ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 18,883 ราย ประกอบด้วย
– ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 18,618 ราย
– จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 86 ราย และจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 17 ราย
– ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 162 ราย
ส่วนผู้ติดเชื้อเข้าข่ายด้วยการตรวจ ATK 15,010 ราย
– เสียชีวิต 32 ราย
สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศตั้งแต่ต้นปี 63 จนถึงล่าสุดอยู่ที่ 2,731,198 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้วเพิ่มขึ้น 14,914 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 22,656 ราย
ขณะที่สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุดวันนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวม 424,990,285 ราย เสียชีวิต 5,906,093 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก คือ สหรัฐอเมริกา 80,087,617 ราย อันดับ 2 อินเดีย 42,837,960 ราย อันดับ 3 บราซิล 28,208,212 ราย อันดับ 4 ฝรั่งเศส 22,286,829 ราย และอันดับ 5 สหราชอาณาจักร 18,605,752 ราย ส่วนประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ในอันดับที่ 32
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า การรายงานผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะเป็นจังหวัดนำร่องท่องเที่ยว (สีฟ้า) โดยจะเห็นว่าทิศทางตัวเลขผู้ติดเชื้อค่อนข้างสูงขึ้น และขึ้นๆ ลงๆ ซึ่งจังหวัดที่ผู้ติดเชื้อเพิ่มสูง คือ กรุงเทพฯ ชลบุรี ภูเก็ต สมุทรปราการ ยังเป็นทิศทางที่สูงขึ้นต่อเนื่อง
ทั้งนี้ หากจำแนกตามกลุ่มอายุ และสัปดาห์ในการระบาด ตั้งแต่เดือนม.ค.-ก.พ.2565 สูงสุดพบว่า อยู่ในกลุ่มวัยแรงงานอายุ 18-59 ปี รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 18 ปี และกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งจะเห็นว่า ทุกกลุ่มมีแนวโน้มการติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้น แต่หากเมื่อเทียบกับเดือนส.ค. 2564 การติดเชื้อในขณะนี้ยังไม่เทียบเท่าปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศปก.ศบค.) เน้นย้ำว่า ตอนนี้ระบบการดูแลรักษาของกระทรวงสาธารณสุขอนุญาตให้มีการแยกกักดูแลที่บ้าน รวมทั้งศูนย์แยกกักและดูแลรักษาในชุมชน และไม่สามารถนำการดูแลรักษาปีนี้ไปเทียบกับปีที่แล้ว เนื่องจากมีการพัฒนาเข้าใจโรคมากขึ้น ระบบสาธารณสุขที่รองรับยังมีเพียงพอ และมีประสิทธิภาพ รวมทั้งประชาชนมีความเข้าใจเกี่ยวกับโรคมากขึ้น
พญ.อภิสมัย กล่าวถึงคลัสเตอร์ที่มีรายงานวันนี้ว่า ตัวเลขสูงสุดอยู่ที่ร้านอาหาร และร้านอาหารที่เปิดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรูปแบบสถานบันเทิงที่ขอนแก่น สงขลา ส่วนคลัสเตอร์โรงเรียนพบที่น่าน หนองคาย เลย ในโรงเรียนกีฬา ที่สุพรรณบุรี นครราชสีมา สุรินทร์ ในมหาวิทยาลัยราชภัฎ ร้อยเอ็ด จันทบุรี หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ และในมหาวิทยาลัย ที่พะเยา และยังมีคลัสเตอร์ที่ติดเชื้อซ้ำ คือ คลัสเตอร์ตลาดขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ในชุมชน พบใน 6 จังหวัด ประกอบด้วย นครราชสีมา อุบลราชธานี นครพนม จันทบุรี สุรินทร์ และเพชรบุรี
ซึ่ง พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ผอ.ศปก.ศบค.) เน้นย้ำไปยังกลไกฝ่ายปกครองทุกจังหวัด ขอให้กำกับติดตาม โดยเฉพาะคลัสเตอร์ตลาดที่มีการติดเชื้อซ้ำซาก ขอให้กำนันและผู้ใหญ่บ้านลงพื้นที่กำกับดูแลในทุกระดับ เพราะคลัสเตอร์ที่เกิดขึ้นเป็นพื้นที่เดิมๆ ที่ติดเชื้อซ้ำจะต้องปิดแล้วปิดอีก
ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวอีกว่า ส่วนคลัสเตอร์งานประเพณี และพิธีกรรมทางศาสนา มีการรายงานคลัสเตอร์งานศพที่มุกดาหาร งานบุญที่กาฬสินธุ์ หนองคาย และอุดรธานี โดย ผอ.ศปก.ศบค.เน้นย้ำว่า การติดเชื้อไม่ได้เกิดจากงานพิธีกรรม แต่พบว่าทั้งงานศพและงานบุญหลังพิธีกรรม จะมีการจัดเลี้ยงรับประทานอาหาร การเล่นพนัน การตั้งวงเหล้า การเล่นพนันชนไก่ ดังนั้นจึงต้องขอเน้นย้ำให้ฝ่ายปกครองกำกับติดตามมาตรการอย่างเข้มงวดในทุกระดับและช่วยสาธารณสุขในพื้นที่
ขณะเดียวกัน คลัสเตอร์ที่ ศบค.มีความเป็นห่วงคือ คลัสเตอร์บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งมีรายงานที่โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลที่สุรินท์ เชียงใหม่ ขอนแก่น และยะลา สิ่งสำคัญคือ หากบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อโควิด จะส่งผลให้บุคลากรขาดแคลน ซึ่งเป็นสิ่งที่ ศบค.เป็นห่วง ดังนั้นขอให้งดเว้นหรือชะลอกิจกรรมสังสรรค์ไปก่อน เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อกำลังสูงขึ้น จึงขอให้ทำกิจกรรมเท่าที่จำเป็น หรือกิจกรรมที่จะต้องขับเคลื่อนเพื่อเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชน หากจำเป็นจะต้องจัดขอให้ผู้จัดเข้มงวดมาตรการ โดยหากมีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก ขอให้มีการตรวจ ATK เว้นระยะห่าง และสวมหน้ากากอนามัย เว้นการรับประทานอาหาร และดื่มแอลกอฮอล์สังสรรค์ร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม กรมการแพทย์ได้รายงานข้อมูลว่า เตียงของโรงพยาบาลทั่วประเทศ ณ วันที่ 20 ก.พ.65 มีอัตราการครองเตียงระดับสองทั่วประเทศ ตอนนี้ยังอยู่ที่ 19% ในสถานพยาบาลทั่วประเทศ ระดับสาม มีอัตราครองเตียงอยู่ที่ 16.5% ซึ่งถือว่า ยังมีเตียงเพียงพอรองรับการเจ็บป่วยหนัก
ทั้งนี้ ผอ.ศบค.มีคำสั่งให้ทุกจังหวัด เตรียมโรงพยาบาลสนามรองรับในกรณีที่มีความจำเป็น จึงต้องขอความร่วมมือประชาชนที่อยู่ในระดับการติดเชื้อสีเขียว ไม่มีอาการหรือในวัยที่อายุน้อย ไม่มีโรคประจำตัว หากตรวจ ATK แล้วผลเป็นบวก ขอให้เลือกการรักษาตัวที่บ้าน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ก.พ. 65)
Tags: COVID-19, lifestyle, ศบค., โควิด-19