ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กร PREB ที่ BBB แนวโน้ม Stable

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. พรีบิลท์ (PREB) ที่ระดับ “BBB” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่”

อันดับเครดิตสะท้อนถึงผลงานที่เป็นที่ยอมรับของบริษัทในงานก่อสร้างโครงการอาคารสูง ภาระหนี้ในระดับที่ยอมรับได้ และมูลค่างานในมือในระดับปานกลาง อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากความเสี่ยงที่อยู่ในระดับสูงจากการกระจุกตัวของลูกค้า ตลอดจนธรรมชาติที่ผันผวนและมีการแข่งขันที่รุนแรงของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง การประเมินอันดับเครดิตยังพิจารณารวมไปถึงภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นและความเสี่ยงในการดำเนินงานเนื่องจากการขยายกิจการไปในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

  • ผลงานเป็นที่ยอมรับในงานก่อสร้างอาคารสูง สถานะทางธุรกิจของบริษัทเป็นที่ยอมรับจากการมีผลงานที่ยาวนานในงานก่อสร้างอาคารสูงในหลาย ๆ ภาคธุรกิจ เช่น อาคารที่พักอาศัย อาคารเพื่อการพาณิชย์ โรงแรม และโรงงานอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม บริษัทก่อสร้างโครงการคอนโดมิเนียมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และในพื้นที่ที่มีทำเลดีนอกเขตเมืองเป็นส่วนใหญ่ โดยบริษัทมีกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีชื่อเสียงซึ่งส่วนใหญ่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริษัทได้รับสัญญางานก่อสร้างใหม่ ซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ระดับ 3.5-4.5 พันล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตาม จากการชะลอตัวของตลาดคอนโดมิเนียมหลังมีการบังคับใช้เกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่เข้มงวดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในปี 2562 และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 ส่งผลให้ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่ชะลอการเปิดโครงการใหม่ออกไป ดังนั้น มูลค่าสัญญางานใหม่ที่บริษัทได้รับจึงลดลงมาอยู่ที่ระดับ 2.7-2.9 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2563-2564 ทำให้บริษัทมีมูลค่างานในมือที่รอส่งมอบ (Backlog) ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 จำนวน 7.6 พันล้านบาท ลดลงจากระดับสูงสุดที่ 8.9 พันล้านบาทในปี 2562 การกระจุกตัวของลูกค้าอยู่ในระดับสูง

การพิจารณาอันดับเครดิตของบริษัทคำนึงถึงโครงการก่อสร้างส่วนใหญ่ของบริษัทที่กระจุกตัวอยู่ในงานก่อสร้างโครงการคอนโดมิเนียมเป็นหลักซึ่งจะมีผลกระทบอย่างมากหากการเปิดโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ ๆ ผันผวนตามสภาวะตลาดรวมถึงมีการแข่งขันที่รุนแรง อีกทั้ง บริษัทมีรายได้จากงานก่อสร้างโครงการคอนโดมิเนียมสัดส่วนถึง 65%-75% ของรายได้ทั้งหมดในแต่ละปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ยิ่งไปกว่านั้น งานก่อสร้างโครงการของบริษัทมาจากลูกค้าภาคเอกชนรายใหญ่จำนวนน้อยราย ซึ่งความเสี่ยงจากความน่าเชื่อถือของผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ก็จะมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่อุตสาหกรรมซบเซา

ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 บริษัทมีลูกค้ารายใหญ่ที่สุด 4 รายคือ บริษัท เอ็มคิวดีซี ทาวน์ รอยัล เพลส จำกัด บริษัท วัน แบงค็อก จำกัด บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมูลค่างานจากลูกค้าทั้ง 4 รายนี้มีสัดส่วนถึง 81% ของมูลค่างานในมือที่รอส่งมอบทั้งหมดของบริษัท ถึงแม้ว่าลูกค้าเหล่านี้จะมีสถานะทางการตลาดและแบรนด์ที่แข็งแกร่ง แต่ระดับการกระจุกตัวจากการมีลูกค้าน้อยรายจะส่งผลในด้านลบต่ออันดับเครดิตของบริษัท

  • สัดส่วนรายได้จากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น บริษัทพยายามขยายธุรกิจเข้าสู่ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อช่วยให้ทั้งรายได้และกำไรเพิ่มขึ้นในระยะยาว บริษัทลงทุนและพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยผ่านกิจการร่วมค้าร่วมกับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายอื่น ๆ โดย ณ เดือนกันยายน 2564 มีจำนวน 7 โครงการมูลค่ารวมประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่ง 5 โครงการมูลค่า 4 พันล้านบาทเปิดขายโครงการแล้ว ในขณะที่อีก 2 โครงการที่เหลืออยู่ในช่วงชะลอโครงการ

นอกจากนี้ บริษัทยังพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยของตนเองผ่านบริษัทย่อย คือ บริษัท พรีบิลท์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด อีกด้วย บริษัทได้เปิดขายโครงการบ้านเดี่ยวจำนวน 2 โครงการในชื่อ “พรรณนา” ในช่วงกลางปี 2563 และ “พิมนารา” ในช่วงกลางปี 2564 มูลค่าโครงการ 2 พันล้านบาทและได้รับการตอบรับที่ดี โดยมียอดขาย 84% และ 11% ตามลำดับ ณ เดือนธันวาคม 2564 และส่งมอบบ้านสร้างเสร็จให้ลูกค้าแล้วตั้งแต่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 เป็นต้นไปอีกด้วย

ทั้งนี้ บริษัทมีแผนจะเปิดขายโครงการบ้านเดี่ยว 1 โครงการและทาวน์เฮ้าส์อีก 1 โครงการ มูลค่ารวมประมาณ 1.2-1.3 พันล้านบาทในปี 2565 อีกด้วย นอกจากนี้ บริษัทยังได้ซื้อที่ดินแล้ว 2 แปลงบริเวณสุขุมวิท 24 และสุขุมวิท 26 รวมมูลค่า 1.1 พันล้านบาทเพื่อพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม อย่างไรก็ตาม ทั้งสองโครงการถูกชะลอออกไปเนื่องจากความต้องการที่หดตัวลงของผู้ซื้อที่เป็นกลุ่มเป้าหมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ในอนาคต บริษัทวางแผนจะเปิดโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยใหม่มูลค่า 1.2-1.5 พันล้านบาทต่อปีและตั้งงบประมาณซื้อที่ดินไว้ที่ 350-500 ล้านบาทต่อปี ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทจะอยู่ที่ 800-900 ล้านบาทต่อปี ถึงแม้ว่าสัดส่วนรายได้จากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะช่วยเพิ่มรายได้และอัตรากำไรของบริษัท แต่ในขณะเดียวกันภาระหนี้ของบริษัทก็เพิ่มขึ้นด้วย ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทจะรักษาสมดุลของผลตอบแทนและเงินลงทุนในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อให้ระดับของอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายไม่เปลี่ยนแปลงไปจากระดับปัจจุบันมากนัก

  • คาดว่าผลการดำเนินงานจะดีขึ้นจากช่วงซบเซา บริษัทมีผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 ใกล้เคียงกับประมาณการของทริสเรทติ้ง แม้ว่ารายได้จะต่ำกว่าคาด บริษัทมีรายได้อยู่ที่ 3 พันล้านบาทลดลง 2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่อัตรากำไรขั้นต้นปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 13.5% จาก 10.3% ในปี 2563 และเทียบกับที่เคยทำได้ที่ระดับ 13%-15% ในช่วงหลายปีก่อนหน้า อีกทั้งบริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้น 31% จากปีก่อน มาอยู่ที่ 310 ล้านบาท จากการที่โครงการรอส่งมอบที่มีอัตรากำไรต่ำจะหมดไป ดังนั้นอัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างคาดว่าจะอยู่ที่ระดับเกินกว่า 10% ในช่วงประมาณการ

จากประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้งในช่วง 3 ปีข้างหน้า คาดว่ารายได้จากธุรกิจรับเหมาก่อสร้างของบริษัทจะอยู่ที่ 3.5-4.5 พันล้านบาทต่อปี ซึ่งมาจากมูลค่างานในมือที่มีอยู่ โดยมูลค่างานในมือที่รอส่งมอบจะช่วยรักษาระดับรายได้ในหลายปีข้างหน้า โดยคิดเป็นสัดส่วน 85% ในปี 2565 และ 60% ในปี 2566 รายได้จากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทจะอยู่ที่ 800-900 ล้านบาทต่อปี และรายได้จากการขายวัสดุก่อสร้างจะอยู่ที่ 400-500 ล้านบาทต่อปี โดยรายได้รวมของบริษัทจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นจาก 4.3 พันล้านบาทในปี 2564 ไปสู่ 6 พันล้านบาทในปี 2566

อย่างไรก็ตาม ยังคาดว่าความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจะยังคงถูกกดดันจากราคาวัสดุก่อสร้างที่สูงขึ้นและผลกระทบจากโรคโควิด 19 ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาระดับอัตรากำไรขั้นต้นได้ที่ 12%-14% เอาไว้ได้ โดยคาดว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะฟื้นตัวมาอยู่ที่ระดับ 500 ล้านบาทต่อปี ในขณะที่เงินทุนจากการดำเนินงานจะอยู่ในช่วง 300-350 ล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า

  • ภาระหนี้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัท (รวมภาระหนี้จากกิจการร่วมค้าตามสัดส่วนการลงทุน) ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 อยู่ที่ 31.8% เพิ่มจาก 29% ในปี 2563 ถึงแม้ว่าจะมีการลงทุนในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะอยู่ในช่วง 30%-35% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า อัตราส่วนหนึ้สินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจัดหน่ายจะอยู่ที่ประมาณ 3-3.5 เท่า ในขณะที่เงินทุนจากการดำเนินงานจะอยู่ในช่วง 25%-30% บริษัทจะต้องดำรงอัตราส่วนภาระหนี้รวมสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นไม่ให้เกิน 2.5 เท่า เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขทางการเงินที่สำคัญของเงินกู้ที่มีกับธนาคาร

ทั้งนี้ บริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 1.7 เท่า ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะสามารถดำรงตามเงื่อนไขทางการเงินในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้าเอาไว้ได้ ในขณะที่หนี้เกือบทั้งหมดของบริษัทเป็นหนี้ที่มีหลักประกัน ดังนั้น ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 บริษัทจึงมีอัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินรวมอยู่ที่ระดับ 60% เนื่องจากอัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินรวมของบริษัทอยู่ที่ระดับเกินกว่า 50% ตาม “เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้” ของทริสเรทติ้ง ดังนั้น เจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันของบริษัทจะมีความด้อยสิทธิกว่าเจ้าหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับขนาดสินทรัพย์ของบริษัท

  • มีสภาพคล่องทางการเงินที่เพียงพอ ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทมีสภาพคล่องทางการเงินที่เพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 แหล่งเงินทุนของบริษัทประกอบด้วยเงินสดและเงินลงทุนระยะสั้นมูลค่ารวม 995 ล้านบาท เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทในช่วง 12 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 300-350 ล้านบาท ในขณะที่บริษัทมีแผนใช้เงินในช่วง 12 เดือนข้างหน้าประกอบด้วยชำระคืนเงินกู้ยืมจำนวน 169 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายเงินลงทุน 80-100 ล้านบาท เงินทุนหมุนเวียน 300-400 ล้านบาท และเงินปันผลจ่ายจำนวนประมาณ 120 ล้านบาท ซึ่งบริษัทมีแหล่งเงินเพียงพอกับแผนการใช้เงินในช่วง 12 เดือนข้างหน้าแล้ว

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

  • สัญญางานรับเหมาก่อสร้างใหม่ มูลค่า 3-4 พันล้านบาทต่อปี
  • รายได้รวมของบริษัทจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นจาก 4.3 พันล้านบาทในปี 2564 เป็น 6 พันล้านบาทในปี 2566
  • รายได้จากการขายโครงการที่อยู่อาศัยมูลค่า 450 ล้านบาทในปี 2564 และเพิ่มขึ้นเป็น 850-950 ล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า
  • รายได้จากการขายวัสดุก่อสร้างจะอยู่ในช่วง 400-500 ล้านบาทต่อปี
  • อัตรากำไรขั้นต้นจะอยู่ที่ระดับ 12%-14%
  • งบประมาณซื้อที่ดิน 350-500 ล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะรักษาความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจรับเหมาก่อสร้างไว้ได้ อีกทั้งบริษัทจะรักษาผลการดำเนินงานและภาระหนี้ให้ใกล้เคียงกับที่ทริสเรทติ้งประมาณการไว้ ด้วยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายไม่เกิน 3.5 เท่า และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนอยู่ที่ 30%-35% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตยังไม่มีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มขึ้นในระยะใกล้ อย่างไรก็ตาม หากบริษัทสามารถปรับเพิ่มรายได้และสามารถทำกำไรให้สูงขึ้นจากระดับปัจจุบันอย่างมีนัยสำคัญในขณะที่ยังคงรักษาภาระหนี้ให้อยู่ในระดับปัจจุบันได้ก็อาจมีการปรับเพิ่มอันดับเครดิตต่อไป

ในทางกลับกัน อันดับเครดิต/และหรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับลดลงได้หากบริษัทมีผลการดำเนินงานที่อ่อนแอกว่าที่ประมาณการไว้อย่างมีนัยสำคัญ หรือบริษัทมีการลงทุนจำนวนมากในโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จนทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเกินกว่า 5 เท่าเป็นเวลาต่อเนื่อง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ก.พ. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top