สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) จัดเวทีเสวนาหัวข้อ “เปิดปมสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว ประชาชนได้หรือเสีย?” โดยมีนายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นายชาลี เจริญลาภนพรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย และนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทยเข้าร่วม
นายประภัสร์ ระบุว่า โครงการรถไฟฟ้ามีหลักการเพื่อให้เป็นระบบขนส่งสาธารณะ ไม่ใช่มุ่งหวังเรื่องการสร้างรายได้เป็นหลัก หากมีการกำหนดอัตราค่าโดยสารสูงสุดไว้ที่ 65 บาท เชื่อว่าคนที่จบปริญญาตรีแล้วทำงานใหม่ๆ ไม่สามารถใช้บริการได้ ซึ่งถือว่าผิดหลักการ การเป็นระบบขนส่งสาธารณะ เช่น ลดเวลาในการเดินทางที่ช่วยประหยัดน้ำมันจำนวนมหาศาล ช่วยอำนายความสะดวกในการเดินทางให้กับประชาชน ลดปัญหามลพิษ
นอกจากนี้ ควรมีการเปิดเผยสัญญาเรื่องนี้ให้ประชาชนรับรู้ เพราะเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน หน่วยงานที่รับผิดชอบควรดำเนินการอย่างโปร่งใส ไม่ต้องมีอะไรปิดบังซ่อนเร้น เท่าที่รู้มามีกระบวนการไม่ได้เป็นไปตามที่ควรจะเป็น และเร่งรีบจนเกินไปเพราะสัญญาสัมปทานเดิมยังเหลืออีก 7 ปีจนถึงปี 2572
“ควรมีการเปิดเผยสัญญาให้ประชาชนรับรู้ จะอ้างเรื่องความลับคงไม่ได้…เรื่องนี้ไม่ควรใช้ มาตรา 44 ทำให้ไม่มีการเปิดข้อมูล” นายประภัสร์ กล่าว
นายชาลี กล่าวว่า หากมีการขยายอายุสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวจะสร้างปัญหาตามมาอีกมากมาย ซึ่งตนหวังว่ากระทรวงมหาดไทย โดย กรุงเทพมหานคร (กทม.) จะถอนเรื่องออกไปแล้วกลับไปเริ่มกระบวนการใหม่ตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และเชื่อว่าหากมีการเสนอเรื่องกลับเข้ามาอีกคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะไม่อนุมัติ
“กทม.ควรถอยกลับไปดูว่าทำตาม ม.44 ถูกกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เหมือนกลัดกระดุมเม็ดแรกผิดก็ต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่” นายชาลี กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนี้ตนมีข้อเสนอที่ช่วยแก้ปัญหาหนี้สินไม่ให้เกิดปัญหาพอกพูนเหมือนดินพอกหางหมู ด้วยการเริ่มจัดเก็บค่าโดยสารในส่วนต่อขยายเพื่อลดภาระขาดทุนเดือนละ 600 ล้านบาท พร้อมทั้งหารายได้จากการโฆษณาและพื้นที่พาณิชย์บนสถานีส่วนต่อขยาย โดยหวังว่ารัฐบาลจะพิจารณาตัดสินใจอย่างถูกต้อง
นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่มีการนำโครงการระบบขนส่งมวลชนไปดำเนินการเพื่อการลงทุนเพื่อหารายได้ เพราะจะทำให้มีการจัดเก็บค่าโดยสารที่แพงขึ้น ซึ่งเชื่อว่าอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 20-25 บาท ขณะที่สามารถหารายได้จากส่วนอื่น
กรณีที่เกิดขึ้นเหมือนการเอาประชาชนมาเป็นตัวประกันโดยพบพิรุธ ซึ่งจะต้องดำเนินการส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบ หรือยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อหาตัวคนทำผิดมาลงโทษ ส่วนการพิจารณาของ ครม.นั้นคงต้องขอความร่วมมือจากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้แสดงท่าทีคัดค้าน ซึ่งจะสอดคล้องกับท่าทีของนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่า กทม.ของพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้เคยแสดงควาดคิดเห็นไว้ก่อนหน้านี้
นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย ย้ำจุดยืนการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น พรรคภูมิใจไทยยึดความถูกต้องตามกรอบของกฎหมาย หากมีการนำเรื่องกลับเข้าสู่ที่ประชุมครม. อีกครั้งต้องมีคำตอบตามที่ได้ถามไปซึ่งเป็นที่น่าพอใจ โดยกระทรวงคมนาคมได้เตรียมเอกสารที่จะชี้แจงถึงเหตุผลที่ไม่เห็นด้วยในเรื่องนี้ไว้ครบถ้วนแล้ว และรัฐมนตรีคงไม่วอล์คเอาท์เหมือนที่ผ่านมา
“หากได้คำตอบเหมือนเดิมก็คงไม่เห็นด้วย ครั้งนี้จะไม่วอล์คเอาท์ แต่จะนำหลักฐานเข้าไปชี้แจง ถ้ายังยืนยันตามเดิมก็คิดว่าจะมีการลงมติโหวตสวนแน่นอน” นายสิริพงศ์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ก.พ. 65)
Tags: BTS, บีทีเอส, รถไฟฟ้า, รถไฟฟ้าบีทีเอส, สภาองค์กรของผู้บริโภค, สัมปทาน