รายงานกนง. มองศก.ไทยฟื้นต่อเนื่องแต่ยังต้องใช้เวลา-เงินเฟ้อเร่งตัวกดดันระยะสั้น

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 9 ก.พ.65 ซึ่งมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่การฟื้นตัวยังแตกต่างกันในแต่ละภาคเศรษฐกิจ และต้องใช้เวลาก่อนที่จะกลับเข้าสู่ระดับก่อนการระบาด

นอกจากนี้สถานการณ์โควิด-19 ยังมีความไม่แน่นอน แม้การระบาดของ Omicron จะสร้างแรงกดดันต่อระบบสาธารณสุขในวงจำกัด แต่ยังต้องติดตามประสิทธิภาพของวัคซีนและการระบาดของโควิด-19 ในภาพรวม รวมทั้งการปรับมาตรการควบคุมการระบาดของไทยและต่างประเทศในระยะต่อไป ซึ่งจะส่งผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทย

ด้านการบริโภคภาคเอกชนในประเทศมีแนวโน้มชะลอลงจากที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน จากผลของการระบาดของ Omicron และมาตรการเยียวยาของภาครัฐที่ทยอยลดลง แต่โดยรวมการบริโภคภาคเอกชนยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีในปี 65 นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามความทั่วถึงของการฟื้นตัวในแต่ละภาคเศรษฐกิจ รวมถึงผลกระทบของค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้น ภายใต้ภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงและรายได้ที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชนในระยะต่อไป

ขณะที่ กนง.ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยมีความเสี่ยงด้านสูงเพิ่มขึ้นและอาจสูงกว่ากรอบเป้าหมายที่ 3% ในช่วงแรกของปี 65 จากการปรับขึ้นของราคาพลังงานและอาหารสดบางประเภท โดยความเสี่ยงที่ราคาพลังงานโลกจะอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาดปรับเพิ่มขึ้นจากปัจจัยเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์เป็นสำคัญ ทั้งนี้กลไกกองทุนน้ำมันของภาครัฐจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานโลกได้บางส่วน

อย่างไรก็ดี ประเมินว่าความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้นต่อเนื่องยังมีไม่มาก เนื่องจากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำตามรายได้และกำลังซื้อที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัว ทำให้การส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการทำได้จำกัด แต่ต้องติดตามราคาพลังงานโลก โอกาสที่จะเกิดการปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการเป็นวงกว้าง และแรงกดดันต่อค่าจ้างแรงงานอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ กนง.เห็นว่าราคาน้ำมันและราคาอาหารสดที่ปรับสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของกลุ่มรายได้แตกต่างกัน โดยครัวเรือนรายได้น้อยจะเผชิญค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากค่าใช้จ่ายหมวดอาหารมากกว่าครัวเรือนรายได้สูง (ครัวเรือนรายได้น้อยและครัวเรือนรายได้สูงมีค่าใช้จ่ายหมวดอาหารเฉลี่ยอยู่ที่ 45% และ 26% ของค่าใช้จ่ายรวมตามลำดับ) ขณะที่ครัวเรือนรายได้สูงจะเผชิญค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากราคาพลังงานมากกว่าครัวเรือนรายได้น้อยบ้าง (ครัวเรือนรายได้น้อยและครัวเรือนรายได้สูงมีค่าใช้จ่ายหมวดพลังงานเฉลี่ยอยู่ที่ 11% และ 13% ของค่าใช้จ่ายรวม ตามลำดับ) นอกจากนี้ ค่าครองชีพที่สูงขึ้นดังกล่าวยังส่งผลกระทบเพิ่มเติมต่อผู้ประกอบอาชีพอิสระและลูกจ้างในภาคบริการที่รายได้ฟื้นตัวช้ากว่ากลุ่มอื่น

กนง.ประเมินความเสี่ยงของเป้าหมายทั้ง 3 ด้าน เห็นว่ายังควรให้น้ำหนักกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ขณะที่ให้ติดตามแรงกดดันเงินเฟ้อและความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินอย่างต่อเนื่อง จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ โดยนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่องจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ ควบคู่กับมาตรการทางการเงินการคลังที่เน้นการฟื้นฟูและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ตลาดแรงงาน รวมถึงรายได้ของภาคธุรกิจและครัวเรือนฟื้นตัวได้อย่างเข้มแข็ง

ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. ยังเคลื่อนไหวผันผวน จากแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลัก (advanced economies: AEs) ที่เร็วขึ้น ในขณะที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดในประเทศ จึงเห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกและไทยอย่างใกล้ชิด รวมทั้งผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs ป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น

กนง.ยังให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ โดยจะติดตามปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ได้แก่ สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ราคาพลังงานโลก การส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นรวมถึงความเพียงพอของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมหากจำเป็น

สำหรับในระยะปานกลาง การประเมินนโยบายการเงินที่เหมาะสมจำเป็นต้องชั่งน้ำหนักระหว่างเป้าหมายด้านเสถียรภาพราคา การขยายตัวของเศรษฐกิจ และเสถียรภาพระบบการเงินตามแนวโน้มและความเสี่ยงที่อาจเปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์และประสิทธิผลของเครื่องมือเชิงนโยบายด้านอื่น ๆ ในภาพรวมควบคู่ไปด้วย

ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในปัจจุบันสะท้อนความเสี่ยงและความไม่แน่นอนของการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยังสูงกว่าด้านอื่น ๆ อย่างไรก็ดีมองไปข้างหน้า เมื่อเศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้อย่างเข้มแข็งขึ้นและมีความเสี่ยงลดลง การให้น้ำหนักแต่ละเป้าหมายควรปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยคำนึงถึงผลกระทบและประสิทธิผลของนโยบายในระยะปานกลางเป็นสำคัญ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ก.พ. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top