นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ยอมรับว่าวิกฤติโควิด-19 ในครั้งนี้ อาจใช้เวลายาวนานกว่าวิกฤติต่าง ๆ แม้ปัจจุบันสถานการณ์จะคลี่คลายไปในระดับหนึ่ง เพราะความรุนแรงของสายพันธุ์ใหม่ที่น้อยลง แต่กระจายเร็ว ทำให้สถิติผู้ติดเชื้อพุ่งไปถึง 2 หมื่นคนต่อวัน โดยการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วนี้ ทำให้หลายฝ่ายมีความกังวล และรัฐบาลก็เป็นห่วงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
อย่างไรก็ดี เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้น ส่วนจะฟื้นตัวได้ดีแค่ไหน ขึ้นอยู่กับการบริหารนโยบายด้านเศรษฐกิจและการควบคุมโรคว่าทำได้อย่างเหมาะสม อย่างดี และสมดุลเพียงใด หากรัฐบาลสามารถบริหารเศรษฐกิจไม่มีติดขัด ก็เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาเติบโตต่อได้ โดยในปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 4%
สำหรับแรงส่งที่สำคัญต่อเนื่องมาจากปี 2564 มาจากภาคการส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดี แม้ที่ผ่านมาจะเจอปัญหาซับพลายเชน แต่ภาคเอกชนก็สามารถฟ่าฟันไปได้ ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวก็เริ่มฟื้นตัว หลังจากรัฐบาลกลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และใช้มาตรการ Test&Go อีกครั้ง โดยขณะนี้ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่แสดงความจำนงเข้าประเทศไทยแล้วกว่า 3 แสนราย สะท้อนว่าความต้องการของนักท่องเที่ยวต่างชาติยังมีอยู่ในระดับสูง
“หลายประเทศ ส่งสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เปิดประเทศกันเต็มที่ ทำให้ความเข้มงวดของมาตรการโควิด-19 หย่อนยาน แต่ก็ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา อยากให้สังเกตว่าในช่วงไตรมาส 1/65 ข้อมูลเศรษฐกิจหลายประเทศกลับเริ่มแผ่วตัวลง ชะลอตัวลงนิดหน่อย การฟื้นฟูเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นทุกฝ่ายจึงต้องช่วยกัน” นายอาคม กล่าวกล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “พลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยหลังวิกฤติโควิด-19”
รมว.คลัง กล่าวว่า ปัญหาระยะสั้น 3 เรื่องที่ต้องติดตาม เพราะจะมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ได้แก่ 1. สถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปัจจุบันปรับเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากความขัดแย้งของรัสเซียและยูเครน แต่เชื่อว่าจากความพยายามของทุกฝ่าย น่าจะทำให้เรื่องจบลงด้วยดี ไม่น่าเกิดความรุนแรงจนนำไปสู่การสู้รบ ซึ่งหากสถานการณ์จบลงด้วยดีก็จะส่งผลดีต่อทิศทางราคาน้ำมัน โดยปีนี้คาดว่าราคาน้ำมันจะอยู่ที่ระดับ 90-100 ดอลล่าร์ต่อบาเรล
2. อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ส่งผลให้ราคาอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่าเป็นปัจจัยระยะสั้น ซึ่งวิธีบริหารจัดการต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง ตรงจุดว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้ปัญหาต้นทุนการผลิตปรับตัวลดลงได้ และช่วยให้ไทยสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้
3. สถานการณ์โควิด-19 รัฐบาลยังมีความเป็นห่วงว่าอาจจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจต่างจังหวัด และเศรษฐกิจชายแดน เนื่องจากเศรษฐกิจในปัจจุบันกำลังฟื้นตัวได้ดี จึงไม่อยากให้เกิดมาตรการจำกัดการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงขอความร่วมมือแบบเข้มงวด เพื่อให้ทุกคนอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างระมัดระวังมากขึ้น โดยภาครัฐให้หลักประกันยืนยันว่าพร้อมรับเต็มที่กรณีที่เกิดการระบาดสูง หรือผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทุกประเทศดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจคู่กับโควิด-19 เหมือนกันหมด
รมว.คลัง ยังมองว่า นโยบายการเงินและนโยบายการคลังต้องสอดประสานกัน โดยนโยบายการเงินต้องผ่อนคลาย เพื่อให้นโยบายการคลังยังคงทำงานในการลดผลกระทบจากโควิด-19 ได้อย่างเต็มที่ โดยก่อนหน้านี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะใช้เวลาในการฟื้นตัวอย่างน้อย 2 ปี หรือในปี 2566 และในปี 2567 จะสามารถมั่นใจว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ขณะที่ในปีงบประมาณ 2566 รัฐบาลยังเดินหน้างบประมาณแบบขาดดุล แต่ในสัดส่วนที่น้อยลง เพราะเศรษฐกิจยังต้องการแรงกระตุ้นจากการใช้จ่ายจากภาครัฐ ขณะที่ความสมดุลของรายได้และรายจ่ายก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องพิจารณา เพื่อเดินสู่ภาคการคลังยั่งยืนในระยะยาว
“นโยบายการเงินและการคลังต้องไปด้วยกัน ภาคการคลังเน้นไปที่การใช้จ่าย จนทำให้หลายฝ่ายเป็นห่วงเรื่องหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น ซึ่งต้องมีการขยายเพดานหนี้สาธารณะในช่วงที่ผ่านมา แต่เป็นเรื่องจำเป็น และสถานการณ์นี้เป็นทุกประเทศทั่วโลก หลายประเทศหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเกิน 100% ขณะที่ไทย คาดว่าสิ้นปีงบประมาณ 2565 หนี้สาธารณะจะอยู่ที่ 62% จากเดือน ธ.ค. 2564 อยู่ที่ 59%”
รมว.คลังกล่าว
พร้อมระบุว่า ปีนี้เป้าหมายที่ต้องทำร่วมกัน คือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้โตได้ 4% โดยต้องใช้นโยบายที่เดินคู่ขนานร่วมกันทั้งด้านเศรษฐกิจและการควบคุมโควิด-19 เพราะหากให้วิกฤติยังเกิดขึ้น จะกลายเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจ ยิ่งวิกฤติรุนแรงต้นทุนเศรษฐกิจก็ยิ่งเพิ่มขึ้น ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในระยะต่อไปนั้น ขออย่าเพิ่งถามว่ากระทรวงการคลังจะมีมาตรการอะไรออก เพราะทั้งหมดต้องก็ขึ้นอยู่กับการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อพิจารณาออกมาตรการที่เหมาะสม
นายอาคม กล่าวว่า ขณะนี้ กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างเตรียมเจรจากู้เงินจากต่างประเทศ วงเงิน 500 ล้านเหรียญ จากประเทศญี่ปุ่น เพื่อไม่ให้กระทบกับสภาพคล่องภายในประเทศ และสร้างอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงเงินกู้ต่างประเทศให้มีความต่อเนื่อง โดยการกู้เงินจากต่างประเทศยังมีความจำเป็น เพราะเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว ภาคเอกชนมีความต้องการใช้เงิน เช่น การระดมเงินทุนในตลาด ผ่านการออกหุ้นกู้ เป็นต้น
“การกู้เงินจากต่างประเทศ ต้องดูให้สมดุลกับการกู้เงินในประเทศ ส่วนการกู้เงินตาม พ.ร.ก. กู้เงินโควิดเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท ขณะนี้ยังเหลือวงเงินอีก 1 แสนล้านบาท โดยจะดูความต้องการใช้ ซึ่งกระทรวงการคลังยังไม่มีแนวคิดที่จะออก พ.ร.ก. กู้เงินอีก แม้สถานการณ์โควิด-19 จะกลับมาระบาดอีกครั้ง”
รมว.คลังระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ก.พ. 65)
Tags: กระทรวงการคลัง, น้ำมัน, ราคาน้ำมัน, อาคม เติมพิทยาไพสิฐ, เงินเฟ้อ, เศรษฐกิจไทย