BCPG กางแผน 5 ปี (65-69) ดันรายได้-กำลังผลิตโต 100% งบลงทุน 9.5 หมื่นลบ.

นายนิวัติ อดิเรก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บีซีพีจี (BCPG) เปิดเผยถึงกลยุทธ์การดำเนินงาน 5 ปี (ปี 65-69) “BCPG Running at Lightning Speed” ภายใต้งบลงทุน 95,000 ล้านบาท โดยตั้งเป้ารายได้และกำลังการผลิตเติบโต 100% หรือมีกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 2,000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 1,108.4 เมกะวัตต์

ขณะเดียวกันคาดกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และ ค่าใช้จ่ายตัดจ่าย (EBITDA) จะโต 35% จาก 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่, ธุรกิจบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ (smart energy solution) อาทิ ธุรกิจผลิต และจำหน่ายระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าขนาดใหญ่ หรือ แบตเตอรี่ ธุรกิจการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต ฯลฯ และธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะ (smart infrastructure) อาทิ ธุรกิจพัฒนาเมืองอัฉริยะ ให้สมบูรณ์ครบวงจรทั้งด้าน พลังงานและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

บริษัทจะดำเนินการภายใต้กลยุทธ์ 4 ด้าน ประกอบด้วย

  1. การสร้างความสมดุลในการลงทุน (Balance Portfolio) ด้วยการขยายธุรกิจทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนา
  2. การสร้างโอกาสเพื่อต่อยอดทางธุรกิจ (Opportunity)
  3. ผลตอบแทนจากการลงทุนที่คุ้มค่า (Return on Investment)
  4. ต้นทุนทางการเงิน อยู่ในระดับต่ำ (Optimized Funding Cost)

สำหรับงบลงทุนดังกล่าวจะแบ่งใช้ในปีนี้ 30,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการเติบโตในการพัฒนาโครงการใหม่ๆ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม บริเวณแขวงเซกองและอัตตะปือ สปป.ลาว ผ่านบริษัทร่วมทุน อิมแพค เอนเนอร์ยี่ เอเซีย ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (Impact Energy Asia Development Limited) มีกำลังการผลิตรวม 230 เมกะวัตต์ ตามสัดส่วนการลงทุน 45% เพื่อผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่เวียดนาม ซึ่งขณะนี้โครงการยังอยู่ระหว่างการพัฒนา คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 66

รวมทั้งโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในไต้หวัน กำลังการผลิต 469 เมกะวัตต์ วางเป้าจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 66 ที่ 162 เมกะวัตต์ และยังตั้งเป้าพัฒนาสู่ 1,000 เมกะวัตต์ใน 5 ปี, โครงการนำร่องแลกเปลี่ยนซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) ผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน ในโครงการ T77 และโครงการ Smart University มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กำลังการผลิต 4.2 เมกะวัตต์, โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ที่เมืองนาบาส (Nabas) บนเกาะวิซายัส (Visayas) ประเทศฟิลิปปินส์ กำลังการผลิต 5.6 เมกะวัตต์

นอกจากนี้บริษัทยังคงมองหาโอกาสในการลงทุนในฟิลิปปินส์ และอินโดไชนา โดยเฉพาะเวียดนามอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแหล่งเงินลงทุนดังกล่าว จะมาจากเงินในมือที่มีอยู่ 65,000 ล้านบาท รวมกับเม็ดเงินที่จะได้รับจากการออกหุ้นกู้ และเงินกู้ รวมถึงการขายโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพในอินโดนีเซีย รวมประมาณ 30,000 ล้านบาท ทำให้เพียงพอสำหรับการลงทุนตามแผน

“เรามีโครงการและแผนการลงทุนที่ท้าทายมาก โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีนี้ (65-66) ซึ่งเราได้วางแผนการลงทุนที่ต้องใช้เงินเกือบ 70,000 ล้านบาท ทำให้ตัดสินใจขายโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ ประเทศอินโดนีเซีย แม้จะเป็นสินทรัพย์ที่ดี มีกระแสเงินสดมั่นคง แต่ต้องใช้เวลาในการพัฒนาโครงการใหม่เพื่อสร้างความเติบโต (Growth) ค่อนข้างนานกว่าโรงไฟฟ้าประเภทอื่น ซึ่งอาจจะตอบสนองกลยุทธ์การขยายการเติบโตเราได้ไม่ทันการณ์ การขายโครงการฯ จึงเป็นการเพิ่มความสามารถในการลงทุนของเราให้มากขึ้น ทำให้ขยายการลงทุนใหม่เพื่อหารายได้มาทดแทน Adder ที่กำลังจะหมดลงได้ด้วย ทำให้ต้นทุนทางการเงินโดยรวมอยู่ในระดับต่ำ และสามารถเติบโตได้ตามแผนโดยไม่ต้องเพิ่มทุนแต่อย่างใด” นายนิวัติ กล่าว

ทั้งนี้ ล่าสุด บริษัทขายหุ้นใน Star Energy Group Holdings Pte. Ltd. (SEGHPL) คิดเป็นสัดส่วน 33.33% ให้แก่ Springhead Holdings Pte Ltd. หรือบริษัทย่อยของ Springhead Holdings Pte Ltd. ในราคา 440.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเทียบเท่า 14,566.9 ล้านบาท จากมูลค่าทางบัญชี 12,295 ล้านบาท ณ สิ้นปี 64 โดยคาดว่าจะรับรู้กำไรเข้ามาภายในไตรมาส 1/65

นายนิวัติ กล่าวอีกว่า สำหรับปี 65 บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 65 โต 25% จากปีก่อนทำได้ 4,231 ล้านบาท จากการ COD โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่นเดือน มี.ค.จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โคมากาเนะ กำลังการผลิต 25 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าฯ ยาบุกิ กำลังการผลิต 20 เมกะวัตต์ ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าฯ ชิบะ 2 กำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์ อยู่ในขั้นตอนการขอใบอนุญาตฯ

อีกทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในไต้หวัน กำลังการผลิต 25 เมกะวัตต์ และโครงการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CMU Smart City) กำลังการผลิต 4.9 เมกะวัตต์ โดยในปีนี้จะมีการนำระบบกักเก็บพลังงาน (แบตเตอรี่) ไปใช้ในการบริหารจัดการพลังงานที่โครงการนี้อีกด้วย รวมทั้งคาดว่าจะมีโครงการที่สามารถบรรลุข้อตกลงซื้อกิจการเข้ามาเพิ่มเติมในปีนี้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จะส่งผลให้ปีนี้กำลังการผลิตจะเพิ่มอีก 100 เมกะวัตต์

ปัจจุบัน BCPG มีกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 1,108.4 เมกะวัตต์ โดยมีการ COD ไปแล้ว 345 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 764 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสามารถ COD ได้ครบทั้งหมดภายในปี 67

สำหรับความคืบหน้าของการพัฒนาในโครงการที่สำคัญของบริษัทฯ ยังเดินหน้าไปอย่างต่อเนื่อง โดยยังให้ความสำคัญกับการลงทุนในประเทศแถบเอเชีย และแถบอินโดจีน (Indochina) อาทิ เวียดนาม ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าภายในประเทศสูง ไต้หวันที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าพลังงานทดแทนสูง เพื่อลดการพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์และเชื้อเพลิงฟอสซิล ฯลฯ

นอกจากนี้ BCPG ยังตั้งเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ.2030 ด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตและการใช้ผลิตภัณฑ์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพิ่มแหล่งกักเก็บและดูดซับคาร์บอน โดยตั้งเป้าปลูกป่าในประเทศไทย 1000 ไร่ ใน 2 ปี และทยอยปลูกป่าในประเทศที่มีโครงการตั้งอยู่อีกกว่า 10,000 ไร่ ขณะเดียวกันยังเป็นหนึ่งในผู้จัดตั้ง Carbon Markets Club แพลตฟอร์มซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนที่มีอุดมการณ์เดียวกันในการแก้ปัญหาโลกร้อนสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตกันได้ตามความสมัครใจอีกด้วย

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ก.พ. 65)

Tags: , , ,
Back to Top