลายทางเชื้อชาติและชาติพันธุ์ ซึ่ง 19% หรือน้อยกว่านั้นของซีอีโอในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีเป้าหมายในเรื่องดังกล่าว ผนวกเข้ากับการพิจารณาผลตอบแทนและโบนัสของผู้บริหาร

นายชาญชัย กล่าวว่า การตั้งเป้าหมาย Net Zero เปรียบเสมือนการวางแผนการเดินทาง ที่ธุรกิจจะต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจก่อนว่า ESG คืออะไร และ ESG ในมิติไหนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของเราบ้าง ซึ่งแต่ละประเภทของธุรกิจ ผลกระทบก็จะแตกต่างกันไป และแม้การตั้งเป้าหมายจะไม่มีสูตรตายตัว แต่ต้องพิจารณาดูว่าธุรกิจต้องการจะพัฒนาด้านไหนบ้าง ก่อนที่จะทำการวัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่าง ๆ ของธุรกิจทั้งหมด เพื่อดูว่า Carbon footprint ที่ปล่อยออกมามีเท่าไร

หลังจากนั้น วางแผนว่าจะลดปริมาณการปล่อยให้น้อยที่สุดได้อย่างไร หรือต้องซื้อคาร์บอนเครดิต หรือจ่ายเป็นภาษีคาร์บอน เพื่อไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือที่เรียกว่า Carbon Neutral ซึ่งกระบวนการความเป็นกลางทางคาร์บอนนี้เอง ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่จะทำให้องค์กรพัฒนาไปสู่องค์กรที่เป็น Net Zero ในลำดับถัดไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ก.พ. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top