นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน “2022 NEXT ECONOMIC CHAPTER : NEW CHALLENGES AND OPPORTUNITIES เศรษฐกิจไทยปี 2565 ความท้าทายและโอกาสใหม่” ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 65 ยังมีสัญญาณเป็นบวก และเชื่อว่าจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจหลายตัวฟื้นขึ้นมาอยู่ในโซนบวก หลังจากไทยกลับมาเปิดประเทศอย่างสมบูรณ์อีกครั้ง นักท่องเที่ยวต่างชาติทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ทำให้เกิดความมั่นใจว่านักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้าไทยในปีนี้จะเป็นไปตามเป้าหมาย โดยปัจจัยบวกเหล่านี้ทำให้เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ที่ระดับ 3-4% ตามที่กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินไว้
สำหรับความท้าทายระยะสั้นของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ คือ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่จบ ซึ่งรัฐบาลได้เตรียมความพร้อมรับมือ โดยการสำรองวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประชาชน 90 ล้านโดส รวมถึงเตรียมมาตรการต่างๆ ในการส่งเสริม กระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งมาตรการคนละครึ่ง มาตรการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและอื่นๆ ขณะที่สถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่หลายฝ่ายเป็นห่วงว่ามีจำนวนสูงขึ้นจนอาจส่งผลกระทบกับสถาบันการเงินนั้น ปัญหาดังกล่าวได้รับการแก้ไขให้ลดลงไปกว่าครึ่ง แต่ตัวเลขภาพรวมยังอยู่ในระดับสูง จากกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง
ส่วนปัญหาเรื่องอัตราเงินเฟ้อ สินค้าอุปโภคบริโภคราคาแพง รัฐบาลได้เร่งเข้าไปแก้ไข เข้มงวดเรื่องการกักตุน และสามารถแก้ปัญหาได้เป็นอย่างดี สะท้อนจากราคาสินค้าหลายรายการที่ปรับตัวลดลงมา ขณะที่ราคาพลังงานนั้นกระทรวงพลังงานได้ดูแลอย่างเต็มที่ โดยต้องทำความเข้าใจก่อนว่าราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นมาจากปัจจัยภายนอกทั้งสิ้น ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลใช้หลักในการดูแลราคา โดยการตรึงพลังงานไม่ให้สูงเกินไป เพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจให้ฟื้นฟู เติบโต และรักษาระดับการแข่งขันของไทยต่อไป
“ที่บอกว่าราคาน้ำมันแพงมากที่สุดในโลก ต้องบอกว่าไม่จริง รัฐบาลต้องรักษาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยมีการติดตามสถานการณ์ราคาพลังงานอย่างใกล้ชิด ยืนยันว่าระดับราคาน้ำมันของไทยไม่ได้สูงไปมากกว่าประเทศในแถบอาเซียนที่มีสถานะเป็นประเทศนำเข้าพลังงาน รวมถึงภาพรวมอัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียนก็ไม่ถือว่าสูงมากนักเช่นกัน”
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ในระยะยาวรัฐบาลเตรียมส่งเสริมการลงทุนในเศรษฐกิจใหม่ เพื่อเสริมระบบเศรษฐกิจเดิมที่มีความเข้มแข็งอยู่แล้ว ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่ต่อยอดจากอุตสาหกรรมยานยนต์, อุตสาหกรรมอิเลคทรอนิกส์ที่ต่อยอดไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล, อุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่มีการปรับรูปแบบไปรับนักท่องเที่ยวคุณภาพ, อุตสาหกรรมสุขภาพและเวชภัณฑ์ที่มีศักยภาพสูง
“รัฐบาลจะดูแลเรื่องระบบนิเวศและโครงสร้างพื้นฐาน และหวังว่าทุกฝ่ายจะร่วมมือกันพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้เข้มแข็งดีกว่าเดิมเหมือนช่วง 6-7 เดือนที่ผ่านมา”
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า หลายฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยวิจัยด้านเศรษฐกิจต่าง ๆ รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศ ทั้งธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มีความเห็นในทิศทางเดียวกันว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวดีขึ้น ส่วนประเทศไหนจะฟื้นตัวเร็วหรือช้าก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์เศรษฐกิจภายใน โดยในส่วนของประเทศไทยปี 65 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ที่ระดับ 4% ต่อเนื่องจากปี 64 ที่ส่งสัญญาณฟื้นตัว ดังนั้นต้องดูว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เศรษฐกิจชะงักงัน
“เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวเร็วกว่าคาด ได้สะท้อนผ่านนโยบายการเงิน โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย ตรงนี้จะกระทบกับการเงินทั่วโลก กรณีของไทยเองการประสานนโยบายการเงินและการคลังสอดประสานกันได้ดีในช่วงที่ผ่านมา ส่วนคำถามต่อไปว่าเมื่อเฟดขึ้นดอกเบี้ย แล้วของไทยจะขึ้นตามด้วยไหม ตรงนี้คงต้องรอฟังทาง ธปท.”
นายอาคม กล่าว
อย่างไรก็ดี เพื่อให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้เต็มที่ รัฐบาลจำเป็นต้องพิจารณานโยบายการคลังที่ยั่งยืน การบริหารจัดการหนี้สาธารณะที่แม้จะขยายเพดานเป็น 70% ต่อจีดีพี แต่ไม่ได้หมายความว่าจะกู้เต็มเพดาน ทั้งหมดขึ้นอยู่กับความจำเป็น และวิกฤตที่อาจเกิดหรือไม่เกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งการพัฒนาการคลังยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องมองเรื่องการใช้จ่าย และการหามาซึ่งรายได้ การขยายหรือการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องคำนึง โดยประเทศไทยเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมก็ต้องมีแนวนโยบายในการปรับโครงสร้างการจัดเก็บรายได้ที่เหมาะสมในอนาคต
นายอาคม ระบุว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยพบปัญหาในระยะสั้นที่สำคัญ คือ ปัญหาค่าครองชีพ และระดับราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นในหมวดอาหารและพลังงาน แต่เชื่อว่าปัญหาราคาพลังงานจะเป็นเรื่องระยะสั้นที่ต้องติดตาม
สำหรับในปี 65 มีประเด็นสำคัญ 7 เรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อรักษาการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ 4% แม้หลายคนจะบอกว่าต่ำเกินไป แต่อยากให้เข้าใจว่าเศรษฐกิจไทยมีขนาดใหญ่ขึ้นมาก ดังนั้นการเติบโตทุก 1% ต้องใช้แรงขับเคลื่อนมากพอสมควร โดยสิ่งแรกที่รัฐบาต้องเร่งดำเนินการ คือ
1. การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ผ่านโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยมุ่งสู่เศรษฐกิจมูลค่าสูง ผ่าน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่เกี่ยวโยงกับเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งจะช่วยให้ไทยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งภาคผลิตและบริการ
2. เดินหน้าเศรษฐกิจใหม่ ภายใต้เศรษฐกิจดิจิทัล โดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ทั้งในภาครัฐและภาคธุรกิจ ซึ่งจุดแข็งของไทยคือเทคโนโลยี 5G ที่มีความก้าวหน้ากว่าหลายประเทศในอาเซียน จุดนี้จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ
3. การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศของโลก มี 2 เรื่องที่ต้องทำ คือ การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยรัฐบาลขับเคลื่อนผ่านนโยบานยานยนต์ไฟฟ้า ผ่านการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตและภาษีศุลกากร เพื่อให้เกิดดีมานต์และส่งเสริมการลงทุนยานยนต์ไฟฟ้าในไทย อีกเรื่องคือ การพัฒนาพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเรื่องนี้ไทยมีความก้าวหน้ามาก
4. การปรับตัวของภาคธุรกิจเพื่อตอบรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร จากการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ที่นอกเหนือจากการเชื่อมโยงภาคการท่องเที่ยวเข้ากับการแพทย์และสาธารณสุขแล้ว หากมีการเชื่อมโยงภาคการท่องเที่ยวเข้ากับภาคอสังหาริมทรัพย์เพื่อรองรับสังคมผู้สูงวัย จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้ประเทศไทยได้
5.การเปลี่ยนแปลงภาคการเงิน เรื่องสินทรัพย์ดิจิทัล จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น สถาบันการเงินต้องปรับตัว จะมีการกู้เงินที่ไม่ผ่านสถาบันการเงินจะมีมากขึ้น ทั้งในลักษณะ Peer-to-Peer และ Crow Funding ซึ่งการระดมทุนลักษณะนี้จะเข้ามามีบทบาทในระบบสถาบันการเงินในอนาคต
6. การสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพ โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัล และภาคการผลิต โดยขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างออกมาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือสตาร์ทอัพด้านดิจิทัล ในเรื่องการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อส่งเสริมสตาร์ทอัพในประเทศให้เพิ่มขึ้น
7. ความยั่งยืนทางการคลัง เป็นเรื่องในระยะกลางถึงยาว โดยในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 นโยบายการคลังทำงานเป็นหลัก ขณะที่นโยบายการเงินผ่อนคลายให้ เพื่อให้ภาครัฐสามารถใช้จ่ายงบประมาณ และเงินกู้ 1.5 ล้านล้านบาทที่เป็นภาระที่ต้องใช้หนี้ต่อไปได้มากขึ้น
ขณะที่นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวว่า โครงการอีอีซีจะมีส่วนผลักดันให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 5% ต่อเนื่องกันอย่างน้อย 7 ปี และจะเป็นต้นแบบการจัดตั้งเขตพัฒนาพิเศษในภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งจะเป็นการกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำ
ผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปในรูปแบบ K-Shape ที่มีความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้น ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ภาครัฐต้องเข้าไปดูแลกลุ่มแรงงานนอกภาคเกษตรกรรมที่มีรายได้ลดลงต่อไปอีกสักระยะเพื่อพยุงฐานรากให้มีความเข้มแข็ง พร้อมทั้งเร่งส่งเสริม 5 อุตสาหกรรมเป้าหมายให้เกิด Ecosystem ซึ่งเป็นการดำเนินการแบบคู่ขนานกันไป เพื่อไม่ให้ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นมีช่องว่างมากเกินไป
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยในปี 70 สัดส่วนมูลค่าเพิ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลต่อ GDP อยู่ที่ 30% ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 (ปี 66-70) โดยดำเนินการตามแผนเศรษฐกิจยุคใหม่ (New Economy) หรือเศรษฐกิจบนฐานเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึง AI บล็อกเชนและ Crytonomy และเศรษฐกิจบนฐานข้อมูล (Data Economy)
การที่ประเทศไทยจะสามารถดำเนินตามเป้าหมายได้นั้น กระทรวงฯ ต้องเป็นเจ้าภาพหลักในการสร้างสภาพแวดล้อม และความพร้อมของประเทศ, โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล, สร้าง digital start up/Unicorns, พัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัล, ใช้ดิจิทัลอย่างชาญฉลาด, ส่งเสริม smart cities และป้องกัน ลดปัญหาภัยออนไลน์
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าประชาชนคนไทยจะมีพื้นฐานในการใช้อินเทอร์เน็ต แต่ก็มีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ถูกมิจฉาชีพหลอก โดยจากข้อมูลพบว่า มีประชาชนร้องเรียนทั้งหมด 7,951 เรื่อง คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 500 ล้านบาท ทั้งนี้ กระทรวงฯ ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการปราบปรามแก๊งคอลเซนเตอร์ต่างๆ และมีการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ ติดต่อ 1212 แล้ว
“ประชาชนต้องช่วยกันเตือนคนรอบข้างให้ระวังมิจฉาชีพ เนื่องจากสิ่งสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ คือ ต้องสร้างความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ให้มีความเข้มแข็ง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างรายได้ให้ประชาชนในอนาคต”
นายชัยวุฒิ กล่าว
สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ก.พ. 65)
Tags: คณิศ แสงสุพรรณ, สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์, อาคม เติมพิทยาไพสิฐ, เศรษฐกิจดิจิทัล, เศรษฐกิจไทย