นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน) ระบุในบทความเรื่อง”กสทช.ชุดไหน ควรเป็นผู้ตัดสินใจกรณีการรวมธุรกิจ” ว่า
หลังจากที่กลุ่มเทเลนอร์และซีพีได้ให้ข่าวความพยายามในการควบรวม บมจ.ทรูคอร์ปอเรชั่น (TRUE) และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 ผ่านไผเพียงสองเดือน เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 TRUE และ DTAC ได้แจ้งความประสงค์ที่จะรวมธุรกิจต่อสำนักงาน กสทช.และส่งคำชี้แจงเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565
ในขณะที่วุฒิสภาได้เลือก กสทช. ชุดใหม่ได้จำนวน 5 คน เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2564 และทั้ง 5 คนเลือกผู้ที่จะเป็นประธาน กสทช. ชุดใหม่เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2565 ต่อมาประธานวุฒิสภาได้แจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบ ซึ่งกฎหมายได้กำหนดให้นายกรัฐมนตรีมีหน้าที่นำรายชื่อดังกล่าวขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง แต่ปัจจุบันไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าอยู่ในขั้นตอนใด ทำให้เกิดคำถามว่า กสทช. ชุดไหนจะเป็นผู้พิจารณาการรวมธุรกิจครั้งนี้ เนื่องจากหลายฝ่ายกังวลว่าการรวมธุรกิจครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อสภาพตลาดโทรคมนาคมไทยในระยะยาวในสถานการณ์ปกติ เมื่อเอกชนนำส่งรายงานการรวมธุรกิจแล้ว
สำนักงาน กสทช.จะต้องตั้งที่ปรึกษาอิสระเพื่อจัดทำความเห็นประกอบรายงานการรวมธุรกิจ โดยต้องทำรายงานให้แล้วเสร็จใน 30 วันนับจากวันแต่งตั้งจากนั้นสำนักงาน กสทช. ต้องรายงานต่อ กสทช. ภายใน 60 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับความเห็นของที่ปรึกษาอิสระ หาก กสทช.เห็นว่าการรวมธุรกิจส่งผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาดที่เกี่ยวข้อง กสทช. อาจกำหนดเงื่อนไขหรือนำมาตรการเฉพาะสำหรับผู้มีอำนาจเหนือตลาดมาบังคับใช้เพื่อป้องกันความเสียหายต่อสาธารณะ
คำถามสำคัญคือ กสทช.มีอำนาจพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตการรวมธุรกิจหรือไม่ ในประเด็นนี้สำนักงาน กสทช.ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการฯ สภาผู้แทนราษฎรว่า ตามประกาศ กสทช.ที่เกี่ยวข้องในปัจจุบัน กสทช.ไม่มีอำนาจอนุญาตหรือไม่อนุญาตการรวมธุรกิจ แต่มีอำนาจกำหนดเงื่อนไขหรือนำมาตรการเฉพาะมาบังคับใช้ และได้แสดงความเห็นอีกว่า สำนักงาน กสทช. เห็นว่ากฎหมายในปัจจุบันเพียงพอแล้ว และไม่มีความคิดในการเสนอแก้ไขประกาศเพื่อให้อำนาจ กสทช.ในการพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตตามที่เคยบัญญัติไว้ในกฎหมายเดิม
ดังนั้น ในกรณีที่ยังไม่มี กสทช. ชุดใหม่ เป็นไปได้ว่าการรวมธุรกิจนี้จะเดินหน้าต่อไปตามปกติ และในกรณีที่มี กสทช. ชุดใหม่ก่อนการรวมธุรกิจจะสำเร็จ หาก กสทช.ชุดใหม่เห็นว่าองค์กรกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมควรมีอำนาจพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาต ก็ต้องเร่งแก้ไขปรับปรุงประกาศซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้เวลา ซึ่งหากการแต่งตั้ง กสทช. ชุดใหม่ล่าช้าก็จะไม่สามารถแก้ไขปรับปรุงประกาศได้ทันการณ์ เท่ากับว่าการรวมธุรกิจก็จะเดินหน้าต่อไปตามเดิมอยู่ดี จึงเป็นไปได้ว่า ความล่าช้าในการแต่งตั้ง กสทช.ชุดใหม่จะส่งผลกระทบต่อการใช้อำนาจหน้าที่แม้จะเข้ารับตำแหน่งมาทันพิจารณาเรื่องนี้ก็ตาม
อย่างไรก็ดี การพูดถึงอำนาจการพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตไม่ได้หมายความว่า กสทช. จะมีเป้าหมายหรือธงในการไม่อนุญาต แต่การแก้ประกาศจะช่วยเพิ่มเครื่องมือในการพิจารณาปกป้องผลประโยชน์สาธารณะให้มีทางเลือกแบบกว้างไว้ก่อน มิเช่นนั้น แม้ในกรณีที่รายงานการศึกษาเกี่ยวกับการรวมธุรกิจเห็นว่าการรวมธุรกิจส่งผลกระทบเชิงลบอย่างรุนแรง โดยที่เงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะไม่สามารถป้องกันได้อย่างมีประสิทธิผล กสทช. ไม่ว่าชุดไหนก็อาจไม่สามารถยับยั้งความเสียหายนั้นได้เลย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ก.พ. 65)
Tags: DTAC, TRUE, กสทช., ควบรวมกิจการ, ซีพี, ทรูคอร์ปอเรชั่น, ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา, หุ้นไทย, เทเลนอร์, โทรคมนาคม, โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น