กสิกรฯ เชื่อตลาดหุ้นไทยยังเป็น Safe Haven ของต่างชาติช่วงวิตกสงครามยูเครน

นายกวี ชูกิจเกษม รองกรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย กล่าวในงานสัมมนา Economic Outlook Thailand Forecast ว่า ความเคลื่อนไหวในตลาดหุ้นจะตอบสนองทันทีต่อปัจจัยที่เข้ามากระทบ ทั้งข่าวธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เตรียมปรับขึ้นดอกเบี้ย สถานการณ์ยูเครน เนื่องจากเป็นการตัดสินใจโดยอิสระของนักลงทุนที่ไม่มีใครมาบงการ ซึ่งคาดว่าสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในช่วงนี้จะส่งผลให้ดัชนีหุ้นไทยปรับลดลงไปราว 20-30% มีแนวรับอยู่ที่ 1,550 จุด ขณะเดียวกันการท่องเที่ยวของไทยอาจได้รับอานิสงน์จากสถานการณ์ยูเครนฟื้นตัวดีขึ้นก็ได้ เนื่องจากไม่ได้เป็นภูมิภาคที่เกิดปัญหาความขัดแย้ง

“ดัชนีปรับลดลงมาในระดับที่ยอมรับได้ และสามารถเข้าไปลงทุนได้ แต่ไม่สามารถประเมินล่วงหน้าได้ว่าจะมีทิศทางอย่างไร” นายกวี กล่าว

ภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไทยนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมามีเงินทุนต่างประเทศไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพบว่าเป็นการย้ายเงินทุนมาจากประเทศอื่น โดยนักลงทุนจะแสวงหาการลงทุนที่ให้ผลประโยชน์ตอบแทนได้ดีที่สุด

“ตลาดหุ้นบ้านเราเป็นเหมือน Safe Haven ที่ต่างชาติเลือกเข้ามาลงทุนในปีนี้ เพราะให้ผลตอบแทนดีกว่าการลงทุนในตราสารหนี้ แต่ยอมรับว่ากังวลต่อสถานการณ์สงคราม แต่หากเปรียบเทียบแล้วจะไม่กระทบหนัก และยังมีโอกาสที่จะเข้าไปลงทุน” นายกวี กล่าว

สำหรับหุ้นที่แนะนำให้ลงทุนในช่วงนี้มี 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มธนาคารที่มีโอกาสขยายสินเชื่อเช่าซื้อรถยนอีวีและมีสัดส่วนของเอ็นพีแอลต่ำธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) 2.กลุ่มค้าปลีกที่ไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเงินเฟ้อ บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) 3.กลุ่มโรงแรมที่จะฟื้นตัวด้านท่องเที่ยว บมจ.โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา (CENTEL) และ 4.กลุ่มโรงพยาบาลที่มีการเติบโตต่อเนื่อง บมจ.โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH)

อย่างไรก็ตาม ขอแนะนำให้นักลงทุนไม่ควรลงทุนเต็มความเสี่ยง 10% ส่วนตราสารหนี้นั้นควรเป็นระยะสั้น สำหรับคริปโทฯ อาจเป็นการลงทุนทางเลือกที่ไม่ใช่ทางหลัก

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังเป็นประเด็นที่จะต้องเฝ้าระวังต่อไป เนื่องจากทั่วโลกยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำในการฉีดวัคซีน โดยในแอฟริกามีสัดส่วนเพียง 10.30% เท่านั้น ซึ่งหากปล่อยให้มีการแพร่ระบาดยาวนานจะเกิดปัญหาเชื้อกลายพันธุ์

ส่วนปัญหาเงินเฟ้อนั้นจะต้องลงไปดูในรายละเอียดว่ามีสาเหตุจากเรื่องใด โดยพบว่าปัจจัยสำคัญมาจากราคาพลังงาน 31.7% หากเฟดจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อก็อาจส่งผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้เช่นกัน ซึ่งจะส่งผลเสียรุนแรงมากกว่าปัญหาเงินเฟ้อ

“การขึ้นดอกเบี้ยแรงอาจผิดจังหวะ หากไม่เข้าไปดูว่าเงินเฟ้อเกิดจากจุดใด แนวทางการแก้ปัญหาเงินเฟ้อสามารถใช้กลไกอื่น เช่น การทำ QE หรือ QT, การตั้งสำรองต่อเงินฝาก ซึ่งเป็นการบริหารสินทรัพย์ของธนาคารอย่างมีประสิทธิภาพ”นายกอบสิทธิ์ กล่าว

ขณะที่คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จังยังไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปจนถึงปีหน้า เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ สำหรับค่าเงินบาทในช่วง 1 เดือนนี้คาดว่าจะอยู่ในกรอบ 31.90-33.20 บาท/ดอลลาร์

ส่วนการฟื้นตัวด้านการท่องเที่ยวคาดว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามา 6-8 ล้านคน ปี 66 เพิ่มเป็น 20 ล้านคน และขยับเป็น 40 ล้านคนเท่ากับช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 ในปี 67

สำหรับสถานการณ์ยูเครนหากบานปลายจะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันในตลาดโลกให้ปรับตัวสูงขึ้นไปอีก เนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันวันละ 10.8 ล้านบาร์เรล ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาสูงจนผู้บริโภคแบกรับไม่ไหวก็จะส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจของโลกเกิดภาวะถดถอย และไม่รู้ว่ารัสเซียจะหยุดอยู่แค่นี้หรือไม่ เนื่องจากประธานาธิบดีปูตินมีแนวคิดที่จะรวบรวมดินแดนที่เคยเป็นสหภาพโซเวียตกลับคืนมา โดยใช้วิธีคืบทีละเล็กทีละน้อย (Salami Slicing) เหมือนอย่างที่จีนเข้าไปในทิเบต และอ้างว่าใช้ภาษาและมีวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน นอกจากนี้รัสเซียยังกังวลต่อการรุกคืบของสหรัฐในการขยายประเทศสมาชิกกลุ่มป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) เข้าไปในสหภาพยุโรป และหากยูเครนยังมีขีปนาวุธอยู่ในครอบครองเหมือนเกาหลีเหนือก็คงไม่ถูกรัสเซียรุกราน

“การเจรจามักเกิดหลังจากมีการใช้อาวุธแล้ว และคงเป็นเรื่องของอารมณ์มากกว่าเหตุผล ตอนนี้จะเอากระเป๋าตังค์ไปต่อรองกับปืนคงช่วยอะไรไม่ได้” นายกอบสิทธิ์ กล่าว

ด้าน นายนรวิชญ์ เวทไว ผู้บริหารงานขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินฯ กล่าวว่า ช่วงนี้อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนสูง และยังไม่มีปัจจัยที่บ่งชี้ว่าบาทจะแข็งค่า โดยมีปัจจัยกดดันจากแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดและสถานการณ์โควิด-19 โดยมองกรอบเงินบาทไว้ที่ 32.00-32.50 บาท/ดอลลาร์ หากสามารถผ่าน 32.50 บาท/ดอลลารืไปได้จะมีแนวรับต่อไปที่ระดับ 32.80 บาท/ดอลลาร์ โดยมีคำแนะนำต่อผู้ส่งออกให้ขายดอลลาร์ออก 50% ที่ระดับ 32.50 บาท/ดอลลาร์ ส่วนผู้นำเข้านั้ได้ปิดรับความเสี่ยงกันไปมากแล้ว

ส่วนค่าเงินหยวน รัฐบาลจีนตั้งใจเข้ามาดูแลให้เข้ารูปเข้ารอย ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาเงินหยวนแข็งค่าไปเยอะ และมีโอกาสแข็งค่าได้ต่อที่ระดับ 5.20-5.30 หยวน/ดอลลาร์

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ก.พ. 65)

Tags: , ,
Back to Top