นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขไปทบทวนเรื่องกระบวนการนำโรคโควิด-19 ออกจากการให้บริการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต (UCEP) ออกไปก่อน จากเดิมที่กำหนดจะเริ่ม 1 มี.ค.นี้ เพื่อทำความเข้าใจกับประชาชน โดยเฉพาะเรื่องการติดต่อเพื่อรับการรักษา ช่องทางต่างๆ
ทั้งนี้ UCEP-Covid ยังมีผลอยู่ โดยขณะนี้ผู้ป่วยโควิดถือว่าเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน สถานพยาบาลต้องให้การดูแล ห้ามปฎิเสธ หากโรงพยาบาลไม่มีศักยภาพในการรักษาที่เพียงพอ ให้ส่งต่อผู้ป่วย และไม่สามารถเรียกเก็บเงินมัดจำได้
“ตอนนี้ยังใช้ UCEP-Covid เหมือนเดิม โดยจะมีการซักซ้อมกระบวนการต่างๆ เพื่อเตรียมพร้อม ส่วนกรอบเวลาในการทบทวนจะนำเข้าคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องและเสนอต่อไป”
นพ.ธเรศ กล่าว
สำหรับ Hospitel ขณะนี้ยังมีให้บริการ 200 แห่ง มีเตียง 36,000 เตียง และยังให้บริการดูแลผู้ป่วยอยู่ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่กทม. และปริมณฑล ทั้งนี้ หลังติดเชื้อเพิ่มขึ้นมีการเปิด Hospitel ประมาณ 2-3 แห่ง เนื่องจากมีอัตราการครองเตียงต่อที่ประมาณ 30% เท่านั้น
นพ.ธเรศ กล่าวถึงกระบวนการรักษา ปัจจุบันใช้การตรวจ Antigen Test Kit (ATK) เป็นหลัก หากมีผลบวกให้เข้ารับการรักษาพยาบาลใน Home Isolation (HI) และ Community Isolation (CI) ทั้งนี้ มีบางบริษัทประกันต้องการผล RT-PCR ซึ่ง สธ. ได้แจ้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) แล้วว่าให้ทบทวนประเด็นนี้กับบริษัทประกัน
ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในการรักษาผู้ป่วยโควิดยังรักษาตามสิทธิโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ในอนาคตหากมีการปรับระบบเรื่องการบริการฉุกเฉิน ชี้แจงว่าโควิดเป็นโรคติดต่อที่สามารถรับบริการได้ทุกที่ ซึ่งเป็นนโยบายยกระดับบัตรทอง โดยบริการทั้งหมด ทั้งการดูแลที่บ้าน และชุมชน (HI/CI) หรือโรงพยาบาล หรือโรงแรม ระบบจะเข้าไปดูแลค่าใช้จ่ายให้
ส่วนกรณีที่ประชาชนไม่สามารถเข้าสู่ระบบการรักษาในระบบ 1330 ได้ เนื่องจากในวันที่ 21 ก.พ. ที่ผ่านมา มีประชาชนติดต่อเข้ามายัง สปสช. สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 45,009 สายในรอบ 24 ชม. ซึ่งปีที่แล้วสถิติสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 20,000 กว่าสายในเดือนส.ค. 64
ดังนั้น วานนี้จึงได้มีข้อสั่งการเพิ่มเติม ให้เพิ่มเจ้าหน้าที่รับโทรศัพท์อีก 150 คน อย่างไรก็ตาม ในทุกวินาทีจะมีประชาชนรอสายประมาณ 50 สาย จึงขอให้ประชาชนที่ไม่สามารถติดต่อ 1330 ได้ แอดไลน์สปสช. @nhso เพื่อติดต่อเจ้าหน้าที่ และส่งข้อมูลว่าติดเชื้อ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการ และไม่เป็นการเสียเวลาในการรอสาย
“กรณีที่ตรวจ ATK เป็นบวกให้ติดต่อหน่วยบริการเพื่อเข้ารับการรักษา หรือ 1330 หรือไลน์ หรือเว็บไซต์ของสปสช. เพื่อจับคู่หน่วยบริการเพื่อการรักษาต่อไป ซึ่งโรงพยาบาลจะจับคู่รับรักษาผู้ป่วยภายใน 6 ชั่วโมง”
นพ.จเด็จ กล่าว
ส่วนแนวทางการคัดกรองในเดือนมี.ค. 65 จะมีการปรับปรุงหน่วยบริการในระบบการคัดกรองเพิ่มเติม และวันที่ 1 มี.ค. 65 จะมีการกระจายชุดตรวจ ATK ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงตามร้านยาต่างๆ ซึ่งจะมีการสื่อสารในภายหลังต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ก.พ. 65)
Tags: COVID-19, UCEP, จเด็จ ธรรมธัชอารี, ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์, รักษาโควิด, โควิด-19