PTT ขยับคาดราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยปีนี้ 81-86 เหรียญฯ ค่าการกลั่น 5.4-6.4 เหรียญฯ

บมจ.ปตท. (PTT) คาดว่าราคาน้ำมันดิบในปี 65 จะเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 81-86 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และค่าการกลั่นอ้างอิงสิงคโปร์คาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 5.4-6.4 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีเมื่อเทียบกับปี 64 ในสายโอเลฟินส์ มีแนวโน้มทรงตัวจากการขึ้นใหม่ของกำลังการผลิต แม้ว่าอุปสงค์จะเริ่มฟื้นตัวตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ในขณะที่สายอะโรเมติกส์มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นตามคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบและแนฟทา ทั้งนี้ส่วนต่างระหว่างผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์กับแนฟทามีแนวโน้มลดลงจากอุปทานใหม่ที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ เศรษฐกิจโลกในปี 65 มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงจากปี 64 โดยเฉพาะครึ่งแรกของปี จากหลายประเทศกลับมาดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ที่เข้มงวดขึ้นเมื่อเทียบกับปลายปี 64 การขาดแคลนปัจจัยการผลิต การชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานโลก ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูง ความเข้มงวดของรัฐบาลจีนในการจำกัดการปล่อยสินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์ และธนาคารกลางหลายประเทศเริ่มใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นเพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือน มี.ค.

อย่างไรก็ตาม คาดว่าปัจจัยกดดันดังกล่าวจะคลี่คลายในช่วงครึ่งหลังของปี หลังหลายประเทศควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ จนนำไปสู่การทยอยผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางและเปิดประเทศมากขึ้น ประกอบกับความคืบหน้าในการกระจายวัคซีนได้เป็นวงกว้าง และความก้าวหน้าในการรักษาโรค ตลอดจนแรงสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากมาตรการทางการคลังจากภาครัฐ แม้เม็ดเงินมีแนวโน้มลดลงจากปีก่อน

ทั้งนี้ เศรษฐกิจโลกยังคงมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทั้งสายพันธุ์ที่ระบาดในปัจจุบันและอาจเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต ปัญหาภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานโลกที่ยืดเยื้อกว่าคาด ซึ่งอาจส่งผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้นมากภาวะการเงินโลกที่อาจตึงตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และปัญหาสภาพอากาศแปรปรวน ซึ่ง IMF ประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 65 ที่ระดับ 4.4% ขณะที่รายงานของ IHS คาดว่าความต้องการใช้น้ำมันของโลกในปี 65 จะเพิ่มขึ้น 4.0 MMBD ไปอยู่ที่ระดับ 100.8 MMBD ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

ราคากลุ่มผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์ในปี 65 มีแนวโน้มทรงตัวเทียบกับปี 64 โดยคาดว่าราคา HDPE และ PP จะเคลื่อนไหวเฉลี่ยอยู่ในกรอบ 1,215-1,265 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน และ 1,290-1,340 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ตามลำดับ จากแผนอุปทานใหม่ในเอเชียที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 65 ซึ่งมีทั้งส่วนที่เป็นไปตามแผนงานและส่วนที่ล่าช้ามาจากไตรมาส 4/64 แม้ว่าอุปสงค์จะเริ่มฟื้นตัวตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้น

ราคากลุ่มผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ในปี 65 มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าราคา BZ และ PX จะเคลื่อนไหวเฉลี่ยอยู่ในกรอบ 960-1,010 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน และ 980-1,030 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ตามลำดับ ตามคาดการณ์ต้นทุนน้ำมันดิบและแนฟทาที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตามส่วนต่างระหว่างผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์กับแนฟทามีแนวโน้มลดลงจากไตรมาส 4/64 อุปทานใหม่ที่เพิ่มขึ้นในจีนและปริมาณสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูงยังเป็นปัจจัยกดดัน แม้ว่าแนวโน้มอุปสงค์ในภูมิภาคเอเชียจะปรับตัวดีขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19 ที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 65 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากปี 64 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายและเริ่มมีผลกระทบในวงจำกัด ภาคการท่องเที่ยวคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา และการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2565

นอกจากนี้ ยังมีแรงหนุนจากการใช้จ่ายของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง แต่คาดว่าเม็ดเงินจะปรับลดลงจากปีก่อน ทั้งจากงบประมาณและจากการกระตุ้นเพิ่มเติมผ่าน พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ในขณะที่ยังคงมีปัจจัยถ่วงจากความไม่แน่นอนของนโยบายที่อาจปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน แรงกดดันเงินเฟ้อด้านต้นทุน และภาระหนี้สะสมที่ทำให้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจมีแนวโน้มใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง

ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ณ เดือน ม.ค.65 ประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 65 ว่าจะขยายตัวที่ 4%

อนึ่ง กลุ่ม ปตท. ได้จัดเตรียมแผนลงทุน 5 ปี (ปี 65-69) วงเงินรวมประมาณ 9.4 แสนล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจตามกรอบวิสัยทัศน์ใหม่ และร่วมผลักดันอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ประกอบด้วยการลงทุนในพลังงานอนาคต อาทิ พลังงานหมุนเวียน ระบบการกักเก็บพลังงาน ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า ศึกษาการใช้พลังงานจากไฮโดรเจน และลงทุนนอกธุรกิจพลังงาน อาทิ ธุรกิจวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต พร้อมต่อยอดธุรกิจปิโตรเคมีสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง ปรับธุรกิจน้ำมันให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป ธุรกิจโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงระบบปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีดิจิทัล ตลอดจนการดำเนินการจำหน่ายการลงทุนในธุรกิจที่มีมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ธุรกิจถ่านหิน เป็นต้น

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ก.พ. 65)

Tags: , , ,
Back to Top